ไม่พบผลการค้นหา
'เกออร์ก ชมิดท์' ทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ระบุ ในประวัติศาสตร์เยอรมนี 'รัฐ' แข็งแกร่งกว่า 'ปัจเจกบุคคล' แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลับกัน แนวคิดหลักในรัฐธรรมนูญเยอรมนีระบุชัด 'รัฐต้องรับใช้ประชาชน'

ปี 2019 เป็นวาระครบรอบ 70 ปีรัฐธรรมนูญเยอรมนี และครบรอบ 30 ปีการทลายกำแพงเบอร์ลินที่เคยแบ่งแยกระหว่าง 'เยอรมนีตะวันออก' และ 'เยอรมนีตะวันตก' ช่วงปี 1949 ถึงปี 1990 สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยจึงได้จัดงานรำลึกเหตุการณ์สำคัญทั้งสองเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ 'เกออร์ก ชมิดท์' เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์ออนไลน์' เพื่อบอกเล่าความเป็นมาของ 'รัฐธรรมนูญเยอรมนี' ที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ 70 ปีก่อน และยังใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นแนวทางสำคัญในการ 'สร้างชาติ' ขึ้นมาใหม่ หลังจากนาซีเยอรมนีล่มสลาย


รัฐธรรมนูญสร้างชาติเยอรมนีได้อย่างไร?

"หลังจากที่กองทัพเยอรมนีโจมตีประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ในยุโรป ผลการทำลายล้างของสงครามหันกลับมาหาเยอรมนี ประชาชนทุกข์ทรมาน ผู้คนไม่มีเงิน ไม่มีงาน คุณจะเริ่มที่ตรงไหน? คุณจะสร้างชาติขึ้นมาใหม่ คุณจะนำเยอรมนีกลับมาเป็นระเทศอารยะได้อย่างไร 

มีผู้ชาย 61 คน และผู้หญิงอีก 4 คนที่มานั่งรวมกัน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ตอนนั้นไม่ได้เรียกว่ารัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ มันถูกเรียกว่ากฎหมายพื้นฐาน โดยตั้งใจจะให้เป็นกฏบัตรเฉพาะกาล สำหรับประเทศเฉพาะกาล เพราะชาวเยอรมันไม่ชอบการแบ่งประเทศเยอรมนี พวกเขาสามารถร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจให้ใช้ได้นาน แต่ก็ใช้มาจนทุกวันนี้ และไม่เพียงแต่อยู่มานาน แต่ยังกลายเป็นความภูมิใจของชาวเยอรมัน ถึงขั้นที่มีคำในภาษาเยอรมันว่า Verfassungspatriotismus แปลว่า 'ความรักชาติโดยยึดหลักรัฐธรรมนูญ' 

เดิมมีการคุยกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเพียงฉบับชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเราสามารถรวมเยอรมนีเป็นหนึ่งได้ เราค่อยมาตัดสินใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริงกัน แต่เมื่อเราเจอเหตุการณ์นั้นจริงๆ ต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร เราจะเขียนรัฐธรรมนูญกันใหม่ หรือเราจะยึดการใช้งานกฎหมายพื้นฐานนี้ต่อ คนส่วนใหญ่เห็นว่า กฎหมายพื้นฐานทำงานให้เรามาอย่างดีเยี่ยม จะเปลี่ยนทำไม ตอนนี้ 70 ปีแล้ว และก็จะยังคงอยู่ต่อไปอย่างแข็งแกร่ง

แต่การครบรอบนั้นเป็นที่พูดถึงกันน้อย การครบรอบการทำลายกำแพงเบอร์ลินถูกพูดถึงไปทั่วโลก มันคือเหตุการณ์แห่งความสุขที่สุด และเป็นสิ่งที่วิเศษ ผู้คนเลิกหวาดกลัว และมันเป็นสิ่งวิเศษที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่มีการใช้กระสุนแม้แต่นัดเดียว แล้วมันก็อาจเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ได้ด้วย นั่นจึงเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ความอุตสาหะที่มาพร้อมกับการประนีประนอม และจิตวิญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ คือสิ่งที่เป็นไปได้ สิ่งนั้นถูกถ่ายทอดไปทั่วโลก แต่รัฐธรรมนูญของเยอรมนีไม่มีใครสนใจมากนัก เราจึงอยากยก 2 เหตุการณ์สำคัญนี้ขึ้นมาให้คนเห็น"


รัฐธรรมนูญฉบับเดียวถูกใช้มาอย่างยาวนาน 70 ปี - อะไรทำให้รัฐธรรมนูญเยอรมนีแข็งแกร่ง 

"ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ คณะร่างรัฐธรรมนูญกำหนดแก่นสำคัญของรัฐธรรมนูญไว้เกี่ยวกับ 'ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์' และพวกเขาได้กล่าวว่า "ประเทศต้องปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้" มันเป็นการปฏิวัติแนวคิดเลย ในปี 1949 เพราะแต่ก่อน ในประวัติศาสตร์เยอรมนี 'รัฐ' แข็งแกร่งกว่า 'ปัจเจกบุคคล' เสมอ แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลับกัน 'รัฐต้องรับใช้ประชาชน' แนวคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงเป็นแนวคิดที่แข็งแกร่งมาก

ประเด็นที่ 2 ที่ผมอยากพูดถึงคือ มีแนวคิดเรื่อง 'ความเป็นธรรมทางสังคม' อย่างชัดเจน เช่นกัน ในรัฐธรรมนูญของเรา มีบทบัญญัติระบุไว้หลายข้อว่า "รัฐต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ถือเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในชีวิตแต่ละวัน แต่ก็ชี้ให้เห็นปัญหาอย่างชัดเจนเช่นกันว่า ประชาธิปไตยนั้นจะใช้ไม่ได้เลย ถ้าหากความเหลื่อมล้ำในสังคมยังสูงมาก

ประชาธิปไตยด้วยตัวของมันเองจะไม่สมบูรณ์ ถ้าหากประชาชนไม่รู้สึกว่ามีการใช้หลักนิติธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียม

และประเด็นที่ 3 ก็คือ เรามีการแบ่งสรรอำนาจที่ชัดเจน ระหว่างรัฐบาลกลาง ระดับภูมิภาค และสภาท้องถิ่น ดังนั้น ประชาชนรู้สึกว่า พวกเขามีอิทธิพลต่อการเมืองได้ รัฐบาลกลางไม่ใช่ภาคส่วนที่ตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง เพราะเยอรมนีเป็นประเทศที่มีความหลากหลายอย่างมาก เราจึงมอบความรับผิดชอบให้แต่ละรัฐในประเทศเป็นผู้ดูแล เช่น ตำรวจ ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลกลาง แต่เป็นความรับผิดชอบของแต่ละรัฐในเรื่องนี้"


มีความพยายามผลักดันการแก้ไข 'รัฐธรรมนูญไทย' ฉบับปัจจุบัน มีคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

"คุณต้องมีการถกเถียงกันหนักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผมคิดว่า ถ้าเข้าสู่กระบวนการแก้ไข สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความโปร่งใส คนได้ร่วมกันโต้แย้งกันบนโต๊ะเจรจา ใช้เวลากับมัน อธิบายมันออกมา เพราะท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ต้องอธิบายออกมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ทำไมต้องแก้ไข อะไรอยู่เบื้องหลัง อะไรสนับสนุนการแก้ไข อะไรต่อต้านการแก้ไข มันต้องอาศัยความโปร่งใสอย่างมาก และความอดทนทางการเมืองอย่างมาก ในการอธิบายเรื่องพวกนี้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: