ไม่พบผลการค้นหา
#BlackLivesMatter และ #Saveวันเฉลิม นำมาสู่การแสดงความคิดเห็นและความเพิกเฉยของคนบันเทิง จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความพอดี 'ฟิล์ม-รัฐภูมิ' มองยิ่งเปิดเผยตัวตนชัด คนที่รักในความเป็นตัวเราก็จะมากขึ้น "ไม่มีอะไรเสียหาย" ใบเฟิร์น-อัญชสา ยันการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพของทุกคน

ในช่วงที่การเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศกำลังร้อนแรง ศิลปินหลายคนร่วมรณรงค์ #BlackLivesMatter ผ่านทางอินสตาแกรมและทวิตเตอร์ เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติกับคนที่สีผิวต่างกัน ขณะเดียวกันในประเทศไทยก็มีศิลปินอีกหลายคนที่ตื่นตัวกับกระแสข่าว ‘นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักกิจกรรมที่โดนอุ้มหายตัวไปในประเทศกัมพูชาจนเกิดเป็น #Saveวันเฉลิม ที่ถูกพูดถึงมากในทวิตเตอร์ 

โดยทวิตเตอร์และเพจแฟนคลับของวง BTS ศิลปินบอยแบนด์เกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้ติดตาม 364,000 คน และ 400,000 คนตามลำดับ มีการสำรวจความคิดเห็นลูกเพจเพื่อที่จะใช้พื้นที่ทั้งในเฟซบุ๊กแฟนเพจและทวิตเตอร์ ‘BTS Thailand’ โพสต์เกี่ยวกับประเด็นสังคมบ้างเป็นครั้งคราว เช่น ประเด็น Black Lives Matter, การคัดค้าน CPTPP, และการอุ้มหายของนายวันเฉลิม ซึ่งผลสำรวจปรากฏว่า ผู้ติดตามในเฟซบุ๊ก 93 เปอร์เซ็นต์ จากผู้ร่วมโหวตกว่าหนึ่งหมื่นคน "เห็นด้วย"

ขณะที่ผู้ติดตามในทวิตเตอร์ 96 เปอร์เซ็นต์ จากผู้ร่วมโหวตกว่าสองหมื่นคน ก็ต่างระบุว่า "เห็นด้วย"

“สวัสดีค่ะ มีเรื่องจะมาสอบถามอาร์มี่ทุกคนที่ติดตามเพจนี้อยู่ค่ะ ก่อนหน้านี้เราได้โพสต์เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมอย่างเรื่อง Black Lives Matter และโพสท์เรื่องการคัดค้าน CPTPP (โพสต์ในทวิตเตอร์ไม่ได้โพสต์ในเพจ) และล่าสุดเรื่องการอุ้มหายของคุณวันเฉลิม (โพสต์ในทวิตเตอร์ไม่ได้โพสต์ในเพจ)

เราจึงอยากสอบถามอาร์มี่ทุกคนที่ติดตามเพจนี้อยู่ว่า หากเราจะใช้พื้นที่ตรงนี้ "บ้างเป็นบางครั้ง" เรื่องการเป็นกระบอกเสียงในประเด็นทางสังคมต่างๆ แต่เพราะเราทำบ้านเบสศิลปินมันคือการอัปเดตข่าวสาร และมันเป็นพื้นที่ผ่อนคลายสำหรับใครหลายๆ คน ซึ่งอาจจะอยากรับสารเฉพาะเรื่องของบังทัน แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ก็อยากจะใช้พลังตรงนี้ เพื่อช่วยเหลือสังคม ตามเจตนารมณ์ของบังทันที่มักทำงานเพื่อสังคมเสมอๆ

เลยอยากจะสอบถามความคิดเห็นผู้ติดตามทุกคนเลยค่ะ ว่าเห็นด้วยมั้ย ที่บางครั้งเราจะนำเสนอประเด็นทางสังคมบ้าง เราอยากจะทำ แต่เราก็กังวลใจ ว่ามันเป็นการใช้พื้นที่ผิดประเภทหรือเปล่า ยังไงรบกวนโหวตกันหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ”


