ไม่พบผลการค้นหา
การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามการใช้ประโยชน์ จะเริ่มจัดเก็บปีแรกนับตั้งแต่ ม.ค. 2563 ธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานแสดงบัญชีราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยืนยันพร้อมให้ประชาชนตรวจสอบราคา ฟาก อปท. จัดอบรมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น - ทำหน้าที่ผู้สำรวจและประเมิน

นายชุมพล สุวรรณกิจบริหาร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายภาษี สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายใหม่ของประเทศไทย และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 13 มี.ค. 2562 แต่จะเริ่มจัดเก็บภาษีจริงตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 มีทั้งหมด 97 มาตรา และเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้ทันยุคทันสมัย จากเดิมที่ไทยเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินมาตั้งแต่ปี 2485 และเก็บบนฐานค่าเช่ารายปี ในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่าเช่ารายปีนั้น และเป็นกฎหมายที่เปิดให้ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ในการประเมินภาษี ขณะเดียวกัน ก็เก็บภาษีบำรุงท้องที่บนฐานราคาปานกลางของที่ดิน มาตั้งแต่ปี 2508 ซึ่งมีการปรับปรุงราคาทุก 3-4 ปี แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาราคาปานกลางที่ดินไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่ปี 2521

"ราคาที่ดินปานกลางที่ใช้กันมาเป็นการจัดเก็บในอัตราถดถอย และมีการยกเว้น ลดหย่อนมาก เช่น ในภาษีบำรุงท้องที่ ให้จัดเก็บจากที่ดินที่ใช้อยู่อาศัยตั้งแต่ 50 ตารางเมตร ถึง 3-5 ไร่ ตามประเภทของท้องที่ที่อยู่อาศัย ซึ่งตามกฎหมายเก่า เขตลาดพร้าว บางกะปิ ยังเป็นท้องที่เขตเจริญน้อยตามนิยามกฎหมายเก่า ซึ่งปัจจุบันมีสภาพต่างไปจากอดีตมากแล้ว" นายชุมพล กล่าว

อีกทั้ง จากการสำรวจการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ 36 ล้านแปลงทั่วประเทศ พบว่า ที่ผ่านมา รัฐจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ได้จริงเฉลี่ยปีละ 9 ล้านบาท ภาษีโรงเรือนฯ เก็บได้เฉลี่ยปีละ 2.9 หมื่นล้านบาท 

ดังนั้น จึงนำมาสู่การจัดทำกฎหมายใหม่เป็น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทำให้ทันสมัยขึ้น เก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการปฏิรูประบบภาษีของประเทศไทย เพราะตามกฎหมายใหม่ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการเก็บบน "ฐานมูลค่าการทรัพย์สินที่ทำประโยชน์" ซึ่งในอีกด้านหนึ่งของการกระตุ้นให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากที่ดิน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

"ระบบปฏิบัติตามกฎหมายใหม่จะง่ายขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับของเดิม ที่สำคัญเป็นการลดการใช้ดุลยพินิจ และจะสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่นให้มีฐานรายได้ใช้จ่ายในอนาคต เพราะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ จะเป็นการเก็บรายได้ให้ท้องถิ่น ไม่ได้เข้าสู่รัฐบาลกลาง" นายชุมพล กล่าว

พร้อมกับอธิบายทำความเข้าใจว่า หัวใจหลักของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการเก็บจาก 2 สิ่ง ได้แก่ ที่ดิน ที่เป็นทั้งผืนดิน ภูเขา แม่น้ำ และ สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหมายถึง อาคาร โรงเรือน ตึก หรือสิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ใช้สอยทำพาณิชยกรรม อยู่อาศัย รวมทั้งอาคารชุด หรือ แพที่ใช้ประโยชน์ หารายได้

สำหรับการคำนวณภาษี กฎหมายกำหนดให้คำนวณโดยใช้ฐานราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินที่กรมธนารักษ์ประกาศ ซึ่งปัจจุบันที่ดินทั้ง 36 ล้านแปลงทั่วประเทศที่มีกรรมสิทธิ์แล้ว กรมธนารักษ์ได้ประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ออกมาทั้งหมดแล้ว ส่วนสิ่งปลูกสร้างให้คำนวณจากราคาประเมินที่กรมธนารักษ์กำหนดแบบมาตรฐานสิ่งปลูกสร้างไว้แล้วทั้งสิ้น 36 แบบหลัก 56 แบบหย่อน 

ส่วนผู้เสียภาษีตามกฎหมายคือ คนที่เป็นเจ้าของที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเป็นผู้มีชื่อในเอกสารกรรมสิทธิ์ ตั้งแต่ 1 ม.ค.ของทุกปี 

ส่วนผู้จัดเก็บภาษี คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยรายได้ที่จัดเก็บได้จะเป็นของท้องถิ่น   

สำหรับอัตราการจัดเก็บ กฎหมายกำหนดให้จัดเก็บจากการทำประโยชน์บนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ซึ่งการทำประโยชน์ในที่ดินแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ทำประโยชน์ (เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ) กับ กลุ่มที่ไม่ทำประโยชน์ (ที่ดินรกร้างว่างเปล่า) ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดเพดานการจัดเก็บ ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม ร้อยละ 0.15 ของราคาประเมิน 

อัตราภาษี-ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง-ภาษี

อย่างไรก็ตาม ประมวลรัษฎากรในช่วงแรกเก็บที่อัตราร้อยละ 0.01 หรือ ล้านละ 100 บาทต่อปี โดยเก็บในอัตราก้าวหน้า ได้แก่

ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมมูลค่า 0-75 ล้านบาท เก็บที่อัตราร้อยละ 0.01

มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บที่อัตราร้อยละ 0.03

มูลค่า 100-500 ล้านบาท เก็บที่อัตราร้อยละ 0.05

มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท เก็บที่อัตราร้อยละ 0.07

มูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เก็บที่อัตราร้อยละ 0.1

โดยบุคคลธรรมดา ที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้น และจะเก็บจากส่วนที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท 

ส่วนที่ดินประเภทที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย อัตราเพดานที่จัดเก็บอยู่ที่ร้อยละ 0.3 แต่การจัดเก็บจริงในช่วงแรก บ้านหลังหลักที่มูลค่าไม่ถึง 10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี และเริ่มต้นอัตราการจัดเก็บจริงที่อัตราร้อยละ 0.02 หรือล้านละ 200 บาทต่อปี และจัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้าเช่นกัน 

ส่วนที่ดินประเภทอื่นๆ และรกร้างว่างเปล่า มีเพดานอัตราจัดเก็บที่ร้อยละ 1.2 โดยในช่วงแรกมูลค่า 0-50 ล้านบาท จัดเก็บจริงในอัตราร้อยละ 0.3 หรือล้านละ 3,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ดี กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะบวกเพิ่มอัตราภาษีร้อยละ 0.3 ทุกๆ 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมจะไม่เกินร้อยละ 3

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการดูแลผลกระทบ เช่น กรณีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ยังไม่ได้ขายโครงการจะได้รับการลดหย่อนภาษีร้อยละ 90 ไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตจัดสรร ส่วนที่ดินสร้างอาคารชุดได้ลดหย่อนร้อยละ 90 ไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง รวมถึงทรัพย์ที่เป็น NPA จะได้รับการลดหย่อนร้อยละ 90 ไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้กรรมสิทธิ์ ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย 

กรมธนารักษ์ประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ ปีหน้ายังใช้บัญชีปี 2559 อยู่

ด้านนางวิลาวัลย์ วีระกุล รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังใช้บัญชีประเมินทุนทรัพย์ที่ทำทุกๆ 4 ปีหน และรอบปัจจุบันคือบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ของปี 2559-2563 และในวันที่ 22 พ.ย. นี้ พ.ร.บ.ประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งมีจะมีผลให้การดำเนินงานภายใต้กระทรวงมหาดไทยตามประมวลกฎหมายที่ดินเปลี่ยนมาเป็น พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนตรวจสอบราคาประเมินก่อนประกาศใช้ล่วงหน้า 1 เดือน ซึ่งในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 จะประกาศบัญชีใหม่ โดยกรมธนารักษ์พร้อมให้ประชาชนตรวจราคา แต่ยังไม่พร้อมเผยแพร่ทางเว็บไซต์ในขณะนี้ 

นายจุมพล สมุทรวินิจพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนารายได้ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นกฎหมายใหม่ คนทำก็ใหม่ระบบก็ใหม่ แต่ที่ผ่านมา อปท. ได้ให้ความรู้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อบต.ต่างๆ มาแล้ว 27 รุ่น ๆ ละ 300-400 คน ซึ่งจะเป็นผู้สำรวจและประเมินทรัพย์ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ในท้องถิ่น ดังนั้นเชื่อมั่นว่า ภายในเดือน ม.ค. 2563 จะสามารถขับเคลื่อนงานได้ แม้ในช่วงแรกต้องเป็นระบบกรอกข้อมูลแบบมือ (manual) แต่เชื่อว่า ปีถัดไปจะสามารถนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้อย่างสมบูรณ์

"ตามกฎหมายใหม่ ให้ท้องถิ่นสำรวจทุกแปลง แล้วประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ตรวจสอบ เป็นที่ดินรายแปลงและรายสิ่งปลูกสร้าง ดังนั้นยืนยันว่ากระบวนการทุกขั้นตอนโปร่งใส ไม่มีใครช่วยใครได้ ขอร้องใครได้" นายจุมพล กล่าว