ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา Digital Dialogue ตอน ‘อนาคตไทยในโลก 5G คลื่นความถี่ IoT และสื่อดิจิทัล’ ซึ่งจัดโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ The101.world ชวนผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาถกเรื่อง 5G- คลื่นความถี่ เทคโนโลยี IoT และสื่อดิจิทัล ในวันที่โลกหมุนเร็ว และเทคโนโลยีเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ หน้าที่ของรัฐ ซึ่งหมายถึง กสทช.ก็ต้องเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้วย

'ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ' ผู้อำนวยการโครงการ CU Transformations จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า 5G คือเทคโนโลยีที่ทำให้คลื่นความถี่ให้บริการได้ใน 3 ลักษณะสำคัญ คือ 1) ความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงขึ้น จาก 100 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) สามารถเพิ่มได้ถึง 1-10 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) เสมือนมีไฟเบอร์ต่อเชื่อมกับโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้สามารถเห็นภาพในมุมมอง 360 องศา และมีความลื่นไหล ทำ AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะด้านการศึกษาทางไกล การแพทย์ทางไกล

2) สามารถต่อเชื่อมกับอุปกรณ์ที่มีตัวรับสัญญาณได้แบบไร้สาย โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต่อไปจะใช้หุ่นยนต์แบบไร้สาย (wireless) ได้ จากปัจจุบันยังเป็นแขนกลหรือหุ่นยนต์ที่ต่อเชื่อมแบบมีสายอยู่

และ 3) ทำให้การติดต่อสื่อสารเกิดขึ้นทันที ไม่มีความหน่วง หรือ ล่าช้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกับหลายวงการ เช่น วงการแพทย์ ที่จะสามารถผ่าตัดทางไกล แบบ real time ได้ เป็นต้น


สุพจน์ เธียรวุฒิ

(ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ)

สำหรับประเทศไทย ด้วยเป้าหมายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี จะทำให้มีการทดลองใช้ 5G ในประเทศไทยภายในปี 2563 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมตัวเพื่อรับการเทคโนโลยีนี้

อาทิ ในฝั่งผู้กำกับดูแล (regulator) ต้องเตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ที่พร้อมจะนำมาใช้กับ 5G ซึ่งต้องการใช้คลื่นความถี่หลายร้อยเมกะเฮิร์ตซ์ และอาจจำเป็นต้อง refarming หรือเรียกคลื่นความถี่คืน แล้วค่อยจัดสรรการประมูลเข้าไปใหม่ อันนี้จะเป็นหน้าที่ของ กสทช. รวมถึงการทำให้เกิดผู้ให้บริการจำนวนมากและมีคุณภาพ

ส่วนฝั่งผู้ประกอบการ สิ่งที่ตระหนักคือ 5G จะไม่ได้สร้างประโยชน์แก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมและการสื่อสารเท่านั้นอีกต่อไป แต่จะรวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ภาคการผลิต โรงงาน ขนส่ง การแพทย์ และสมาร์ท ซิตี้ เป็นต้น ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงในการใช้ประโยชน์ เป็นการผูกโยงที่ข้ามอุตสาหกรรม ดังนั้นก็ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้

สุดท้าย ในด้านประชาชนทั่วไป จะคาดหวังได้ว่าหลังจากนี้ ว่าเทคโนโลยีจะเข้าไปแทรกซึมในทุกย่างก้าวของชีวิต ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ เช่น สมาร์ทเฮลท์ สมาร์ทซิตี้ หรือเรื่องการเดินทางที่จะสะดวกสบายมากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน แม้ประเทศไทยจะมีประกาศเป้าหมายทดลองใช้ 5G ในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่วันนี้ ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใดต้องการลงทุน เพราะเทคโนโลยีนี้ไม่ได้มีแต่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (operator) เท่านั้นที่จะลงทุน และนี่คืออุตสาหกรรมที่ต้องการทุนขนาดใหญ่ระดับโลกด้วยซ้ำ เพราะแม้แต่ เกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่น ที่ประกาศใช้ 5G ในปี 2563 ก็ยังใช้ได้เพียงในพื้นที่ ร้อยละ 5 ของทั้งประเทศ ดังนั้น การพูดเรื่อง 5G ในประเทศไทยจึงไม่ถือว่าเร็วไป แต่ก็ใช่ว่า เราจะได้ใช้จริงในเร็ววัน

นอกจากนี้ การทำ 5G ต้องมีการลงทุนอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (cell site) และเสาส่งสัญญาณอีกมาก จึงคาดว่า ในช่วงแรกจะมีการลงทุนใช้ 5G ในเขตเมือง หรือในย่านธุรกิจเท่านั้น และสิ่งนี้จะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะมาอุดช่องโหว่ความเหลื่อมล้ำนี้คือ ผู้กำกับดูแล (regulator) ต้องเปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่านต่ำ เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ และทำให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนของผู้ประกอบการ เพื่อทำให้คนในหลายพื้นที่ได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

หนุน 'ผู้กำกับดูแล' ขยายใบอนุญาต เพิ่มผู้เล่นในตลาด สร้างบริการคุณภาพ

'ดร.ภูมิ ภูมิรัตน' ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการข้ามอุตสาหกรรม และมีจำนวนมากพอสำหรับการสร้างการแข่งขันและการใ่ห้บริการ เป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายกำกับดูแลต้องเตรียมการให้พร้อม เพราะยิ่งมีผู้ประกอบการในการให้บริการมาก ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนถูกลง และคนที่ใช้งานได้ประโยชน์

เนื่องจากที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะมีผู้ประกอบการกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) แต่ก็ไม่สามารถเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายย่อยเข้ามาในตลาดนี้ได้ ไม่สามารถทำเป็นรีเทลได้ เพราะต้นทุนสูงมาก ดังนั้นจึงหวังว่าในโลก 5G โครงสร้างแบบนี้จะไม่มีแล้ว และต้องมีกติกาที่พร้อมจะเปิดให้หลายๆ ธุรกิจมาร่วมมือกัน เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จับมือกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม หรือ TelCo เป็นต้น


ภูมิ ภูมิรัตน์

"ในอนาคต หวังว่าจะมีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาจะไม่ลดลงจากปัจจุบัน แต่ก็หวังว่า จะมีคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น เร็วขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ปัญหาที่ผู้ให้บริการ หรือ operator เท่านั้น แต่ผู้กำกับดูแลต้องทำให้เกิดการใช้คลื่นความถี่ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคด้วย" ดร.ภูมิ กล่าว

ชี้รัฐต้องยอมให้คืนใบอนุญาตดิจิทัลทีวี ก่อน 5G จะซ้ำเติมปัญหาเดิมให้หนักหนายิ่งขึ้น

ส่วนในมุมมองของผู้ประกอบการ 'อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ' ประธานบริหารบริษัท Adap Creation (Thailand) และ www.77kaoded.com กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการเกิดขึ้นของทีวีิดิจิทัลหลังเดือน ธ.ค. 2556 ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปัจจุบันธุรกิจสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลง และถูก disrupt หนักหนาสาหัสมาก เพราะผู้ประกอบการทีวิีดิจิทัล ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางการเงินในการดำเนินกิจการทีวิีดิจิทัลแล้ว ยังต้องสู้กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้น สิ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ ฝ่ายกำกับดูแลต้องเปลี่ยนโครงสร้างโครงข่ายทีวิีดิจิทัลทั้งหมด พร้อมการทำแผนแม่บททีวีดิจิทัลใหม่ รวมถึงในบางกรณีต้องยอมให้ผู้ประกอบการทีวิีดิิจิทัลคืนใบอนุญาต หรือ ออกจากธุรกิจ


อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ

"ต้องจ้างหรือจูงใจให้เขาเลิก โดยเฉพาะช่องที่ไม่ประสงค์ดำเนินการต่อ และย่ิงถ้า 5G มา ปัญหาที่สะสมอยู่ก็จะยิ่งหนักหนากว่าเดิม เพราะปัจจุบัน ขณะที่ประเทศไทยมี 3G ดาวน์โหลดหนังได้ภายใน 6 นาที ต่อไปถ้าเป็น 5G จะใช้เวลาเพียง 5 วินาที แล้วอย่างนี้ผู้ประกอบการทีวิีดิจิทัลจะอยู่อย่างไร" อดิศักดิ์ กล่าว

ส่วนปัจจุบันคนทำสื่อสารมวลชนหันมาทำเว็บไซต์ ทำโซเชียลมีเดียมากมาย แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่ใช่ทางออกจากการถูกเทคโนโลยีใหม่แทรกแซง เพราะรายได้ที่เกิดขึ้นในสื่อดิจิทัลปีละกว่าหมื่นล้านบาท เงินจำนวนนี้กว่าร้อยละ 70 เข้าไปอยู่กับเฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นปัญหาระดับโลก และมีบางแห่งพยายามจะนำ 'บล็อกเชน' เข้ามาทดแทน แต่ก็ยังเป็นเรื่องใหม่มากๆ อีกทางหนึ่ง คือ เปิดให้ OTT หรือแพลตฟอร์มบริการสื่อสาร แพร่ภาพและเสียง ผ่านอินเทอร์เน็ต เข้ามาดำเนินกิจการ และสร้างกติกาที่จะสนับสนุนให้เกิดผู้เล่นที่หลากหลาย

หนุนเพิ่มผู้ให้บริการ สร้างถนน ขยายเลน เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อธุรกิจทีวีดิจิทัลมีปัญหาก็เกิดผลกระทบกับผู้บริโภค ทำให้หลายช่องผันตัวเองไปเป็น 'ทีวีชอปปิง' เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ กลายเป็นว่า ผู้บริโภคก็ไม่ได้เสพข่าวสารหรือเนื้อหาสาระอะไรมากนัก หรือบางสถานีโทรทัศน์ก็ใช้ผู้ประกาศข่าวที่มีความน่าเชื่อถือเป็นผู้โฆษณาสินค้า เป็นการ Tie-in ในรายการข่าว จนทำให้แยกไม่ออกระหว่างข่าวกับการโฆษณา

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องโทษว่าเป็นปัญหาของผู้กำกับดูแล หรือ กสทช. ที่มีกฎหมายในมือ แต่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้

แล้วหาก 5G มา แล้วยังไม่สามารถทำให้มีราคาที่ถูกได้ ก็ยิ่งจะทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ได้ดีอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่จะต้องบังคับใช้กฎหมาย ทำให้เกิดผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่จำกัดหรือทำเสมือนบีบให้เหลือผู้ประกอบการไม่กี่ราย เช่น กรณีของดีแทคที่เกิดขึ้น ที่เสมือนมีเจตนาทำให้เหลือผู้ประกอบการเพียง 1-2 รายเท่านั้น เป็นต้น


สารี อ๋องสมหวัง

"น่าผิดหวัง ที่เดิมทุกคนออกแบบให้ กสทช. มีความเป็นอิสระ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นอิสระเลย และขณะที่ประเทศไทยมีเบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่มากถึง 100 ล้านเลขหมาย และมีคนใช้งานหรือแอคทีฟ 80 ล้านเลขหมาย แต่กลับมีกลไกการตรวจสอบควบคุมที่ไม่เปิดให้เกิดการร้องเรียนหรือสะท้อนปัญหาที่ดีนัก สิ่งที่พบคือมีเรื่องร้องเรียนในระดับพันรายเท่านั้น ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ และอีกปัญหาคือ การขาดเครื่องมือตรวจสอบโดยผู้บริโภค เช่น การซื้อของออนไลน์ แต่ต้องร้องเรียนผ่านออฟไลน์ เมื่อพบสินค้ามีปัญหา เป็นต้น" เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าว 

ภูมิ ภูมิรัตน์ดร. , ที่ปรึกษาอาวุโสด้านความมั่นคงปลอดภัยจาก G-ABLE