ไม่พบผลการค้นหา
ชาวประมงพานิชย์ เดือดร้อนหนัก ภาครัฐให้จ่ายเงินสดเติมน้ำมันก่อนออกเดินเรือ มิหนำซ้ำยังปล่อยนำเข้าอาหารทะเล ทำให้ราคาตก โดยส่วนใหญ่พร้อมขายเรือ ละทิ้งอาชีพประมง

ชาวประมงจาก 22 จังหวัดชายทะเล ชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรียกร้องให้ทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการประมง โดยต้องการให้มีการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่ยืดเยื้อมากว่า 5 ปี ซึ่งมีทั้งหมด 11 ข้อ นับแต่ให้ยุติการออกกฎหมายที่กระทบกับชาวประมงให้แก้ไขพระราชกำหนดการประมง ปี 2558, ให้รัฐบาลเร่งซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็วและเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมง ในโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องภายในเดือน ธ.ค. 2562 ไปจนถึงการตั้งคณะกรรมการพิจารณาผู้ได้รับผลกระทบ

นายอำนาจ เนียมศิริ จากสมาคมประมงปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ ขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส ระบุว่า นอกจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในเรือประมงพาณิชย์และผลกระทบจากการที่รัฐบาลให้มีการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านทำให้ราคาอาหารทะเลตกต่ำแล้ว ที่สำคัญคือ มาตรการที่ภาครัฐออกมา โดยคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรกำหนดให้บริษัทจำหน่ายน้ำมัน บังคับให้ชาวประมง ต้องจ่ายเงินผ่านบัตรฟรีทการ์ด (Fleet Card) นั้นกระทบเรือประมงพาณิชย์อย่างยิ่งเพราะชาวประมงส่วนใหญ่ไม่มีเงินสด ที่จะต้องไปจ่ายค่าน้ำมันก่อนออกเดินเรือครั้งหนึ่งราว 5-6 หมื่นบาท จึงอยากให้ทางการ ทบทวนมาตรการนี้ และเป็น 1 ใน 11 ข้อเรียกร้องของชาวประมง 

นายอำนาจ ระบุว่า แต่เดิมนั้นชาวประมงจะไปเติมน้ำมันก่อนโดยยังไม่ต้องจ่ายเงิน เมื่อขายปลาหรืออาหารทะเลได้แล้วค่อยนำเงินไปจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยบริษัทจำหน่ายน้ำมันจะคิดดอกเบี้ยราคาถูก แต่การบังคับให้ต้องใช้เงินสดซื้อน้ำมันก่อนออกเดินเรือนั้น ทำให้ชาวประมงพาณิชย์ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก พร้อม ยืนยันว่า หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะดำเนินมาตรการนี้ต่อไปก็ขอให้เร่งรีบมาซื้อเรือประมงจากชาวประมง เพราะชาวประมงส่วนใหญ่ยินดีที่จะขายเรือให้รัฐบาลในราคาที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ เนื่องจากหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็ไม่สามารถทำมาหากินได้

นายบัณฑิตย์ จาดเลน เจ้าประมงพาณิชย์ฝั่งอ่าวไทย กล่าวว่า มาตรการต่างๆ กว่า 200 ข้อ ชาวประมงพาณิชย์ได้ดำเนินการเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ปัญหาหลักๆ ยังคงมีอยู่ ทั้งการให้จ่ายเงินสดซื้อน้ำมันก่อนออกเรือ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการทะลักเข้ามาของอาหารทะเลจากต่่างประเทศ พร้อมย้ำถึงปัญหาการที่ภาครัฐปล่อยให้มีการนำเข้าอาหารทะเล จากประเทศเพื่อนบ้าน สร้างผลกระทบให้ชาวประมงไทยเป็นอย่างมาก เพราะพ่อค้าคนกลางมีการกดราคาโดย มักจะซื้ออาหารทะเลราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านมาผสมกับอาหารทะเลจากชาวประมงไทย แล้วค่อยขายออกสู่ตลาด ทำให้ชาวประมงพาณิชย์ส่วนใหญ่จะขาดทุน ในช่วงที่อาหารทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามา

นอกจากนี้ยัง ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ที่มีมาตรการคุมเข้มและค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนที่สูง ซึ่งเจ้าของเรือในฐานะนายจ้างต้องออกเงินให้ก่อน ขนาดที่แรงงานข้ามชาติที่มีบัตรแรงงานถูกต้องก็มักจะหนีนายจ้างไป ที่เรียกว่า "โดดร่ม" หรือไม่ยอมใช้หนี้แล้วกลับประเทศบ้านเกิด ซึ่งนายบัณฑิตย์ ยืนยันว่า หากรัฐบาล เร่งดำเนินการซื้อเรือประมงจะเป็นเรื่องดี เพราะตัวเองก็ต้องการขายเรือเช่นกัน เนื่องจากมาตรการหลายอย่างสร้างผลกระทบและทำให้ขาดทุน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง