ไม่พบผลการค้นหา
แกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้าน เตรียมแจ้งความกลับ พล.ต.บุรินทร์ โดยยืนยันเวทีเสวนาไร้เจตนาพิเศษ ไม่เข้าข่ายความผิดตาม ม.116 พร้อมเดินหน้ารณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่เเตะหมวด1 กับหมวด 2 ด้าน 'ปิยบุตร' จ่อใช้อำนาจเรียก 'บุรินทร์' เข้าแจง กมธ.กฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร

ที่พรรคเพื่อไทย ตัวแทน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงหลังการประชุมร่วมกรณีที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความเอาผิดแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านและนักวิชาการรวม 12 คน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการร่วมเสวนา "พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" โดยมีมติ 5 ข้อ คือ

1.)​ ยืนยันเจตนารมณ์อันดีของกิจกรรมฝ่ายค้่านเพื่อประชาชนในการรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2.) ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 สามารถแก้ได้และยังอยู่ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลข้อ 12 โดยย้ำว่า หมวด 1 หมวด 2 จะไม่แตะต้อง

3.)​ จะแจ้งความกลับเอาผิด พล.ต.บุรินทร์รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่มอบอำนาจ

4.)​ จะมีทีมกฎหมายดูแลผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด

5.)​ จะใช้กลไกรัฐสภาดูแลสิทธิเสรีภาพของประชาชนและใช้ช่องทางคณะกรรมาธิการ หรือ กมธ.เรียกผู้เกี่ยวข้อง ในการใช้กฎหมายความมั่นคงปิดปากผู้แสดงความเห็นต่างเข้าสู่กระบวนการ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า กรณีดังกล่าวไม่มีมูลทางกฎหมายและเป็นปัญหาทางการเมือง ที่รัฐบาลใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่่ายตรงข้ามและผู้เห็นต่างต่อไปเท่านั้น เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ต้องอิงเจตนาพิเศษและมีมูลเหตุจูงใจ มีองค์กระกอบ 3 ประการ คือ 1.) ต้องกระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบ้านเมือง โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือประทุษร้าย, 2) สร้างความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขั้นที่ก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น และ 3.) ทำไปเพื่อให้ละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งการร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมเสวนาของผู้ถูกกล่าวโทษทั้งหมดไม่เข้าข่าย 3 องค์ประกอบนี้ ดังนั้น วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคมนี้ จะไปแจ้งความกลับพล.ต.บุรินทร์ฐานแจ้งความเท็จ

7พรรค-แก้รัฐธรรมนูญ

'ปิยบุตร' ใช้อำนาจ กมธ.กฎหมายฯ เรียก 'บุรินทร์' แจงปมเล่นงานฝ่ายค้าน

ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่และในฐานะประธาน รรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ย้ำว่า พล.ต.บุรินทร์ เป็นผู้ทำหน้าที่ใช้กฎหมายความมั่นคงเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปิดปากผู้มีความเห็นต่างให้กับผู้มีอำนาจ มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หากยังดำเนินการเช่นนี้ผู้คนจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอะไรเลย ขณะที่ผู้มีอำนาจทำอะไรก็ไม่ผิด ซึ่งเป็นการกลับตาลปัตรในการใช้กฎหมายและถือเป็นความไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง และการดำเนินการครั้งนี้สะท้อนใน 2 ประเด็นคือต้องการใช้เรื่อง ดังกล่าว มากลบกระแสขาลงของรัฐบาลกับกลบกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สังคมตอบรับมากยิ่งขึ้นแล้ว 

นายปิยบุตร ระบุว่า ในฐานะประธาน กมธ.กฎหมายฯ จะเรียกตัว พล.ต.บุรินทร์ และผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพราะ กมธ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับการใช้มาตรา 116 ดำเนินคดีกับประชาชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

เช่นเดียวกับ พล.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญรับรองการแสดงความเห็นรวมถึงการรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการใช้มาตราลักษณะนี้ของ กอ.รมน. กำลังจะบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยยืนยันว่า การจัดเวทีเสวนา มีนักวิชาการและภาคประชาชน รวมถึงองค์กรชาวพุทธร่วมด้วยและ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องรับฟังความเห็นประชาชนให้กว้างขวางที่สุด และจำเป็นต้องมีการดำเนินคดีกลับ ทั้งผู้เเจ้งความที่รับมอบอำนาจและตัวผู้มอบอำนาจ รวมถึงกำลังพิจารณาว่าจะเอาผิดถึงตัวนายกรัฐมนตรี หากมีส่วนเกี่ยวข้องอีกด้วย

7พรรค-แก้รัฐธรรมนูญ

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ยืนยันว่า การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจและใช้แนวทางสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.ที่เปิดกว้างให้แต่ละภาคส่วนมีตัวแทน ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าต้องแก้ไขอะไรบ้าง โดยทั้ง 7 พรรคมีความเห็นตงกันและย้ำอยู่เสมอว่าจะไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 แต่ผู้มีอำนาจพยายามโยงหรือบิดเบือนเจตนาของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า การพูดและนำเสนอของนักวิชาการหรือส่วนบุคคลเป็นสิทธิเสรีภาพซึ่งรัฐธรรมนูญให้การรับรอง จึงไม่อยากให้ผู้มีอำนาจปิดปาก และการแจ้งความ ส.ส.เท่ากับแจ้งความเอาผิดประชาชนที่เป็นผู้เลือกมาด้วย 

นายสมพงษ์ สระกวี ผู้ประสานงานจากพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ขนาดหัวหน้าพรรคการเมืองและนักวิชาการมาพูดกับประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยยังถูกยัดข้อหาตามมาตรา 116 แล้วประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ตกอยู่ใต้กฎอัยการศึกมานาน จะมีชะตากรรมที่เสี่ยงต่อชีวิตเพียงใด จึงขอแสดงความห่วงใยและเห็นอกเห็นใจประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในโอกาสนี้ด้วย

ซัด 'บุรินทร์' รับใบสั่งมาไม่แตกฉานข้อกฎหมายมั่นคง

ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ไปเป็นพยานในคดีมาตรา 116 ให้กับประชาชนที่ถูกพลตรีบุรินทร์ฟ้องร้องจำนวนมาก และศาลได้ยกฟ้องทุกคดี พร้อมยืนยันว่า พล.ต.บุริทร์ ที่รับมอบอำนาจมา ไม่แตกฉานข้อกฎหมายด้านความมั่นคง ฉะนั้นแทนที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่จะย้อนกลับไปเป็นเงื่อนไขให้เกิดปัญหามากขึ้น ดังนั้น จึงต้องใช้ดุลพินิจเพื่อศึกษาข้อกฎหมายให้มากกว่านี้ และผู้บังคับบัญชาที่จะใช้บุคลากรในเงื่อนไขเกี่ยวกับความมั่นคง ต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีจิตสำนึกและตระหนักถึงหลักการประชาธิปไตย ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน การใช้อำนาจที่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับ แกนนำพรรคฝ่ายค้านที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี 12 คน ประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อายุ 78 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 40 ปี หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ,พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร อายุ 64 ปี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ,นางชลิตา บัณทุวงศ์ อายุ 47 ปี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษรศาสตร์ , นายสมพงษ์ สระกวี อายุ 69 ปี นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายมุข สุไลมาน อายุ 70 ปี นายนิคม บุญวิเศษ อายุ 49 ปี หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายรักชาติ สุวรรณ อายุ 55 ปี นายอสมา มังกรชัย อายุ 45 ปี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคประชาชาติ และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อายุ 48 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง