ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวานนี้ (12 มี.ค. 2561) พาดหัวข่าว ‘คนพิการทุบลิฟต์’ ได้รับการความสนใจจากผู้อ่านบนโลกออนไลน์ไม่น้อย และประโยคหนึ่งที่ ‘มานิตย์ อินทร์พิมพ์’ ชายผู้ทุบกระจกประตูลิฟต์ของสถานีบีทีเอสอโศก ซึ่งประกาศเดินหน้าทวงสิทธิให้คนพิการกล่าวกับสื่อมวลชนหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ
“ผมไม่ได้มาเรียกร้องความสงสาร แค่ต้องการความเท่าเทียม”


นั่นทำให้เราเห็นว่า แม้สังคมไทยจะเดินหน้าสู่ฐานคิดของความเสมอภาค ความเท่าเทียม และการเรียกร้องสิทธิของตนเองในกรณี ‘ป้าทุบรถ’ แต่ก็ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่ามันยังคงมีช่องว่าง และความรู้สึกกังขากับการที่ใครสักคนพยายามผลักดันให้ความยุติธรรมภายใต้หลักความเสมอภาคเกิดผลเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเป็นธรรมทางสังคม เช่นเดียวกับคนตัวเล็กๆ อย่างมานิตย์ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นจากจุดไหน เดเรย์ แมคเคสสัน (DeRay Mckesson) นักสิทธิมนุษยชนคนสำคัญ ได้ให้แนวทางการขยับโลกไปสู่ฐานคิดของความเสมอภาค ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันได้ ดังนี้

DeRay Mckesson.jpg

เดเรย์ แมคเคสสัน นักสิทธิมนุษยชน


รู้ ‘สิทธิ’ และ ‘ข้อได้เปรียบ’ ของตนเอง

ความจริงการได้รับสิทธิพิเศษ (Privilege) ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย ยิ่งถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการขับเคลื่อนสังคมสู่ความเท่าเทียม โดยแมคเคสสันยกตัวอย่างเกี่ยวกับสิทธิพิเศษของคนขาวว่า


“มันไม่เกี่ยวกับว่า ‘คุณได้ทำสิ่งใด’ แต่มันเกี่ยวกับสิ่งที่ ‘สังคมกระทำกับคุณ’ ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง และทำอย่างไรที่คุณจะใช้สิทธิพิเศษทางชนชั้น การศึกษา และการเข้าถึงทรัพยากร เพื่อลดช่องว่างของสิทธิพิเศษนั้นๆ”

ดังนั้น หากผู้มีสิทธิพิเศษต้องการทำสิ่งใด เพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียม คำถามที่ควรเอ่ยขึ้นมาคือ ‘ฉันจะทำสิ่งใดได้บ้าง’ มากกว่าการชี้นิ้วแล้วบอกบรรดาคนชายขอบว่า ‘พวกเขาควรทำอะไร’ เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพิเศษที่บางคนได้รับ


กล้าพูดในประเด็นละเอียดอ่อน และขับเน้นให้เห็นความสำคัญ

แมคเคสสันเลือกยกตัวอย่างกรณีความรุนแรงทางสังคมช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่แนวคิดของคนขาวแบบขวาตกขอบ ความรุนแรงที่เจ้าหน้ารัฐกระทำกับประชาชน และปัญหายาเสพติด ว่าแม้คนไม่ได้รับผลกระทบจะมองไม่เห็นผลลัพธ์ของมัน แต่ก็ต้องยอมรับ ว่าความรุนแรงในสังคมเกิดขึ้นจริง อย่าปล่อยมันผ่านไป การกล้าพูด และขับเน้นความสำคัญเป็นขั้นตอนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะ


“คุณเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ถ้าหากไม่พูดมันออกไป และปัญหามันก็ไม่ได้โผล่ออกมาชัดเจนเหมือนการที่ใครสักคนขับรถไล่เหยียบคนบนทางเดิน”


แน่นอนว่า บางปัญหา บางประเด็น อาจเป็นสิ่งที่หลายคนไม่สะดวกใจจะพูด โดยเฉพาะเมื่อมันทำให้คุณถูกคนในระดับชั้นทางสังคมเดียวกันตีตรา และเรียกขานด้วยสรรพนามที่ไม่เข้าหู ทว่าการเมินเฉย และมองว่าสิ่งต่างๆ ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังทำให้ปัญหาขยายตัวออกไป เพราะการนิ่งเฉยก็มีความหมายเฉกเช่นเดียวกับการสมยอม


ขับเคลื่อนการกระทำอย่างเป็นระบบ

ไม่มีมนุษย์หน้าไหนชอบการถูกชี้นิ้วสั่ง หรือถูกเสียดแซะลดทอนคุณค่าในตนเอง ทว่าหลายต่อหลายครั้งคนเรามักเลือกพูดบนจุดยืนของตนเอง จึงมักพบกับแรงต้านอันหนักหนา และเข้มข้น เนื่องจากไม่สามารถโต้เถียงออกมาเป็นฟืนเป็นไฟ เพื่อให้อีกฝ่ายยอมศิโรราบ หรือเปลี่ยนความคิดได้ ดั้งนั้น ต้องมองการขับเคลื่อนสังคมเป็นเหมือนการทำหลักสูตรระยะยาว และต้องกระทำให้เป็นระบบ

การแสดงจุดยืนอันหนักแน่นต้องไม่แข็งกร้าว ค่อยๆ หยั่งเมล็ดพันธุ์ความสงสัย และกังขา ทิ้งปริศนาให้อีกฝั่งได้คิดทบทวนจุดยืนของตนเอง และเมื่อถึงเวลา ความเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆ เกิดขึ้น ซึ่งมันน่าจะดีกว่าการไปประกาศว่า "ข้าถูกต้อง" และลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝั่งลง

Equality

การเคลื่อนไหวไม่ใช่แค่การประท้วงข้างถนนเสมอไป

อาจฟังดูยากสำหรับสังคมไทย เมื่อทางเลือกในการนำเสนอความคิดต่างมักจำกัดด้วยอุณหภูมิทางการเมืองที่คุกรุ่นด้วยความขัดแย้ง และความไม่พอใจ แต่แมคเคสสันยืนยันว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมมันไม่ใช่แค่การออกไปยืนประท้วงตามพื้นที่สาธารณะเสมอไป


“เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนคุณจะพบว่า ความเปลี่ยนแปลงในสังคมดำเนินไปในลักษณะเป็นขั้นตอน”


จริงอยู่ที่ว่า การสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องทำเป็นกระบวนการ และแสดงออกตามระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหารูปแบบใด แต่ใช่ว่าประเทศไทยจะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ เพียงแต่อาจจะต้องมีการยืดหยุ่นผ่านช่องทางสำคัญ เห็นได้จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยหลายๆ คนเลือกใช้โซเชียลมีเดียเป็นตัวกลาง อย่างไรก็ตาม ต้องพยายามสร้างความน่าเชื่อถืออันปราศจากอคติให้ได้ด้วย


เริ่มต้นจากจุดที่สนใจ และสามารถทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้

การเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักวิชาการ นักเขียน นักสิทธิมนุษยชน เพราะความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ส่งผลกระทบต่อ ‘เราทุกคน’ ซึ่งแต่ละคนต่างมีบทบาทแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะถนัดการเขียนการ์ตูนสะท้อนปัญหาสังคม บางคนเลือกใช้ศิลปะกราฟฟิตี้เป็นกระบอกเสียง บางคนถนัดเขียนบทความกระตุกความสนใจของผู้อ่าน หรือบางคนอยู่ในจุดที่ได้เปรียบเรื่องเงินทุน และสถานภาพทางสังคม ก็อาจจะมีช่องทางที่มากขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นไปในวิธีใดเชื่อเถิดว่า ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมได้ อาจจะแตกต่างในวิธีการ แต่ต่างมีผลลัพธ์ในทางเดียวกัน แต่ก็ต้องไม่ลืมหัวข้ออื่นๆ เช่นการกระทำอย่างเป็นระบบ และการเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย


ยึดมั่นหนักแน่นในแนวทาง

การเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเกิดจากการพูดคุย และตระหนักรู้ในปัญหาร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนล่าสุดคือ #MeToo ที่กลายเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในรอบปีที่ผ่านมา แน่นอนว่า มันไม่ได้ดำเนินไปอย่างปราศจากปัญหา แต่มันเป็นการเคลื่อนไหวที่มีจุดศูนย์กลางเดียวกัน และดำเนินไปโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีการประกาศตีฆ้อง หรือเล่นใหญ่


มองเห็นปลายทางของความเปลี่ยนแปลง

หลายครั้งที่การเคลื่อนไหวทางสังคมตั้งเป้า และใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากจนเกินไป เช่น ความรุนแรงของภาครัฐต่อประชาชนต้องหมดไป คนทำผิดกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ป่าสงวนต้องได้รับโทษ การคอร์รัปชันต้องถูกเปิดเผย หรือแม้แต่รัฐบาลบางชุดต้องลาออกไป เพราะบริหารประเทศผิดพลาด โดยปราศจากการตั้งคำถามต่อไปว่า เมื่ออุปสรรค หรือแรงกดทับ (Oppression) ที่ขัดขวางการเคลื่อนไหวถูกผลักออกจากกระดาน เราคาดหวังให้สังคมแบบใดเกิดขึ้น

นั่นทำให้การพูดคุยหาปลายทาง และความเปลี่ยนแปลง มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวของการเคลื่อนไหวเอง การทบทวนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วน และรอบด้าน คือสิ่งที่ต้องนำมารวมในสมการคิด เพราะนอกจากจะช่วยให้เราไม่เขวไปกับความถาโถมของบรรยากาศที่ต้องการมุ่งไปสู่ปลายทางแล้ว มันยังช่วยให้สามารถมองเห็นทางเลือกใหม่ๆ ที่อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าก็เป็นได้ 


รับรู้ความกลัว แต่อย่าถอยหนี

การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ถึงแรงต้านที่เกิดขึ้น รวมถึงกระบวนการระยะยาวที่ทำให้รู้สึกระทดท้อและ ‘หวาดกลัว’ ถึงผลกระทบ แมคเคสสันได้กล่าวในจุดนี้ว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่เราจะรู้สึกกลัว แต่ในทางกลับกัน ความกลัวนั้นสามารถเป็นพลังทางบวก เพื่อผลักดันการเคลื่อนไหว ทั้งในระดับปัจเจก และระดับกลุ่มสังคม


“มาร์ติน ลูเทอร์ คิง เคยกล่าวไว้ว่า เส้นขอบทางศีลธรรมเป็นส่วนโค้งที่ทอดยาวออกไป แต่มันเบนเข้าหาความยุติธรรมเสมอ”

เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกโดดเดี่ยวในการเคลื่อนไหว เพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม (โดยเฉพาะกับอุณหภูมิทางการเมืองของสังคมไทย) ขอให้รับรู้ไว้ว่า คุณไม่ได้เป็นคนเดียวที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับความกลัว แต่ถ้าคุณตัดสินใจเปลี่ยนความกลัวเป็นพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า ก็แน่ใจได้ว่า คุณไม่ได้ทำมันเพียงลำพัง 

----------

อ้างอิงจาก ideas.ted.com และ ted

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลิฟต์บีทีเอสอโศกล็อก หนุ่มนั่งวีลแชร์ใช้มือทุบกระจกจนแตก

ศาลปกครอง เตือนผู้ว่าฯกทม.-ผอ.เขตประเวศ คุ้มครองบ้านป้าทุบรถ

BTS พร้อมปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติเพิ่มความสะดวกผู้พิการใช้ลิฟต์