ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการประวัติศาสตร์ บรรยายในเวทีเสวนา ชี้การล้างมรดกคณะราษฎร - ยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นการกระทำที่น่าละอาย เปรียบเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ของรัฐไทยต้องการควบคุมอดีต และอนาคต

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา อภิปรายในหัวข้อ “ควบคุมอดีตในปัจจุบันเพื่อบงการอนาคต : ฝัน (ร้าย) อันสูงสุด”เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยระบุตอนหนึ่งว่า หัวข้อนี้มีความสำคัญ นอกจากอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รู้ถึงการทำลาย อนุสาวรีย์ อนุสรณ์ สิ่งปลูกสร้าง คำ ชื่อ หลายๆ อย่าง ของอดีตที่เกี่ยวกับ 2475 ทุกคนรู้อยู่ ทำกันอย่างน่าไม่อาย "ใครบางคน" ไม่ใช่คนเพียงคนเดียว แต่หมายถึงคนเป็นจำนวนมาก

"กล่าวอย่างสัตย์จริง ไม่ใช่ เพราะกลัวกฎหมาย เราไม่รู้ว่าใครสั่ง เราไม่รู้เลย แล้วผมไม่แน่ใจว่าเราสามารถหาได้ ผมรู้แน่ๆ ว่าใครเป็นคนทำ กรรมกรไงละ คนงานไง ทหารชั้นผู้น้อยเป็นคนทำทั้งนั้นแหละ แต่คำตอบแบบนี้ไม่มีประโยชน์ เราไม่ได้พูดเรื่องนี้เพื่อจะกล่าวหาใคร เพราะว่าการไปกล่าวหาคนงาน ทหารชั้นผู้น้อย ก็ป่วยการ แต่ขณะเดียวกัน เราพยายามจะชี้ถึงผู้สั่งการ แต่เราก็ไม่รู้อยู่ดี ว่า ใครเป็นผู้สั่งการ เราพูดได้เพียงแต่ว่า เกิดปรากฏการณ์ ที่มีความพยายามทำลายอดีตอย่างเป็นระบบ"

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวต่อว่า การลบล้างอดีต ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามบงการอนาคต หรือพูดกลับกัน เหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา (ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่กว่านั้น ที่จะควบคุมอดีต เพื่อบงการอนาคต โดยสิ่งที่เราพูดกันในวันนี้พูดถึงการลบล้างความพยายามในการลบล้างอดีต แต่เหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่คือ การลบล้างอนาคตว่ากันตามตัวอักษร คือการลบล้างอนาคตใหม่ หากแปลเป็นภาษาไทยปกติ คือบงการควบคุมอนาคตด้วยการลบล้างอนาคต

"สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ด้านหนึ่ง คือ การควบคุมอดีต อีกด้านหนึ่งคือการบงการอนาคต สิ่งที่เราพูด เรากำลังพูดถึงโปรเจ็กต์ใหญ่ของใครบางคน หรือพูดให้ชัดกว่านั้น พูดถึงสถาบัน หรือรัฐของไทย ซึ่งกินความกว้าง และเป็นนามธรรม แต่ผมจะไม่อธิบายในที่นี้ว่ารัฐไทยคืออะไร และหมายถึงใครบ้าง แต่ถ้าคุณคิดถึงคนแค่คนเดียว ไม่จริงครับ รัฐไทยหมายถึงคนเป็นจำนวนมาก และบ่อยครั้ง พวกเขาทำโดยที่ไม่รู้กัน" ศ.ดร.ธงชัย กล่าว

ชี้โซเชียลมีเดียยุคใหม่คุมยาก

ศ.ดร.ธงชัย ยังระบุว่า ในแง่ของการควบคุมความคิดของคนในสังคม ท่ามกลางยุคปัจจุบันที่สื่อโซเชียลมีเดีย เข้ามามีอิทธิพลในยุคโลกาภิวัฒน์ พร้อมตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่ที่ปัจจุบันที่เทคโนโลยีดีกว่าสมัยก่อน จึงกลับทำให้คุมได้มากขึ้น โดยเฉพาะตัวอย่าง ลัทธิคลั่งไคล้บูชากษัตริย์ เติบโตมากับเทคโนโลยี ปี 2500 ได้แก่ โทรทัศน์ และการพิมพ์ เพราะเป็นเทคโนโลยีสื่อสารทางเดียว ไม่มีปฏิสัมพันธ์ ควบคุมการผลิต การเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่โซเชียลมีเดียในปัจจุบันคุมไม่ได้ ลัทธินี้มากับเทคโนโลยีแบบหนึ่ง อย่าลืมว่า เทคโนโลยี ทีวี วิทยุ คุมโดยรัฐ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นของกองทัพ ภายใต้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคง อีก 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นของกรมประชาสัมพันธ์

"เพราะฉะนั้น ปัจจุบัน เทคโนโลยี ดีขึ้น คุมได้มากขึ้น คิดอีกทีไม่แน่ใจแล้วนะ ควบคุมสื่อ การไหลเวียนของข้อมูลได้ วันนี้หลายอย่างผมมีคำตอบ แต่ผมไม่มีคำตอบที่ถูกให้ แต่ละคนคิดเอาเอง" ศ.ดร.ธงชัย กล่าว

9707.jpg
  • ปรากฏการณ์แฟลชม็อบของนักศึกษาที่มาจากกระแสแฮชแท็กในทวิตเตอร์ หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ

ศ.ดร.ธงชัย ยังยกตัวอย่างควบคู่ไปกับวรรณกรรมการเมืองอันโด่งดัง เรื่อง "1984" ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ เขียนในระยะต้นของยุคโทรทัศน์ จอร์จ ออร์เวลล์ เขียนขึ้นราวกับ big brother พยายามควบคุมโทรทัศน์ได้ สามารถควบคุมประชาชนได้ด้วยโทรทัศน์ จอร์จ ออร์เวลล์ เดาว่า วันหนึ่งโทรทัศน์สามารถสื่อสารได้สองทาง จนกระทั่งเกิดดิจิทัล เทคโนโลยี ถึงได้กลายเป็นการสื่อสารแบบสองทางได้ ผลไม่ได้เกิดขึ้นแค่การคุมจากศูนย์กลาง แต่มันเกิดการระเบิด ของคนที่เข้าร่วมในการผลิต และคนที่เข้าร่วมในการเสพอย่างเป็นอิสระ พูดง่ายๆ ในยุคหนึ่งเราเคยกลัวว่า โลกาภิวัฒน์จะทำให้วัฒนธรรม ทั่วโลกเหมือนกันหมด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ กลับตรงกันข้าม ในขณะที่บางอย่างในโลกนี้เหมือนกันหมด แต่กลับกลายเป็นว่า ปัจเจกชน หรือกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ สามารถผลิตและเสนอตัว สินค้าจำนวนมากมาย สามารถหาช่องทาง หาตลาดของตัวเองได้ เพราะมันเปิดโอกาสให้ปัจเจกชนรายย่อยๆ กลุ่มคนรายย่อยๆ มีอิสระในการผลิต สินค้า และผลิตข่าวสารได้ โดยที่ไม่ถูกกำจัด และจำกัด โดยศูนย์กลางของข่าวสารเหล่านั้น

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า "ไม่มีใครสักคนอธิบายถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ใน 30-40 ปี ที่ผ่านมา คุณจะพูดถึงการลบล้างอดีต 2475 โดยไม่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ไงกัน ถ้าคำตอบไม่พูดถึงประเด็นนี้ คุณจะอธิบายเทคโนโลยี การควบคุมข่าวสาร มันลอยๆ คุณไม่สามารถตอบได้ว่า ทำไมจึงเกิดในช่วงนี้ แล้วทำไมไม่เกิดขึ้นเมื่อ 30-40 ปี ที่แล้ว เพราะมันเกิดขึ้นในภาวะที่คนไม่กล้าพูด ถ้าคนกล้าพูด เขาจะกล้าทำเหรอ เขาหมายถึงใครก็แล้วแต่ เขาต้องกลัว แต่ทุกวันนี้เขาไม่มีความกลัว ปรากฏการร์หลายอย่างแม้กระทั่งวันที่ 21 ก.พ. (การยุบพรรคอนาคตใหม่) ใช้กฎหมายอย่างไม่มีความละอาย เป็นปรากฏการณ์ที่น่าคิด คนเราจะทำโดยปราศจากความละอายได้ มันต้องมีเงื่อนไข ไม่ได้ทำได้ทุกเวลา ทุกกรณี อะไรคือเงื่อนไข เพราะเขารู้แล้วว่า พวกเราไม่มีน้ำยา" ศ.ดร.ธงชัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง