ไม่พบผลการค้นหา
ทำไมหนังไทยไม่ค่อยพูดถึงอนาคต ทำไมหนังการเมืองต้องดูยาก ทำไมต้องสนใจหนังการเมือง ร่วมหาคำตอบผ่านมุมมองสามผู้กำกับ Ten Years Thailand และหนึ่งนักวิจารณ์ภาพยนตร์

นอกจากความเป็นการเมืองของหนังแล้ว คีย์เวิร์ดที่น่าสนใจของภาพยนตร์ Ten Years Thailand ย่อมเป็นคำว่า ‘อนาคต’ ซึ่งคำๆ นี้เห็นชัดที่สุดใน Planetarium หรือชื่อไทยว่าท้องฟ้าจำลอง หนังสั้นเรื่องหนึ่งใน Ten Years Thailand ผลงานการกำกับของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ที่ฉายอนาคตแบบไทยโดยให้ภาพ ‘ไซไฟย้อนยุค’ ด้วยเทคโนโลยีทางความเชื่อที่เจือกลิ่นอายยุค 80 และแสงสีสไตล์งานวัดไฮเทค ดูแล้วชวนฉุกใจว่าหนังไทยส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่มีเรื่องใดพูดถึงอนาคตสักเท่าไรนัก


DSC01223.JPG
  • จุฬญาณนนท์ ศิริผล หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ Ten Years Thailand

“เราคิดว่ามันอาจจะย้อนกลับไปที่สภาพสังคมไทยด้วยที่สนใจเรื่องของอดีต ความรุ่งเรืองในอดีตมากกว่าที่จะตั้งคำถามว่าอนาคตเราจะเผชิญกับอะไร ปัจจุบันนี้เราเผชิญกับอะไร แล้วมันก็อาจะเป็นเหตุผลว่าสภาพสังคมมันเป็นแบบนี้ หนังไทยที่ออกมามันก็เลยไม่ได้พูดถึงอนาคตมาก มันก็เลยพูดถึงอดีต ความภูมิใจ แล้วก็ความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่ผ่านมา” จุฬญาณนนท์ เล่าและกล่าวอีกว่าหนังของเขาพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีที่เชื่อมกับความเชื่อซึ่งควบคุมทัศนคติคนให้เป็นแบบเดียวกัน เพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งจากส่วนกลาง

น่าสนใจอยู่เหมือนกันว่าเมื่อไทยมีหนังเกี่ยวกับอนาคตแล้ว อนาคตนั้นก็กลับเป็นอนาคตอันไม่พึงประสงค์ เป็นโลกดิสโทเปียที่หดหู่น่าอึดอัด แต่จุฬญาณนนท์มองว่าการที่โลกอนาคตในหนังสะท้อนแง่ลบของสังคมออกมาอาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้

“เหมือนเราไปตั้งคำถามกับผู้ชมว่าจริงๆ แล้วอนาคตที่เราคาดหวังว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่า ที่สดใสกว่า จริงๆ แล้วมันอาจจะมีปัญหาหรือสิ่งที่เราอาจจะต้องเผชิญในอนาคตหรือเปล่า ในการที่นำเสนอหนังโลกอนาคตมาเป็นแบบดิสโทเปีย เราว่ามันดีในการที่จะตั้งคำถามกับคนดูมากกว่า

“อนาคตมันเป็นเรื่องที่อดีต ปัจจุบัน อนาคต มันผูกพันกันอยู่จริงไหม แล้วการที่สังคมจะก้าวไปข้างหน้าได้ เราต้องย้อนกลับไปดูอดีตด้วยว่าเรากำลังเผชิญกับอะไร ปัจจุบันเราเผชิญกับอะไร แล้วปัญหาของปัจจุบันมันจะนำไปสู่อนาคตอย่างไรได้บ้าง”


คำถามที่ไม่อาจพูดได้โดยตรง

การผสมโลกอนาคตกับความเชื่อในอดีตเข้าด้วยกันใน Planetarium สะท้อนมุมมองของผู้กำกับว่าอนาคตมันอาจจะย้อนกลับไปซ้ำรอยอดีตได้ ว่าไปแล้วก็คล้ายกับยุคก่อนเหตุการณ์ ตุลาฯ ที่วรรณกรรมเฟื่องฟูไปด้วยความคิดทางการเมืองเนื่องจากต้องหลบซ่อนประเด็นไว้ในสัญญะไม่ให้รัฐรู้ แต่เมื่อกลับมาสู่ปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นกลับเป็นภาพยนตร์นั่นล่ะที่ต้องเก็บซ่อนประเด็นอ่อนไหวผ่านการเปรียบเปรยจนผ่านเซนเซอร์ได้ออกฉาย

ในเรื่อง Catopia หรือ เมืองแมว โลกเหนือจริงที่มนุษย์แมวครองเมืองไล่ล่ามนุษย์ที่มี ‘กลิ่น’ แตกต่างไปจากพวกตัวเอง ภาพยนตร์โดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง อีกหนึ่งผู้กำกับในโปรเจกต์ Ten Years Thailand ก็เลือกจะวาดภาพอนาคตออกมาเพื่อชวนตั้งคำถามผ่านโลกเหนือจริงที่สามารถนำไปตีความต่อได้เช่นกัน

“ส่วนตัวหนังของผมจะเป็นหนังแบบไม่สมจริง แฟนตาซี ส่วนตัวผมรู้สึกว่าหนังมันมีเวทมนตร์ มีสิ่งหนึ่งที่ความเป็นจริงให้เราไม่ได้ก็คือเวทมนตร์ บางทีมันก็พาเราหนีจากโลกปกติ แต่บางทีมันก็ทำให้เราได้รับรู้ความจริงมากกว่าความจริงปกติ”


DSC01476.JPG
  • วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ Ten Years Thailand

ทางด้าน จุฬญาณนนท์ กล่าวว่าในแง่หนึ่งการใช้เหตุการณ์เหนือจริงมานำเสนอเปรียบเทียบให้คนดูอนุมานได้ถึงประเด็นบางอย่างอาจจะเป็นวิธีนำเสนอที่ถนัดกว่าการเล่าด้วยเหตุการณ์จริง

“อีกมุมก็เหมือนเป็นโลกที่สมมติซึ่งเราคิดว่ามันสามารถเปรียบเทียบเปรียบเปรยไปถึงสถานการณ์การเมือง สังคมของไทยได้ด้วยอย่างไม่ตรงไปตรงมา แล้วมันก็เปิดกว้างที่จะให้ผู้ชมได้ตีความแล้วก็เข้าใจตามประสบการณ์ของผู้ชม”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องการเซนเซอร์ เขามองว่าในฐานะคนทำงานศิลปะก็ควรจะขยายขอบเขตความเป็นไปได้ที่ถูกจำกัดอยู่ให้ไปได้ไกลมากที่สุด “งานที่ทำ ผมคิดว่ามันก็ตั้งคำถามอยู่แหละว่าขอบเขตนี้มันอยู่ตรงนั้น เราจะไปไกลได้มากกว่านี้ไหม”


ความเหนือจริงที่คนดูอาจไม่เข้าใจ

แม้วิธีนำเสนอจะเป็นเครื่องมือหนึ่งของคนทำหนังในการนำเสนอประเด็นอย่างไม่ตรงไปตรงมา แต่ในฐานะผู้ชมย่อมมีคนที่ดูแล้วเกิดความไม่เข้าใจซึ่งนำไปสู่ความคลางแคลงใจว่าทำไมต้องเล่าให้ยาก

ศาสวัต บุญศรี นักวิชาการด้านภาพยนตร์ ออกความเห็นว่าหนังสองเรื่องหลังของ Ten Years Thailand คือ Planetarium ของ จุฬญาณนนท์ และ Song of the City โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล อาจจะนำเสนออกมาในรูปแบบที่คนดูทั่วไปอาจไม่คุ้นชินกับวิธีการเล่านัก อย่าง Planetarium จะเป็นหนังทดลองที่ใช้สื่อผสม ขณะที่ Song of the City มีลักษณะของหนังอาร์ตนิ่งช้า (slow cinema) ที่ต้องการให้คนสังเกต มีลักษณะผสมกันระหว่างเรื่องจริงและเรื่องเล่า ถึงอย่างนั้น ศาสวัตก็มองว่าคนดูมีอิสระที่จะตีความภาพยนตร์ และหนังสั้นทั้ง 4 เรื่องใน Ten Years Thailand ก็ไม่ได้ยากเกินที่คนดูจะเข้าใจ และไม่ได้จำเป็นว่าคนดูจะต้องมีความคิดเห็นตรงตามที่ผู้กำกับคิด


DSC01509.JPG
  • ศาสวัต บุญศรี นักวิชาการด้านภาพยนตร์

“ผมว่าในฟังก์ชันของหนังถ้ามันจะทำหน้าที่ในการเป็นสื่อทางปัญญาได้ มันต้องทำให้คนดูได้คิดต่อ คำตอบที่ผู้กำกับให้มันก็คือทัศนคติของเขา แน่นอนเราก็ได้รับทราบ แต่สิ่งที่มันจะทำให้หนังมันได้ถูกพูดถึง มันก่อให้เกิดอิมแพ็กต์ มันคือหนังที่ชวนให้คนดูได้คิด ได้ตั้งคำถามได้ถกเถียงกันมากกว่า

“ท้ายที่สุดผมว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ต้องกลัวว่าเราจะดูรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง ผมว่าไม่รู้เรื่องก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผมว่าสิ่งสำคัญคือมันได้มาพูดคุย ได้มาดีเบต ได้มาถกเถียงกันว่า เอ๊ะ หนังมันพูดถึงอะไรกันแน่ ผมว่าอันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่มันควรจะเป็นที่สุด ผมว่ามันเป็นสิ่งที่สวยงามแล้วก็น่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่าที่หนังจะให้ข้อสรุป หรือมีใครมาเฉลยคำตอบในทันทีทันใด”


มุมมองการเมืองจากผู้กำกับที่ไม่อินการเมือง

หน้าหนังของ Ten Years Thailand ที่เห็นเด่นชัดคือความเป็นหนังการเมืองที่พูดถึงปัญหาและอนาคตของประเทศไทย แต่ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้กำกับ Sunset ภาพยนตร์เรื่องแรกในโปรเจกต์นี้กลับออกปากว่าเขาไม่อินการเมือง แม้หนังของเขาจะมีเรื่องของทหารและการเซนเซอร์ก็ตาม

“ปกตินี่ผมก็สนใจแต่ชีวิตส่วนตัวแหละ ผมมีลูกสามคน วันๆ ถามว่าทำอะไร ผมไม่เคยไปประท้วง ไปทำอะไร ผมก็อยู่บ้านเลี้ยงลูก ขับรถพาเขาไปโรงเรียน พูดตรงๆ นะ รัฐบาลชุดไหนๆ ถามว่าชีวิตส่วนตัวผมเนี่ย มันกระทบมากขนาดนั้นเลยเหรอ ก็ไม่นะ


DSC01297.JPG
  • อาทิตย์ อัสสรัตน์ หนึ่งในผู้กำกับ Ten Years Thailand

“จริงๆ แล้วชีวิตทุกวันผมก็เหมือนกัน มันไม่ต่างกันเท่าไร แต่ว่าในเวลาเดียวกัน ผมทำหนังเรื่องนี้ทำไม ผมเปรียบเทียบอย่างนี้ดีกว่า บางทีเรารออยู่ที่ไฟแดง เขาปล่อยไฟแดงแล้วรถก็มาเนี่ย บางคนฝ่าไฟแดงไป เราโมโห เราโมโหทำไม มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรา เราไม่รู้จักเขา สิ่งที่เขาทำจริงๆ มันไม่ได้กระทบเรา แต่เราโมโหในความที่มันไม่ถูก ผมว่ามันก็ประมาณนั้นแหละ ถึงแม้มันไม่ได้กระทบเราชีวิตผมมากเท่าไร แต่ว่ามันคือหลักการ

“ผมรู้สึกว่าผมรู้สึกว่าเราต้องเชื่อมั่นในระบบ เพราะระบบคือกฎหมาย แล้วเราจะเป็นสังคมที่ดีได้ เราต้องเคารพระบบ เราต้องเคารพฎหมาย แล้วสิ่งที่ผมเห็นที่ผ่านมาใน 12 ปี มันเป็นการฝ่าไฟแดงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ถูก”

ความตรงไปตรงมาของอาทิตย์มีความน่าสนใจที่สะท้อนภาพของคนที่ไม่อินกับการเมืองไทยเพราะไม่รู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทางตรงกับชีวิต ถึงอย่างนั้นเขากลับแสดงความไม่พอใจต่อความรุนแรงเชิงระบบมากกว่าที่จะมุ่งเป้าความโกรธไปที่ตัวบุคคล

“สิ่งที่ผมอยากเล่ามันเป็นเรื่องของระบบเซนเซอร์ชิปว่ามันเป็นระบบที่มันทำลายทุกคน ทำลายทั้งศิลปิน ในขณะเดียวกันก็ทำลายทหารเหมือนกัน มันเป็นเหตุผลที่ตอนผมเขียนบทขึ้นมาผมเห็นใจทหารด้วยซ้ำ

“ผมเป็นคนทำหนัง ผมทำหนังเล็กๆ มักจะเป็นหนังส่วนตัว ก็คือรัฐบาลชุดไหนมาผมก็อยู่บ้านทำหนังของผม มันไม่ได้กระทบกับผมมากเท่าไร แต่ว่าในเวลาเดียวกันเนี่ย ผมอยู่ในประเทศนี้ ผมก็อยากให้ประเทศมันดีขึ้น ผมเห็น 12 ปีที่ผ่านมาเหมือนอยู่ใน เวียนอยู่ในรถไต่ถัง มันหาทางออกไม่ได้ แล้วผมรู้สึกว่ามันต้องหาทางออกให้ได้ อนาคตมันต้องดีกว่านี้ หนังมันคือสื่อแบบหนึ่ง เราก็แค่พูดในเสียงเล็กๆ ของเราว่าอนาคตมันควรจะเป็นยังไง มันควรจะดีกว่านี้”