ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ หญิงไทยที่จบ ป.ตรี มีโอกาสแต่งงานน้อยลงร้อยละ 14 ยิ่งการศึกษาสูงขึ้น 1 ปี โอกาสมีลูกยิ่งลดลงร้อยละ 10 ปัจจัยสำคัญเพราะสังคมกดดันให้ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทั้งในและนอกบ้าน

งานวิจัยชิ้นล่าสุดของ ผศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ น.ส.ลูซี่ เหลา นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ศึกษารูปแบบการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของหญิงไทยระหว่างปี 2528 - 2560 พบว่า ประชากรผู้หญิงของไทยมีแนวโน้มชะลอการแต่งงานให้ช้าลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง

ผศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์
  • ผศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์

ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกในเชิงวิชาการว่า 'Marriage Strike' หรือการประท้วงการแต่งงาน ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง ซึ่งทำให้พวกเธอมีรายได้สูงเช่นเดียวกัน ดังนั้นการแต่งงานและมีบุตรจึงทำให้พวกเธอต้องแบกต้นทุนค่าเสียโอกาสมากกว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาน้อยกว่า

ขณะที่อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงครองตัวเป็นโสดมากขึ้น ไม่เพียงแค่ชะลอการแต่งงานและมีลูกลดลงเท่านั้น แต่มาจากโครงสร้างทางสังคมในประเทศแถบเอเชีย ที่คาดหวังให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบทั้งการดูแลครอบครัวในฐานะแม่บ้าน และการทำงานหารายได้ไปพร้อมๆ กัน งานวิจัยชี้ว่า แรงกดดันดังกล่าว ทำให้ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงจากประเทศในทวีปเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น เลือกที่จะให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวของตัวเองมากกว่าการมีครอบครัว 

สำหรับตัวเลขจากการศึกษาในประเทศไทย ผศ. ดร.ศศิวิมล กล่าวว่า ในกลุ่มผู้หญิงที่จบการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป มีโอกาสแต่งงานลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีการศึกษาต่ำกว่า ขณะที่การศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้หญิงไทย 1 ปี จะทำให้อัตราการมีลูกลดลงร้อยละ 10 

ผศ. ดร.ศศิวิมล สะท้อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เข้าไปเพิ่มเติมการเป็นประเทศผู้สูงวัยของไทย และจะส่งผลให้ประเทศเผชิญหน้ากับการขาดแคลนกำลังแรงงาน และอยากให้ภาครัฐเพิ่มนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมในครอบครัวอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ผ่านนโยบายการแต่งงานและมีลูกอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีมาตรการสนับสนุนทั้งเงินทุนและการลดหย่อนภาษี