ไม่พบผลการค้นหา
สธ. แนะหญิงไทยสังเกตความผิดปกติของเต้านมด้วยตัวเอง ป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านม หลังพบว่าโรคดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ของสตรีทั่วโลก โดยในปี 2561 สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก รายงานว่าพบผู้ป่วยโรค มะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลก 2,088,849 ล้านคน เสียชีวิตถึง 626,679 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบหญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ถึงวันละ 41 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน และเสียชีวิตถึง 10 คนต่อวัน โดยกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่จะพบในหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป 

ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลกจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันโรค จึงได้กำหนดให้เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมทั่วโลก ใช้สัญลักษณ์การรณรงค์เป็นรูปโบว์ชมพู (Pink Ribbon) เพื่อให้ทุกประเทศตระหนักและร่วมรณรงค์ จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านม สอนการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง สร้างความตื่นตัวให้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพเต้านมตนเอง และเข้ารับการคัดกรองมะเร็งเต้านมอยู่เสมอและต่อเนื่อง ซึ่งหากตรวจพบโรคดังกล่าวทำให้สามารถเข้ารับการักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการรักษา ให้หายขาดได้ 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการรักษามะเร็งเต้านม ประกอบด้วย การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา การใช้ยาต้านฮอร์โมนและการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ ซึ่งการรักษาจะไม่ใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่มักจะใช้หลายๆวิธี ร่วมกันเพื่อให้ได้ผล การรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้มีสูงขึ้น หากตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะที่ 1–2 อัตราการอยู่รอดที่ 5 ปี สูงถึงร้อยละ 85 -99 หากตรวจพบในระยะที่ 3 อัตราการอยู่รอดเพียงร้อยละ 40-60 และหากตรวจพบในระยะที่ 4 อัตรารอดเหลือร้อยละ 18-20 

สำหรับสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งคือ หลีกเลี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ รับประทานอาหารที่หลากหลายให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผัก ผลไม้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์เต้านมทุกปี

และมาพบแพทย์หากพบความผิดปกติของเต้านม เช่น มีก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ รูปร่างหรือขนาดเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไป มีน้ำเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนม รูปร่างหรือขนาดของหัวนมที่เปลี่ยนแปลงไป สีหรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมที่เปลี่ยนไป เช่น รอยบุ๋ม รอยย่น อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านมหรือรักแร้ โดยเฉพาะเจ็บข้างเดียว ผิวหนังของเต้านมที่เปลี่ยนไปให้รีบไปพบแพทย์ใกล้บ้านเพื่อวินิจฉัยโรคได้อย่างตรงจุด 

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ มีหน่วยงานในสังกัดที่มีความพร้อมและเชี่ยวชาญในดูแลและรักษาโรคมะเร็งแบบครบวงจร ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รพ.มหาวชิราลงกรณ์ ธัญบุรี โรงพยาบาลมะเร็งต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งหากประชาชนพบความผิดปกติของร่างกายสามารถเข้ารับการรักษา ปรึกษาอาการของโรค รวมถึงขอข้อมูลความรู้ในการดูแลตนเองอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง

Photo by Annie Spratt on Unsplash