ไม่พบผลการค้นหา
เกาหลีใต้เผยภาพสุนัขที่ ปธน.มุนแจอิน ได้รับมอบจากผู้นำเกาหลีเหนือเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมถึง 'สยาม' ในอดีต และสัตว์แต่ละชนิดมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไป

ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หรือชองวาแด เผยแพร่ภาพลูกสุนัขที่เกิดจาก 'ซงกัง' และ 'โกมี' คู่สุนัขเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ มอบให้เป็นของขวัญแก่ 'มุนแจอิน' ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หลังจากที่มุนและภริยาเดินทางเยือนกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือเมื่อเดือน ก.ย. เพื่อสานต่อการเจรจาเพื่อสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีครั้งที่ 3 โดยโกมีซึ่งเป็นแม่พันธุ์ คลอดลูกสุนัข 6 ตัวเมื่อวันศุกร์ที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา แบ่งเป็นเพศผู้ 3 ตัว เพศเมีย 3 ตัว และทั้งหมดมีสุขภาพแข็งแรงดี

ภาพมุนแจอินอุ้มลูกสุนัขแรกเกิดได้รับการเผยแพร่ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ทำเนียบประธานาธิบดี ขณะที่ยอนฮัปและโคเรียเฮรัลด์ สื่อเกาหลีใต้ รายงานว่าสุนัขที่ผู้นำเกาหลีใต้ได้รับจากผู้นำเกาหลีเหนือ เป็นสุนัขสายพันธุ์พุงซาน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นในเกาหลี และมุนได้เลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ไว้แล้ว 1 ตัว ชื่อว่า 'โทรี' ทำให้จำนวนสุนัขพันธุ์พุงซานที่อยู่ในความดูแลของผู้นำเกาหลีใต้เพิ่มเป็น 9 ตัว

สุนัขที่ได้รับเป็นของขวัญ เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ความสัมพันธ์ที่อบอุ่นขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ หลังจากที่มุนแจอินเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่นาน และเดินหน้าเจรจาทางการทูตกับเกาหลีเหนือ จนบรรลุการลงนามในข้อตกลงเพื่อดำเนินการด้านสันติภาพและปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี เมื่อเดือน เม.ย. 2561 ทั้งยังมีการเดินทางเยือนแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ โดยกำหนดการครั้งต่อไป คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ จะเดินทางเยือนกรุงโซลของเกาหลีใต้ในเดือน ธ.ค.นี้

Reuters-มุนแจอิน-หมาพุงซาน-การทูตลูกหมา

(มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ อุ้มลูกสุนัขที่เกิดจาก 'โกมี' สุนัขพันธุ์พุงซาน ของขวัญจากผู้นำเกาหลีเหนือ)

อย่างไรก็ตาม ซงกังและโกมีไม่ใช่สุนัขพุงซานคู่แรกที่ผู้นำเกาหลีเหนือมอบให้ผู้นำเกาหลีใต้ โดยสำนักข่าวยอนฮัป รายงานว่าในสมัยของผู้นำคิมจองอิล บิดาของคิมจองอึน ได้มีการมอบสุนัขพุงซานเพศผู้และเพศเมียอย่างละตัวให้แก่คิมแดจอง อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้พยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีทั้งสองฝ่ายเมื่อปี 2543 และสุนัขทั้งคู่ได้รับการตั้งชื่อว่า อูรีและดูรี ซึ่งในตอนแรกได้รับการดูแลในทำเนียบประธานาธิบดี จนกระทั่งคิมแดจองพ้นจากตำแหน่ง สุนัขทั้งคู่จึงถูกนำไปเลี้ยงดูที่สวนสัตว์ประจำกรุงโซล 

ทั้งอูรีและดูรีได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมสวนสัตว์เป็นอย่างมาก เพราะมักจะมีผู้แวะเวียนไปถ่ายรูปหรือยืนดูสุนัขทั้งสองตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีครอบครัวในฝั่งเกาหลีเหนือแต่ต้องพลัดพรากจากกันหลังเเกิดสงครามเกาหลี และสุนัขทั้งคู่ตายในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อปี 2553 ขณะที่สุนัขสายพันธุ์นี้ถูกบันทึกในสารานุกรมของเกาหลีเหนือว่าเป็นสุนัขล่าเนื้อที่ฉลาด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ดุร้ายเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นนักล่า 


จีน 'ต้นตำรับ' การทูตแพนด้า

วารสาร Foreign Policy สื่อด้านนโยบายต่างประเทศ ระบุว่า 'การทูตลูกหมา' หรือการใช้สัตว์อื่นๆ เป็นเครื่องมือสานความสัมพันธ์ทางการทูตไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้นำรัฐหรืออาณาจักรเมื่อครั้งอดีตก็นิยมส่งสัตว์หายากหรือสัตว์แปลกไปเป็นของขวัญหรือบรรณาการให้แก่ผู้ที่ต้องการสานสัมพันธไมตรีด้วย โดยที่ธรรมเนียมดังกล่าวยังคงดำเนินมาจนถึงบัจจุบัน

บทความ Let Slip the Dogs of Diplomacy! ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Foreign Policy เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 ระบุว่า สัตว์หลากหลายประเภทถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเอาชนะใจทั้งศัตรู พันธมิตร หรือแม้แต่การข่มขวัญผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม โดยอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า มูฮัมหมัด อาลี ปาชา ผู้ปกครองอียิปต์ช่วง พ.ศ. 2363 ได้ส่งยีราฟ 3 ตัวไปยังอาณาจักรในยุโรป เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสันถวไมตรีระหว่างอาณาจักร

ส่วนการทูตที่อาศัยสิงสาราสัตว์ชนิดต่างๆ ในโลกยุคใหม่ ถูกบันทึกว่าเริ่มจาก 'จีน' ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยจีนส่งมอบแพนด้าให้กับสหภาพโซเวียตในปี 2493 แล้วจึงส่งมอบแพนด้าให้แก่ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในปี 2515 หลังจากนิกสันเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อหาทางสมานฉันท์กับจีน และในเวลาต่อมา นิกสันได้ส่งวัวมัสก์ หรือ Musk Ox รวม 3 ตัวให้แก่เหมาเจ๋อตง ผู้นำจีน

AFP-เหมาเจ๋อตง-ริชาร์ด นิกสัน-กุมภาพันธ์ 1972.jpg

(เหมาเจ๋อตง ผู้นำการปฏิวัติจีน ต้อนรับริชาร์ด นิกสัน อดีต ปธน.สหรัฐฯ ซึ่งเดินทางเยือนจีนเมื่อปี 2515 )

หลังจากนั้น หลายประเทศทั่วโลกก็ได้รับ 'แพนด้า' เป็นของขวัญจากจีนในฐานะทูตสันถวไมตรี รวมถึงไทยด้วย แต่บทความของ Foreign Policy ระบุเพิ่มเติมว่า ในยุคที่จีนเปิดประเทศ แพนด้าไม่ได้มีจุดมุ่งหมายทางการทูตเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะหลายครั้ง แพนด้าได้กลายเป็นเหมือน 'รางวัล' ที่จีนมอบให้แก่ประเทศที่ยอมดำเนินตามเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่ทางจีนเสนอไป แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศที่รับเลี้ยงดูแพนด้าก็ต้องจ่ายค่าสนับสนุนให้แก่จีนเป็นรายปีเป็นเงินจำนวนไม่น้อย


การทูตผ่านสัตว์ มีทั้งกระชับมิตรและข่มขวัญ

นอกเหนือจากแพนด้าของจีนแล้วก็ยังมี 'สุนัข' ของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่มีโอกาสปรากฏตัวผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง โดย Foreign Policy ระบุว่า เมื่อปี 2550 อังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุโรป เดินทางไปพบปูตินที่เมืองโซชีของรัสเซีย และระหว่างที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้พูดคุยกันเป็นการส่วนตัว ปูตินได้สั่งให้คณะทำงานของตนนำ 'คอนนี่' สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์สีดำตัวใหญ่เข้ามาบริเวณที่นั่งเจรจากันอยู่ ในขณะที่แมร์เคิลซึ่งกลัวสุนัข มีท่าทีไม่ไว้วางใจคอนนี่ แต่ปูตินกล่าวย้ำว่า สุนัขของเขาเป็นมิตรกับคนและไม่ทำตัวเกเรแน่ๆ 

แม้ภายหลังโฆษกของปูตินจะแถลงขออภัย พร้อมระบุว่าปูตินไม่ทราบมาก่อนว่าแมร์เคลนั้นกลัวสุนัข แต่สื่อต่างประเทศและนักวิเคราะห์ระบุว่าเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อที่จะบอกว่าปูตินไม่ทราบเรื่องที่แมร์เคิลกลัวสุนัข เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความลับ และปูตินเองก็เป็นถึงหน่วยข่าวกรองเคจีบีของรัสเซียมาก่อน ข้อแก้ตัวดังกล่าวจึงฟังไม่ค่อยขึ้น และการนำสุนัขตัวใหญ่อย่างคอนนี่เข้าใกล้ผู้นำเยอรมนีจึงมีนัยของการข่มขวัญอยู่ในที

(นักการเมืองอังกฤษเป็นหนึ่งในผู้ทวีตภาพขณะที่ปูตินต้อนรับแมร์เคล ระบุว่าปูตินจงใจใช้สุนัขข่มขวัญอีกฝ่าย)

อย่างไรก็ตาม ความรักและเอ็นดูที่ปูตินมีให้กับสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะสุนัข เป็นเรื่องที่มองเห็นได้ชัด ในปี 2560 ผู้นำเติร์กเมนิสถานได้เดินทางไปยังรัสเซียเพื่อเข้าพบปูติน โดยหวังจะเจรจาเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานด้านเชื้อเพลิงกับรัสเซีย ได้มอบสุนัขสายพันธุ์พื้นเมืองให้เป็นของขวัญแก่ปูติน ซึ่งเมื่อได้รับของขวัญก็มีทีท่าชื่นชอบเป็นอย่างมาก และแม้จะไม่อาจบอกได้ชัดเจนว่าสุนัขของผู้นำเติร์กเมนิสถานได้ผลดีมากน้อยเพียงไร แต่รัสเซียก็จะพิจารณาต่อสัญญากับเติร์กเมนิสถานในปีหน้าอย่างแน่นอน

ส่วนการทูตผ่านสัตว์ที่ได้รับการบันทึกว่าได้ผลดีทางการทูต ได้แก่ 'โคอาลา' ที่โทนี แอบบอตต์ อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเมื่อปี 2557 นำมามอบให้แก่ผู้นำประเทศกลุ่มจี20 ที่เดินทางไปร่วมการประชุมที่ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพในปีนั้น ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่รัสเซียกำลังถูกหลายประเทศคว่ำบาตรในข้อหาแทรกแซงการเมืองการปกครองยูเครน ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าบรรยากาศในการประชุมอาจตึงเครียดจนทำให้ไม่อาจออกแถลงการณ์ความร่วมมือระหว่างประเทศได้ แต่หลังจากที่ผู้นำแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงวลาดิเมียร์ ปูติน อังเกลา แมร์เคล และบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้อุ้มและเล่นกับโคอาลาที่ออสเตรเลียจัดเตรียมไว้ให้ ก็ช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น


ผู้นำอเมริกัน ไม่ขอรับ 'ช้างพระราชทาน' จากสยาม

สัตว์ที่ทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีที่น่าจดจำและโดดเด่นอีกตัวหนึ่ง คือ 'นากา' มังกรโคโมโด ซึ่งเป็นของขวัญจากอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย ที่มอบให้กับอดีตประธานาธิบดี จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ ช่วงปี 2533 และนากาได้รับคำยกย่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานว่าเป็น กิ้งก่ายักษ์ที่เซ็กซี่ที่สุดในโลก และถูกนำไปไว้ที่สวนสัตว์ซินซินเนติ ทั้งยังผสมพันธุ์กับคู่ของมันจนออกลูกหลานมาอีก 32 ตัว

AFP-อับราฮัม ลินคอล์น-Abraham Lincoln-ผู้นำสหรัฐ.jpg

(อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 16 เป็นผู้ส่งสาสน์ชี้แจงเหตุผลที่สหรัฐฯ ไม่อาจรับช้างจากสยาม)

นอกจากนี้ เอกสารของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า เมื่อปี 2404 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชสาสน์ลงวันที่ 14 ก.พ. 2404 ถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยนั้น ซึ่งตรงกับสมัยของเจมส์ บิวแคนัน โดยระบุว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานช้างหลายกิ่งเพื่อช่วยในกิจการคมนาคมในพื้นที่ห่างไกลของสหรัฐฯ พร้อมทั้งพระราชทานของที่ระลึกจากราชอาณาจักรสยามเป็นดาบและพระบรมฉายาลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 และพระทายาทพระองค์หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พระราชสาสน์ส่งถึงสหรัฐฯ ในช่วงที่บิวแคนันกำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ทำให้อับราฮัม ลินคอล์น ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยต่อมา เป็นผู้ตอบพระราชสาสน์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแทนบิวแคนัน

จดหมายของประธานาธิบดีลินคอล์น ลงวันที่ 3 ก.พ. 2405 ระบุว่า ทางสหรัฐฯ ขอน้อมรับดาบและพระบรมฉายาลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่ขอปฏิเสธที่จะรับช้างจากสยาม เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของสหรัฐฯ ไม่เหมาะสมที่ช้างจะอาศัยอยู่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: