ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการป้องกันสินค้าเกษตรล้นตลาดช่วง พ.ย.-ต้นปี 2562 เกาะติดสถานการณ์ราคามะพร้าว-ปาล์มน้ำมัน-สับปะรด-มันสำปะหลัง-ยางพารา พร้อมดูแลค่าครองชีพ หนุนเศรษฐกิจฐานราก ย้ำไม่ใช่การหาเสียงทางการเมือง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์การค้าและสินค้าเกษตร พร้อมปัญหาและวิธีการแก้ไข ว่าได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงฯ ทั้งกรมการค้าภายใน, กรมการค้าต่างประเทศ, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทำแผนงานบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพื่อผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม ไม่มีปัญหาล้นตลาด เนื่องจากในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ หรือ ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2562 ผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดจะทยอยออกสู่ตลาด 

โดยขณะนี้ กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการจัดทำรายการสินค้าเกษตร แบ่งเป็น 1) ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดภายใน 3 เดือนนับจากนี้ 2) สินค้าเกษตรที่คาดว่าผลผลิตล้นตลาด เพราะความต้องการในประเทศมีน้อย และ 3) สินค้าเกษตรที่กำลังมีปัญหาราคาตกต่ำเพื่อนำมาทำแผนบริหารจัดการ และเชื่อมโยงการตลาด ทั้งในประเทศ และส่งออก

"สินค้าเป้าหมาย เช่น มะพร้าว, ปาล์มน้ำมัน, ข้าว, มันสำปะหลัง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรด เมื่อได้ตัวสินค้าแล้ว ก็ต้องมาดูอีกว่า ตัวใดกำลังจะมีปัญหา เช่น ล้นตลาด กรมการค้าภายในก็ต้องส่งสัญญาณไปที่กรมการค้าต่างประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อทำแผนผลักดันการส่งออกและแปรรูป เช่น ปาล์มน้ำมัน ทราบว่าขณะนี้ยุโรปกำลังต้องการน้ำเข้าน้ำมันปาล์ม ทูตพาณิชย์ของไทยก็ต้องไปหาออเดอร์ หรือติดต่อให้มาซื้อจากไทย" รมว.พาณิชย์กล่าว

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงพาณิชย์ จึงมีมาตรการดูแลสินค้าเกษตรเป้าหมาย ได้แก่

  • มะพร้าว เนื่องจากประสบปัญหาราคาตกต่ำ รมว.พาณิชย์จึงได้สั่งการให้ใช้ 2 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรมะพร้าว ทั้งมะพร้าวผล มะพร้าวแห้ง และเนื้อมะพร้าวแห้ง ด้วยวิธี (1) ขึ้นบัญชีให้มะพร้าวเป็นสินค้าควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 (2) กำหนดให้สามารถนำเข้ามะพร้าวได้จาก 2 ด่านเท่านั้น คือ ด่านท่าเรื่องกรุงเทพฯ และด่านท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนในท่าเรืออื่นๆ กำหนดให้สามารถขนย้ายมะพร้าวผลไม่เกิน 7 ตัน เนื้อมะพร้าวขาวไม่เกิน 2.5 ตัน และ เนื้อมะพร้าวแห้งไม่เกิน 1.5 ตัน จากมาตรการทั้ง 2 มาตรการนั้น กระทรวงพาณิชย์หวังจะช่วยเหลือปัญหาราคาตกต่ำของมะพร้าวได้อย่างรวดเร็ว


  • ปาล์มน้ำมัน ที่ประชุมอนุกรรมการปาล์มน้ำมันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติโดยมีเป้าหมายหลักในการแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมัน


  • สับปะรด คาดว่าจะมีปัญหามีผลผลิตล้นตลาดในช่วงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ กระทรวงพาณิชย์จึงเตรียมมาตรการป้องกันผลผลิตล้นตลาดด้วยการผลักดันให้เกิดการแปรรูป โดยจะดำเนินการติดต่อหารือกับบริษัทผู้ผลิตสับปะรดกระป๋องหรือน้ำสับปะรด ประกอบกับเร่งให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเร่งขยายตลาดเพื่อรองรับอุปทาน (ผลผลิต) เหล่านี้ให้ทัน


  • มันสำมันสําปะหลัง กระทรวงพาณิชย์ยืนยันจะตรึงราคาไว้ให้สูงกว่าปีที่แล้ว และในเดือนพฤศจิกายนที่จะมาถึงนี้ จะจัดงานส่งเสริมการขายมันสำปะหลังขึ้นด้วย


  • ยางพารา กระทรวงพาณิชย์จะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้านการส่งออกอย่างเต็มที่


“ในระยะยาวทิศทางของสินค้าเกษตรจะต้องไปสู่การแปรรูป ไม่ใช่ขายสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ เพราะฉะนั้นกลไกที่เราจะต้องส่งเสริมมากขึ้น คือการให้สินค้าเกษตรในฤดูกาลนั้นไปสู่การแปรรูป หรือยกระดับมูลค่าเพิ่มในการยืดอายุสินค้าเกษตรให้ยาวนานขึ้น” นายสนธิรัตน์ กล่าว


นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสินค้า Dairy Products ทั้งนมและผลิตภัณฑ์ รวมถึงเนื้อและผลิตภัณฑ์ที่ไทยจะเปิดเสรีเต็มรูปแบบ โดยอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ และไม่มีโควตานำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ภายใน 2-3 ปีนี้ ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ต้องเร่งทำแผนเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมทั้งระบบ และต้องใช้โอกาสนี้ส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่ยังมีความต้องการอีกมาก เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าสินค้า Dairy Products ของอาเซียน

ดูแลสินค้าเกษตร-ลดค่าครองชีพ-หนุนศก.ฐานรากเที่ยวเมืองรอง

นายสนธิรัตน์ ยังระบุว่า ได้กำชับและมอบนโยบายกับพาณิชน์จังหวะดให้เกิดการปฎิบัติจริงใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การดูแลเรื่องสินค้าเกษตร 2) วางแนวทางลดค่าครองชีพและดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน จะเปิดตัวโครงการลดค่าครองชีพและเพิ่มรายได้ร้านค้าโชห่วย ที่มีการเชื่อมโยงผู้ผลิตสินค้าและผู้ขนส่งสินค้า เช่น ไปรษณีย์ไทย โดยใช้แอพพลิเคชั่น หรือ อี-โลจิสติกส์ ซึ่งผู้ค้าจะได้สั่งสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิตทั่วประเทศและเป็นสินค้าที่ร้านค้าเลือกให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเปิดให้ร้านค้าธงฟ้าและร้านค้าทั่วไป เข้าโครงการ เป้าหมาย 100,000 ร้านค้า และ 3) ให้จัดทำแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการท่องเที่ยวเมืองรอง ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการทำแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวคู่กับการทำการค้า โดยมีเป้าหมายทั้ง 3 ภารกิจ ต้องคืบหน้าภายใน 3 เดือนนับจากนี้

"การสั่งการนี้ไม่ใช่เป็นการหาเสียงทางการเมือง หรือมีอะไรพิเศษต้องทำภายใน 3 เดือน แต่เป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก มุ่งเน้นเพิ่มรายได้เกษตรกรและท้องถิ่น ลดภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลมาตลอด เรื่องไหนที่เป็นการหาเสียง อย่างแผนงานช่วยเหลือโชห่วย ก็มุ่งเรื่องสร้างความเข้มแข็ง ลดต้นทุนสินค้า ให้สามารถแข่งขันได้กับค้าปลีกรายใหญ่" นายสนธิรัตน์ กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :