ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเพื่อไทย เสนอ 4 มาตรการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด แนะยุทธศาสตร์ 21 วัน ค้นหาผู้ติดเชื้อ ชะลอการใช้งบประมาณที่ไม่จำเป็น

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีการควบคุมประชาชนในระดับสูง โดย กำหนดให้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 หรืออีกประมาณ 1 เดือนกว่านั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า เมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้ “ยาแรง” แล้วปัญหาต้องจบเร็วที่สุด ไม่ควรเกินระยะเวลาที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ รัฐบาลไทยต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ โดยมีตัวชี้วัดทางการแพทย์ชัดเจน ดังเช่นที่หลายประเทศได้ทำสำเร็จมาแล้ว

ที่ผ่านมาตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส การบริหารวิกฤติของรัฐบาลค่อนข้างหละหลวมบกพร่อง โดยรัฐบาลได้ปล่อยปละละเลยมาตรการสำคัญหลายประการ ตั้งแต่เริ่มต้นสภาวะวิกฤตจนกระทั่งสถานการณ์บานปลาย ปล่อยให้มีการกักตุนและหาผลประโยชน์จากอุปกรณ์ป้องกันตัว และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะเห็นได้จากการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นในโรงพยาบาล จนกระทั่งทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทะลุหลักพันคนในวันนี้

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีการจำกัดสิทธิของประชาชนมากขึ้น และอำนาจทุกอย่างกลับเข้ามาอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีแล้ว การควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนการสอบสวนหาสาเหตุต่างๆ ที่เป็นต้นตอของปัญหาย่อมกระทำได้ง่ายกว่าเดิม พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ขอให้รัฐบาลปูพรมในการค้นหาผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ นำผู้ติดเชื้อทั้งหมดมารักษาพร้อมทั้งควบคุมไม่ให้สามารถแพร่เชื้อต่อ ซึ่งในวิธีการปฏิบัตินั้นพรรคเพื่อไทยได้นำเสนอยุทธศาสตร์ 21 วัน ในการสยบปัญหา COVID-19 ไว้ตามที่ทราบแล้ว

2. ขณะนี้อุปกรณ์ในการดำรงชีวิตให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส ทั้งของประชาชนตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ ขาดแคลนอย่างหนัก และราคาสูงกว่าปกติมาก สูงกว่าราคาที่รัฐบาลกำหนดถึง 10 เท่าตัว ซึ่งเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว นายกรัฐมนตรีควรเรียกความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชนคืนมาด้วยการจับกุม และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย และลักลอบส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการหาประโยชน์รายใหญ่ที่มีอิทธิพล และจัดสรรให้ประชาชนได้มีอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ใช้อย่างพอเพียงและเป็นธรรม

3. รัฐบาลควรดำเนินการเร่งใช้งบกลาง ที่มีอยู่กว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งอำนาจการใช้งบกลางนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว นายกรัฐมนตรีจึงควรเร่งตัดสินใจนำงบกลางมาใช้ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งปรับงบประมาณแผ่นดิน ปี 2563 โดยเกลี่ยงบประมาณมาใช้แก้วิกฤติที่เกิดขึ้นก่อน ด้วยการยกเลิกการจัดซื้อจัดหาสิ่งของที่ยังไม่จำเป็นเช่น การจัดซื้ออาวุธ การอบรมสัมมนาดูงาน การสร้างอาคารใหม่ การซื้อเช่ารถประจำตำแหน่ง ฯลฯ เป็นต้น หากแต่ละกระทรวงยอมเสียสละ โดยยอมเลื่อนการใช้งบประมาณออกไปปีหน้า เราจะได้งบประมาณกลับมาถึง 70,000 - 80,000 ล้านบาท รัฐบาลจะสามารถนำเงินก้อนนี้มาใช้ในการต่อสู้กับวิกฤติ COVID-19 โดยที่ไม่ต้องสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีก

4. ควรต้องใส่ใจ ในการวางมาตรการเพื่อช่วยเหลือดูแลคนยากจน ผู้มีรายได้น้อยหรือลูกจ้างรายวัน คนหาเช้ากินค่ำที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ และวิกฤติการณ์ต่างๆ ในครั้งนี้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนต่างๆ ด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจยิ่ง ตามวิสัยที่รัฐควรดูแลต่อประชากรในสังคมของตน COVID-19

ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาล เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือให้เพียงพอต่อการป้องกันตัวเองของแพทย์ พยาบาล และเครื่องมือเวชภัณฑ์ในการรักษาผู้ป่วย จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีขวัญและกำลังใจ ในการที่ต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป โดยมาตรการทั้งหมดสามารถใช้งบกลางที่มีอยู่กว่า 500,000 ล้านบาท มาใช้ในการบริหารจัดการในทั้ง 4 มาตรการอย่างเร่งด่วนได้ทันที