ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญจีนทั้งฝ่ายวิชาการ-ภาคธุรกิจชี้ผู้ประกอบการไทยต้องหาช่องทางในเศรษฐกิจจีนให้ถูกจุด ย้ำสงครามการค้าจีน-สหรัฐยืดยาว ต้องปรับตัวรับให้ทัน

'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' รองหัวหน้าพรรค และ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ นำทีมพรรคจัดงานสัมมนาในประเด็น "แปลงจีนให้เป็นโอกาส" โดยในวงเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย 'อักษรศรี พานิชสาส์น' อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 'อาร์ม ตั้งนิรันดร' อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 'โจ ฮอร์น พัธโนทัย' กรรมการผู้จัดการบริษัท ยุทธศาสตร์613 จำกัด และ 'มาณพ เสงี่ยมบุตร' ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจจีน ธนาคารไทยพาณิชย์

ศก ปชป บทบาทจีน

ไทย-จีน ไม่ใช่พี่น้องเรื่องเศรษฐกิจ

'อักษรศรี' ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของไทยพึ่งพิงจีนในสัดส่วนที่สูงมาก ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยและยังเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย 

ขณะเดียวกััน ก็เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มากถึงเกือบ 10 ล้านคน ที่สร้างมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาทเข้าประเทศไทย ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักเมื่อนักท่องเที่ยวจีนเลือกเดินทางไปยังประเทศอื่น หลังไทยประสบปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ความปลอดภัย ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าและเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอลง

เมื่อลงไปดูในเชิงตัวเลขในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา 'อักษรศรี' กล่าวว่า การส่งออกของไทยไปจีนเติบโตเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น และมูลค่าการค้าไม่เคยทะลุหลักแสนล้านบาทเลยสักปี ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม กลับขึ้นมาเติบโตถึงร้อยละ 140 และขยับขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของจีน แซงไทยที่เคยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของจีน จนตอนนี้ตกมาอยู่ในอันดับที่ 12 

'อักษรศรี' อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้การค้าของไทยไปจีนเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นมาจากผู้ส่งออกของไทยเลือกที่จะส่งออกแต่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ หรือสินค้าที่จีนนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลายทางเอง ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นได้แค่ผู้ส่งออกวัตถุดิบเท่านั้น ดังนั้นเมื่อ จีนเผชิญกับสงครามการค้าที่กระทบกับคำสั่งซื้อ การส่งออกของไทยจึงได้ผลกระทบโดยตรง 

เมื่อเทียบกับเวียดนามที่ขยับขึ้นมาเติบโตอย่างรวดเร็ว สินค้าที่เวียดนามส่งออกและค้าขายกับจีนเป็นจำนวนมากคือ สมาร์ตโฟน จึงถือว่าได้เปรียบกว่าไทยมาก 

'อักษรศรี' ย้ำว่า แม้ความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรมของไทยและจีนจะถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก แต่หากกลับมามองในมุมของเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของเรายังต่ำกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น

โอกาสที่ยังพอมี

แม้เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันจะอยู่ในภาวะถดถอย ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จีนเมื่อปี 2561 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.6 และ ตัวเลขจีดีพีในครึ่งแรกของปี 2562 ก็อยู่ที่เพียงร้อยละ 6 เท่านั้น แต่ 'มาณพ' ก็ยังเชื่อว่าไทยยังคงหาช่องทางการเติบโตได้หากเจาะได้ถูกจุด

ศก ปชป บทบาทจีน
  • มาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจจีน ธนาคารไทยพาณิชย์

'มาณพ' อธิบายว่า ส่วนหนึ่งของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมาจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ แม้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ในภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาของจีนจะอยู่ต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวมาตลอด แต่ดัชนี PMI นอกภาคอุตสาหกรรมยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง ชี้ว่ากำลังมีการปรับตัวจากการพึ่งพิงภาคการผลิตอย่างเดียว

นอกจากนี้ ตัวเลขการค้าปลีกของจีนที่ชะลอตัวลงมาเติบโตที่ร้อยละ 8 - 9 ในช่วงปีที่ผ่านมา ยังซ่อนการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภาคการค้าออนไลน์เอาไว้

'มาณพ' กล่าวว่า หากผู้ประกอบการไทยสามารถเจาะความต้องการผู้ซื้อจีนได้ถูกจุด แม้เศรษฐกิจโดยรวมของจีนจะชะลอตัวอยู่ แต่ไทยก็ยังสามารถทำธุรกิจได้อย่างไม่สะดุด

ทั้งนี้ 'มาณพ' ยังชี้สิ่งบกพร่องที่สร้างความกังวลให้กับประชากรจีน อาทิ ระบบสาธารณสุข รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารและยา ว่าเป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปทำตลาดได้ พร้อมแนะนำให้หันไปมองจีนในฝั่งภาคกลางและภาคตะวันตกแทนที่จะมุ่งเป้าไปแต่ภาคตะวันออกที่มีการเจริญเติบโตไปไกลและ "อาจจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว" 

จีนจะขึ้นมานำโลกเทียบสหรัฐฯ

เมื่อมองถึงสถานการณ์ของประเทศจีนในอนาคตต่อไป 'อาร์ม' กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกเพียงผู้เดียว แต่จะเป็นการแบ่งสายการผลิตของโลกเป็น 2 ฝั่ง ที่ฝั่งหนึ่งนำโดยสหรัฐฯ และอีกฝั่งนำโดยจีน

'อาร์ม' ชี้ว่า สงครามการค้าที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อให้สหรัฐฯ กลับมาเกินดุลการค้ากับจีนแต่มีประเด็นที่ลึกลงไปกว่านั้น โดย 'อาร์ม' อธิบายว่า ในขั้นแรกที่ประชาชนเห็นกันคือความขัดแย้งทางการค้า แต่ประเด็นในชั้นที่สองกลับเป็นเรื่องของเทคโนโลยี และประเด็นที่ลึกที่สุดคือความมั่นคงด้านข้อมูล

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจีนทำให้สหรัฐฯ เกิดความกังวลทั้งในแง่ความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลก และในแง่ของความปลอดภัยด้านข้อมูล จึงเป็นที่มาที่มีการใช้หมากทั้ง 'หัวเว่ย' และ 'แอปเปิล' มาต่อรองกัน 

สงครามการค้า

'อาร์ม' สรุปในตอนท้ายว่า สถานการณ์สงครามการค้าที่เกิดขึ้นจะยังดำเนินต่อไปและอาจพัฒนาขึ้นไปเป็นสงครามเย็น 2.0 ที่มีความซับซ้อนมากกว่าสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และโซเวียต เนื่องจากในยุคนั้นสหรัฐฯ และโซเวียตไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการค้ากัน แต่ในปัจจุบันสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนในมูลค่ามหาศาลที่ไม่สามารถทำร้ายจีนได้โดยไม่เจ็บตัวเองด้วย ดังนั้นสงครามการค้าครั้งนี้จึงจะทั้งดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน และตกอยู่ในสภาวะ "เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย" 

ขณะที่ สายการผลิตของโลก ก็จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วเช่นเดียวกัน คือขั้วที่ขึ้นกับสหรัฐฯเป็นหลัก และขั้วที่ขึ้นกับจีนเป็นหลัก 'อาร์ม' บอกว่า สภาวะดังกล่าว จะสร้างความอึดอัดให้กับหลายประเทศไม่น้อย เพราะดูเหมือนต้องเลือกข้าง แต่หากวางตัวได้ดีก็สามารถเป็นประเทศคู่ค้าได้กับทั้งสองมหาอำนาจ

'อาร์ม' ปิดท้ายว่า คำถามสำคัญของประเทศไทยตอนนี้ ไม่ใช่ว่าจะเอาตัวเองเข้าไปเป็นข้อต่อส่วนไหนในสายการผลิต แต่ต้องถามว่าจะไปต่ออยู่กับโซ่ไหน หรือจะต่อกับทั้งสองโซ่ได้อย่างไร