นอกจากนี้ทวิตเตอร์บ้านแฟนคลับย่อยของวง BTS อย่าง @JHOPE_TH @SUGA_th @JustmeJIMIN และ @seokjin_th ก็กระจายข่าวและโพสต์ข้อความในประเด็นสังคมเช่นเดียวกับทวิตเตอร์ของบ้านหลัก โดยย้ำว่าเป็นการโพสต์ข้อความและแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ

ขณะเดียวกันฝั่งตัวศิลปินเองก็เกิดประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางจาก แฮชแท็ก #บ่นเพื่อน ที่ 'แก้ม' วิชญาณี เปียกลิ่น นักร้องดัง ทวีตข้อความผ่าน @gamthestar ในเชิงบ่นลอยๆ ถึงเพื่อนที่สร้างความรำคาญให้กับตนเองด้วยการทำกิจกรรมไม่สร้างสรรค์บางอย่างจนล้ำเส้น แต่ทำให้หลายคนนำไปเชื่อมโยงกับ #Saveวันเฉลิม วิจารณ์เรื่องการเพิกเฉยต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการขุดทวีตเก่าๆ ที่เธอเคยโพสต์มาวิจารณ์

ประกอบกับที่นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มาคอมเมนต์วิจารณ์ทวีตดังกล่าวของ 'แก้ม' วิชญาณี ก็ยิ่งทำให้แฮชแท็กนี้ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในช่วงกลางคืนของวันที่ 5 มิถุนายน นำไปสู่การถกเถียงกันเรื่องการแสดงความเห็นทางสังคมและการเมืองของศิลปินดารา 

“บางคนพอกักตัวนานหน่อยอยากมีซีน หาทำแต่อะไรไม่สร้างสรรค์ กิจกรรมเยอะแยะเลยนะเอาดีๆ ที่แบบบันเทิงตนเองต่างๆ ไม่เดือดร้อนคนอื่นอะค่ะเพื่อน ความเกรงใจอะนะคะเพื่อน มันสำคัญนะคะ ล้ำเส้นไปน่าลำไยจะตายไปค่ะเพื่อน #บ่นเพื่อน อย่าให้บ่นบ่อยๆ นะคะ ไม่ได้อยากเป็นคนขี้บ่นค่ะ 5555”

ใบเฟิน.jpg

'ใบเฟิร์น - อัญชสา มงคลสมัย' นักแสดงสาว ท่ี่แสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ @b1f3rn อยู่บ่อยครั้ง บอกว่า การแสดงความคิดเห็นทางสังคมและการเมืองของศิลปินเป็นเรื่องที่ 'ควรเป็นเรื่องปกติ' เพราะไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ควรมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางสังคม หรือเรื่องใดก็ตาม เพราะทุกคนมีความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งอาจจะเหมือนหรือต่างกันก็ได้ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่ทุกคน ทุกอาชีพควรมีเหมือนกัน

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นเรื่องของเสรีภาพ แต่ควรอยู่ในกรอบของศีลธรรมและกฎหมาย ถ้าสิ่งที่เราพูดไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมและกฎหมาย เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ก็ควรจะเป็นสิ่งที่ทำได้

เมื่อถามว่าแล้วการแสดงความเห็นดังกล่าวกระทบต่อความนิยมของแฟนคลับหรือการงานหรือไม่

เธอตอบว่า ตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบ แต่หากมีคนไม่ถูกใจกับการแสดงความคิดเห็นของเธอบ้างจนถึงขั้นเลิกติดตามก็ต้องทำใจ เพราะคิดว่าจะยังรักษาสิทธิตัวเองโดยการแสดงความคิดเห็นต่อไป และถ้าใครจะเลิกชอบเรา เราก็ต้องเคารพตรงนั้น

เมื่อถามต่อถึงกรณีที่ศิลปินหลายคนเลือกที่จะรณรงค์สิทธิมนุษยชนในต่างชาติแต่กลับเพิกเฉยประเด็นนี้ในประเทศไทย

ใบเฟิร์น กล่าวว่า ไม่อยากพูดถึงคนอื่นเพราะเคารพในสิทธิของเขาที่จะพูดหรือไม่พูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเลือกที่จะไม่พูดเพราะกลัวกระทบกับงาน ก็อยากให้ทัศนคตินี้เปลี่ยนไป เพราะอยากให้คนแยกเรื่องของงานกับเรื่องส่วนตัวออก แล้วทำให้การวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องปกติได้ในประเทศเรา

ฟิล์ม รัฐภูมิ

ด้าน ‘ฟิล์ม - รัฐภูมิ โคตงทรัพย์’ นักร้องและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองว่า ก่อนที่จะมาทำงานการเมืองหรือแสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนก็มีแต่คนห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวเพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว เตือนให้ร้องเพลงและทำงานบันเทิงของตัวเองต่อไปดีแล้ว แต่เมื่อวันที่ตนก้าวมาสู่การเมือง ตนกลับเห็นว่ามีข้อดีและตัวเองก็ไม่ได้เสียอะไรไป

หลายคนไม่เคยรู้จักตัวตนเราจริงๆ พอได้รู้จักได้เห็นอุดมการณ์ทางการเมืองว่าเป็นคนรักประชาธิปไตย รักพระมหากษัตริย์ ไม่ชอบความไม่เที่ยงตรง ความไม่เป็นกลาง สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้มีคนที่รักเรามากขึ้น มีคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาสนับสนุนเรามากขึ้น แม้ว่าจะคนส่วนหนึ่งจะเลิกติดตาม ด่า หรือวิจารณ์เรา แต่พอรวมแล้วก็จะเห็นว่าคนรักเราเพิ่มขึ้น และคนที่ไม่รักเราแล้ว มีจำนวนเท่าเดิม

ฟิล์ม รัฐภูมิ เห็นว่า การแสดงความเห็นในเรื่องสังคมหรือการเมืองเกิดจากตัวตนของคนๆ นั้น จริงๆ เช่น รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น ที่ร่วมรณรงค์ต่อต้านการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกา ก็เป็นเรื่องที่เขาอินหรือให้ความสนใจจริงๆ ในทางตรงกันข้ามตนก็เห็นใจ ศิลปินหลายคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมไม่โพสต์เรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือแสดงความเห็นประเด็นโน้นนี้ ตนเห็นว่าศิลปินแต่ละคนก็มีช่องทางที่จะสื่อสารความเห็นตัวตนของเขาไปยังแฟนคลับ เปรียบเสมือนร้านค้าที่ขายของอย่างหนึ่ง จะมาบังคับกันให้ขายของอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ และร้านที่พวกเขาสร้างขึ้นมา กว่าจะเป็นทุกวันนี้ก็ยากลำบาก คนที่ติดตามเขาก็แสดงว่าอยากเห็นในสิ่งที่เขาเป็น เขาต้องดูแลภาพลักษณ์ เขาสนใจเรื่องการแต่งหน้า หรือประเด็นรักษ์โลก ก็เป็นสิทธิของเขา เราจะไปบงการชีวิตใครไม่ได้

ส่วนกรณีที่หาก "กลุ่มแฟนคลับ" จะใช้ช่องทางแฟนเพจสื่อสารประเด็นสังคมและการเมือง

อดีตดาราหนุ่ม บอกว่า เป็นสิทธิของแอดมินเพจนั้นๆ เพราะห้องที่สร้างขึ้นมารวบรวมคนที่มีความชอบเหมือนกัน หรืออุดมการณ์เหมือนกัน คุยในเรื่องเดียวกันได้ และถือเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำถ้าจะมีการพูดถึงสาระอื่นๆ แต่ต้องระวังว่าสิ่งที่พูดกันหรือโพสต์ต้องมีความถูกต้อง เป็นกลาง ไม่ปลุกระดม และสุภาพ ไม่เช่นนั้นอาจจะผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์ หรือถูกตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้หากดูจากหลายตัวอย่างที่เป็นกระแสในทวิตเตอร์ก็เกิดจากการใช้อารมณ์และคำพูดที่รุนแรงจนคนที่ไม่พอใจมาถล่ม แต่ถ้าโพสต์ด้วยความสุภาพและถูกต้อง ถึงคนที่อ่านจะไม่พอใจแต่ก็จะไม่เปิดช่องให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันจนเป็นเรื่องใหญ่โต