ไม่พบผลการค้นหา
เป็นที่รับรู้ทั่วไปแล้วว่า สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย แล้วการเกิดขึ้นของ 'ธุรกิจดูแลผู้สูงวัย' ก็เป็นทั้งโอกาสของผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ แต่คนในธุรกิจนี้บอกว่า ถ้าทำให้ราคาไม่แพง ก็ต้องใช้แรงเยอะมาก ผู้บริหาร 'เค.พี.เอ็น. ซีเนียร์ลิฟวิ่ง' คือตัวอย่างผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ ที่หวังจะมีมาตรการจากรัฐเข้ามาหนุนเสริม

รัฐบาลไทยตระหนักดีว่าประเทศกำลังเดินหน้าเข้าสังคมผู้สูงวัย หรืออาจกล่าวได้ว่าไทยได้เข้าสู่ภาวะนี้แล้ว ตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายในปี 2573 ผู้สูงอายุของไทยจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 26.57 ของประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวน 17.4 ล้านคน 

สำหรับผู้สูงอายุ โรคภัยต่างๆ ก็มักจะมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น 'เรือเอก นายแพทย์นิมิต ประสิทธิ์ดำรง' ประธานบริหาร บริษัท เค.พี.เอ็น. ซีเนียร์ลิฟวิ่ง กล่าวว่า แค่โรคเส้นเลือดในสมองแตกอย่างเดียวปีๆ นึงก็มีคนไข้ที่เผชิญกับภาวะนี้ถึง 250,000 คน โดยผู้ป่วยราว 200,000 คน จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างใกล้ชิดในช่วง 6 - 8 เดือน หลังการผ่าตัด เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ผู้สูงอายุ - สถานดูแลผู้สูงอายุ
  • รอ. นพ. นิมิต ประสิทธิ์ดำรง ประธานบริหาร บริษัท เค.พี.เอ็น. ซีเนียร์ลิฟวิ่ง

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาในการฟื้นตัวดังกล่าวไม่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากจำนวนเตียงไม่เพียงพอให้คนไข้อยู่รักษาพยาบาลนานขนาดนั้น อีกทั้งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในโรงพยาบาลเอกชนยังสูงถึง 270,000 บาท/เดือน

จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม 'ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ' ที่ไม่ได้คิดราคาแพงเกินไป จึงเป็นธุรกิจสำคัญในสังคมสูงวัยของไทย

ทุนสนับสนุนไม่มี-กำไรไม่ได้

ในธุรกิจที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงแต่ยังพยายามคิดค่าบริการไม่สูงนัก กลับต้องเผชิญกับการขาดการสนับสนุนด้าน 'เงินทุน' จากสถาบันการเงิน ประสบอุปสรรคธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้มาต่อยอดธุรกิจ

'รอ.นพ.นิมิต' กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ตั้งสถานดูแลผู้สูงอายุ ทีมบริหารไม่สามารถตอบคำถามกับธนาคารได้ว่าจะสามารถหาเงินมาคืนธนาคารได้อย่างไร เนื่องจากธุรกิจนี้ยังใหม่มาก จนไม่มีข้อมูลเพียงพอมาประเมินธุรกิจ แม้แต่กฎหมายในปัจจุบันก็ยังไม่มีการบังคับให้มีการจดทะเบียนธุรกิจอย่างเป็นทางการ สุดท้ายจึงไม่สามารถขอทุนสนับสนุนจากสถาบันการเงินได้

"ทำอะไรไม่ได้ ก็ระดมทุนผ่านตัวเองครับ" รอ.นพ.นิมิต กล่าว

สิ่งที่ 'รอ.นพ.นิมิต' ทำ คือการเรี่ยไรเงินทุนสนับสนุนจากคนในครอบครัว โดยธุรกิจที่เปิดมาแล้วกว่า 3 ปีนั้น ยังไม่ได้เริ่มทำกำไรให้บริษัทแต่อย่างใด เพราะบริษัทต้องแบกต้นทุนค่าเสื่อมและการลงทุนอย่างต่อเนื่องจากค่าก่อสร้าง อีกทั้งปัจจุบันจำนวนคนไข้ที่เข้ามารักษายังถือว่าน้อยกว่าบุคลากรที่มีอยู่ คือ 60 คนเท่านั้น

บริการที่คนจนเข้าไม่ถึง

ตัวเลขผู้ป่วยไทย 250,000 คน ที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะเส้นเลือดในสมองแตก อีกหลายคนที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจากโรคต่างๆ หรือผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ อีกจำนวนมาก ไม่ได้จำกัดอยู่กับครอบครัวผู้ป่วยที่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือค่าฟื้นฟูเท่านั้น แต่เหตุกาณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับอีกหลายครอบครัวของประชาชนคนไทยที่ไม่มีเงินเพียงพอเช่นเดียวกัน

'จินตนา ทองกระจาย' พนักงานวัยเกษียณที่พาแม่มาใช้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ เดอะ ซีนิเซนส์ เนอสซิ่งโฮม กล่าวว่าในมุมมองของตน ตนกับพี่น้องพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้กับแม่ แต่ก็ตระหนักว่า การจ่ายราคาเท่านี้สำหรับคนที่มีรายได้ไม่มากนักเป็นเรื่องที่หนักอยู่พอสมควร เพราะแม้จะมีการทำประกันชีวิตหรือสุขภาพแต่ประกันก็ไม่ได้ครอบคลุมส่วนนี้ อีกทั้งปัจจุบันภาครัฐก็ยังไม่มีนโยบายใดมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุตรงนี้


ผู้สูงอายุ - สถานดูแลผู้สูงอายุ
  • 'จินตนา ทองกระจาย' พนักงานวัยเกษียณ

ขณะที่ 'รอ.นพ.นิมิต' ชี้ว่า สถานดูแลผู้สูงอายุที่นี่อยู่ในตลาดระดับกลางถึงค่อนบน ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 35,000 บาท/เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง และ 58,000 บาท/เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง เนื่องจากสถานดูแลผู้สูงอายุแต่ละแห่งก็ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกส่วนได้ทั้งหมด 

ฝั่งรัฐบาล 'วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตนเห็นความสำคัญของการพัฒนาและกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ แต่ยังไม่ได้พูดถึงแนวทางในการออกกฎหมายอย่างเป็นทางการ หรือไม่ได้มีการตอบรับข้อเรียกร้องในการลดหย่อนภาษีหรือนำธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แต่อย่างใด

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า 'ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ' มีความสำคัญกับประชาชนอย่างมาก ทั้งกับตัวผู้สูงอายุเองที่อาจได้รับอันตรายจากการขาดการดูแลอย่างใกล้ชิด และลูกหลานที่ต้องแบกทั้งภาระการเงินรวมถึงความเครียดที่มาพร้อมกับความกังวล 

การเอื้อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลไม่ควรเป็นเรื่องหรูหราที่คนเพียงกลุ่มเดียวสามารถเข้าถึงได้ แต่ด้วยจำนวนกิจการที่ยังเปิดไม่เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งการขาดกฎหมายกำกับดูแล ก็อาจทำให้ประชาชนเสี่ยงที่จะเจอกับการหลอกลวงและเข้าไม่ถึงการให้บริการในราคาที่จับต้องได้

ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาดำเนินนโยบายแบบก้าวหน้าที่มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น การออกไปรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องของฝั่งเอกชนเป็นสิ่งที่จำเป็นแต่ก็ต้องกลับมาวิเคราะห์และพินิจให้ดีว่าควรจะออกมาตรการช่วยผู้ทำธุรกิจแค่ไหน ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงประชาชนที่ต้องมาใช้บริการว่าเขาจะเข้าถึงสิ่งนี้ได้อย่างไรโดยไม่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :