ไม่พบผลการค้นหา
​ช่วง 2 ทศวรรษแรก ละครค่ายเอ็กแซ็กท์เคยเป็นละครที่มีดูทันสมัย และมีเนื้อหาที่แตกต่าง รวมถึงเรื่องการเมือง ละครเอ็กแซ็กท์เคยแตะเรื่องต้องห้ามอย่างการรำลึก 6 ตุลาฯ นำเสนอภาพนักการเมืองที่ดี แล้วสุดท้ายก็มาถึงยุคละครเอ็กแซ็กท์มองผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนเป็นบาป

พรรคธรรมนำไทย ที่มีตัวย่อ พนท. ในเรื่อง ล่า (2560) เป็นเพียงข้อความทางการเมืองล่าสุดที่ละครเอ็กแซ็กท์ส่งออกมาเท่านั้น จริงๆ แล้วเอ็กแซ็กท์และซีเนริโอเป็นค่ายละครที่ส่งข้อความทางการเมืองบ่อยมาก อาจจะมากที่สุดในบรรดาค่ายละครทั้งหมด โดยเฉพาะช่วงโพสต์ทักษิณ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะคุณบอย ถกลเกียรติก็เป็นลูกชายของศ.อำนวย วีรวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีมีความคุ้นเคยกับวงการการเมือง

นอกจากนี้ การพูดถึงประเด็นการเมืองในผลงานของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่ทุกคนควรมีอย่างทั่วถึง มันเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับวงการบันเทิงต่างประเทศ ขนาดซีรีส์เรื่อง American Horror Story ตอน Cult ทั้งตอนยังพูดถึงการเมืองอเมริกันทั้งตอน แล้วก็บอกเลยว่า เรื่องนี้อยู่ในยุคของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน แต่ก็น่าสนใจดีในฐานะอดีตแฟนละครเอ็กแซ็กท์ ที่จะลองย้อนดูความคิดเห็นทางการเมืองที่ออกมาจากละครของเอ็กแซ็กท์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง



ล่า.jpg

(พรรคธรรมนำไทยที่มีโลโก้คล้ายกับพรรคเพื่อไทย จนถูกท้วงติง)

'ช่างมันฉันไม่แคร์' (2536)

เรื่องแรกนี้เป็น ภาพยนตร์รางวัลของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือหม่อมน้อย เรื่องนี้หม่อมน้อยเคยทำเป็นภาพยนตร์ก่อนในปี 2529 โดยมีนักแสดงคู่ขวัญสินจัย หงษ์ไทย (เปล่งพานิช) และลิขิต เอกมงคล และเมื่อเอ็กแซ็กท์เปิดตัวละครเรื่องรักในรอยแค้นอย่างสวยงามในปี 2535 หม่อมน้อยก็ได้นำเรื่องนี้มาทำใหม่เป็นละครให้กับเอ็กแซ็กท์ในปี 2536 โดยให้สินจัยแสดงเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนพระเอกเป็นสามารถ พยัคฆ์อรุณ

'ช่างมันฉันไม่แคร์' เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของพิมพรณี ครีเอทีฟสาวปราดเปรียวในบริษัทโฆษณา หรือที่เธอเรียกว่าเป็น 'กะหรี่ทางปัญญา' กับเบิร์ด หนุ่มต่างจังหวัดเข้ากรุงมาเป็นจิ๊กกะโล่ (ผู้ชายขายบริการทางเพศ) ส่งเงินให้ครอบครัว ตอนหนึ่งพิมได้เล่าว่า เธอเป็นแอคทิวิสต์อยู่ธรรมศาสตร์ ต้องพบเจอความโหดร้ายของการปราบปรามนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงขั้นพูดว่า "ขอให้เสรีภาพจงเจริญ" และเล่าถึง 'คนเดือนตุลาฯ' ที่เปลี่ยนแปลงจากหนุ่มสาวผู้เปี่ยมอุดมการณ์มาเป็นนักธุรกิจใหญ่และนักโฆษณา หรือ 'กะหรี่ทางปัญญา' ในระบบทุนนิยม



reply1261311_8021.jpg

(โปสเตอร์ ช่างมันฉันไม่แคร์ ปี 2529)

เพลงประกอบละครเพลงนี้ก็มีนัยการเมืองที่สำคัญ ก่อนจะมีภาพยนตร์ มีเพลงที่ชื่อ "ช่างมันฉันไม่แคร์" อยู่ก่อนแล้ว เป็นเพลงของหงา คาราวาน ซึ่งเป็นคนเดือนตุลาฯ เพลงว่าด้วยชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไป และหวังว่าพรุ่งนี้จะได้เห็น 'สุดขอบรุ้ง' และในเรื่องนี้ นางเอกก็ร้องเพลง 'สุดขอบสายรุ้ง' ซึ่งแปลมาจากเพลง Somewhere Over The Rainbow เพลงที่ชาวยิวแต่งถึงชีวิตอันไร้เสรีภาพในค่ายกักกันและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีเยอรมัน

ดังนั้น ภาพยนตร์เรื่อง 'ช่างมันฉันไม่แคร์' จึงเป็นภาพยนตร์รำลึก 10 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พอดี และในขณะที่มีการสั่งห้ามจัดงานรำลึก 6 ตุลาฯ ไปในปี 2535 ละครเรื่องนี้ก็กลับมาฉายภายใต้แบรนด์ของเอ็กแซ็กท์ในปี 2536

'พิษกุหลาบ' (2543)

ตอนเด็กชอบ 'พิษกุหลาบ' ของผอูน จันทรศิริ มาก เพราะเนื้อเรื่องแปลกจากละครเรื่องอื่น เป็นละครแนวฆาตกรโรคจิตเพียงไม่กี่เรื่องของไทย ที่น่าสนใจก็คือ นางเอกเป็นนักการเมือง วีรดาแสดงโดยสินจัย เปล่งพานิชเป็นนักการเมืองหญิงของพรรคพิทักษ์ไทยที่เก่งช่วยเหลือเด็กและ สตรี เธอเป็นไอดอลของอริน แสดงโดยน้ำผึ้ง ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ อรินอยากทำงานใกล้ชิดกับวีรดามาก จนวางแผนทำร้ายและฆ่าคนอื่นไปหมด จนถึงวันหนึ่ง อรินก็อยากแย่งชีวิตครอบครัวและงานของวีรดามาเป็นของตัวเอง

ด้วยความสัตย์จริง แม้ละครเรื่องนี้จะผ่านไป 18 ปีแล้ว แต่ยังจำได้อยู่เลยว่าวีรดาลงสมัครเลือกตั้งเบอร์ 35 ซึ่งเหตุผลที่จำได้ก็เพราะปี 2543 มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางปวีณา หงสกุลจากพรรคชาติพัฒนาหมายเลข 3 ส่วนนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์จากพรรคไทยรักไทยหมายเลข 5 ทั้งสองคนนี้ก็กระแสมาแรงมากเหมือนกัน แม้จะสู้นายสมัคร สุนทรเวชไม่ได้ ซึ่งไม่รู้ว่าผู้เขียนบทตั้งใจนำ 2 คนนี้มาสร้างตัวละครวีรดาหรือไม่ แต่ปัจจุบันทั้งสองคนนี้อาจถูกมองไม่ดีแล้วก็ได้ เพราะเข้าร่วมกับตระกูลชินวัตร

แม้ในเรื่องจะมีนักการเมืองเลวอยู่ แต่นางเอกก็เป็นนักการเมืองที่ดี ทำเพื่อสังคม มีความสามารถจนขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีได้ ซึ่งหาได้ยากเหลือเกินในละครไทย หลังปี 2540 ประชาธิปไตยเฟื่องฟูขนาดที่เรามีนางเอกเป็นนักการเมืองที่ดีทำเพื่อประชาชน แม้ละครเรื่องนี้จะมีทัศนคติที่ว่า ผู้หญิงทำงานหนัก ไม่ทำหน้าที่แม่หน้าที่เมียที่ดีจนครอบครัวพัง แต่ถือว่าละครเรื่องนี้มีบทสนทนาเกี่ยวกับการเมืองที่น่าสนใจ มีการถกเถียงกันระหว่างคนในพรรคพิทักษ์ไทยเสมอๆ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เรื่องงบประมาณ เรื่องผลประโยชน์ของประชาชน

อีกประเด็นที่น่าสนใจมากก็คือ ตอนที่วีรดาลงเลือกตั้ง ส.ส.แล้วชนะด้วยคะแนนที่ค่อนข้างสูสี แล้วสมาชิกพรรคอีกคนมองว่า คะแนนเสียงที่เทไปให้คู่แข่งดูชอบมาพากล อาจมีการซื้อสิทธิขายเสียงเกิดขึ้น แต่สุดท้ายนางเอกก็ชนะมาได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประชาชนไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง พวกที่ไม่ทำงานซื้อเสียงประชาชนไม่ได้แล้ว

ช่วงทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี

น่าแปลกดีเหมือนกันที่ช่วงปี 2544 - 2549 หรือช่วงที่ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี เอ็กแซคท์ไม่ค่อยมีละครที่การเมืองจ๋าๆ เท่าไหร่ มีละครพวก เมืองมายา เดอะ ซีรีส์ ดราม่ากันเองในวงการบันเทิง / เลือดขัตติยา ซึ่งจริงๆเนื้อเรื่องก็เป็นการเมืองอยู่ แต่ก็ไม่ได้กระทบกระเทียบการเมืองขณะนั้นมากนัก และทุกอย่างดูซอฟต์ใสเมื่อเป็นอ้อม พิยดา และติ๊ก เจษฏาภรณ์ หรือไม่ก็รักกุ๊กกิ๊กไปเลย

เรื่องตะวันตัดบูรพา (2544) เองก็มีนักการเมืองไม่ดีอยู่เบื้องหลังแก๊งอาชญากรรมอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เจาะจงว่าใครเป็นพิเศษ อันที่จริง นักการเมืองที่อยู่ในละครหรือภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็มักเป็นตัวร้าย ไม่ได้เป็นเฉพาะในละครไทย ประเทศอื่นๆ ก็เป็น เพราะนักการเมืองเป็นผู้ที่มีเงินทุน มีอำนาจ จึงเป็นตัวร้ายที่ดีสำหรับละครและภาพยนตร์ อาจโกงเงิน อาจร่วมมือกับนายทุนเอาเปรียบประชาชน หรือขายยาเสพติด

รัชดาลัย (2550 - ปัจจุบัน)

หลังการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของทักษิณปี 2549 ได้ไม่กี่เดือน โรงละครรัชดาลัย เธียเตอร์ก็เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ และได้นำละครเวทีบัลลังก์เมฆมาทำใหม่ ไม่แน่ใจว่าเวอร์ชั่นปี 2544 เป็นอย่างไร แต่เวอร์ชั่น 2550 แซะนักการเมือง แซะคนโกง แซะการขายหุ้นไม่เสียภาษี แซะการซื้อทีมฟุตบอล ซึ่งก็รู้ได้ว่าต้องการวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ

นับตั้งแต่เปิดโรงละคร รัชดาลัยได้กลายเป็นสถานที่ปลุกจิตสำนึก เป็นแหล่งขัดเกลาจิตใจด้วยคุณธรรมที่คนดีพึงมี เรื่องที่เลือกมาแสดงได้ถูกคัดสรรมาอย่างดี อย่างเรื่องทวิภพ ฟ้าจรดทราย เลือดขัตติยา ซึ่งมีธีมว่าจะต้องทำเพื่อชาติ ต้องปกป้องชาติจากคนเลวหรือจากต่างชาติ เรื่องหงส์เหนือมังกรและลอดลายมังกรก็จะพูดถึงการเป็นคนจีนที่เข้ามาพึ่งพระ บรมโพธิสมภาร ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน และต้องมีความพอเพียง ไม่แก่งแย่งชิงดีกัน

ส่วนเรื่องสี่แผ่นดิน เดอะ มิวสิคัล ก็ถูกนำกลับมาทำเรื่อยๆ รวมกว่า 200 รอบ ถือเป็นละครเวทีที่มีรอบฉายมากที่สุดของรัชดาลัย ทุกคนก็คงรู้จักเรื่องนี้กันดีอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่เชิดชูสถาบัน ขณะเดียวกันก็โจมตีคณะราษฎรว่าชิงสุกก่อนห่าม ยึดอำนาจไปไว้ที่พวกพ้องกันเอง ดำเนินเรื่องโดยแม่พลอยที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทบอกว่า "แม่พลอยนี่เป็นคนที่เชยที่สุด คุณจะว่านางเอกก็นางเอก แต่เป็นคนเชยที่สุด แม่พลอยถ้าแกอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แกก็ลูกเสือชาวบ้าน" และยังบอกว่า "ที่นี่คนอ่านคนไทย ปลื้มอกปลื้มใจ เห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอย ก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้น ยังไม่ได้ไปถึงไหนเลย คนอ่านส่วนมากก็เป็นระดับแม่พลอย โง่ฉิ*หายเลย..จะบอกให้..สี่แผ่นดินถึงได้ดัง"

ละครหลังการสลายชุมนุมปี 53

หลังการสลายชุมนุมที่ราชประสงค์ในปี 2553 เป็นเหมือนการตอกย้ำชัยชนะของผู้ธำรงความดี เพราะคนตายไปเกือบร้อยศพ ก็ล้วนเป็นคนที่สนับสนุนคนขายชาติ คนดีมีการศึกษาเท่านั้นที่ควรมีสิทธิมีเสียง การด่านักการเมือง พวกคนขายชาติ คณะราษฎรว่าชิงสุกก่อนห่าม ที่เคยไปอยู่ในโรงละครปิด ก็ขยายออกมาอยู่ในละครโทรทัศน์แบบไม่ต้องเขินอาย อย่างในละครเรื่องมาลัยสามชาย (2553) หรือ พิษสวาท (2559) รวมถึง ล่า (2560) ละครเรื่องล่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เอ็กแซคท์ต้องการทำหน้าที่เป็นผู้ชี้นำทางศีลธรรมให้กับสังคมไทย

ล่า (2560)

ปัญหาสำหรับ ล่า ก็มีอยู่ 2 เรื่องหลักๆก็คือ 1. ล่า จับประเด็นใหญ่เกินความสามารถของตัวเอง 2. ล่า ทำงานหยาบเกินไป

ที่บอกว่าจับประเด็นใหญ่เกินไปก็เพราะวรรณกรรมเรื่องนี้แตะประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากอยู่แล้วคือ เรื่องการคุกคามทางเพศ อาการทางจิต ความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการทางกฎหมาย และการตั้งตนเป็นศาลเตี้ยทวงความยุติธรรมให้ตัวเองและลูก ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ใหญ่มาก และละครเวอร์ชั่นปี 2537 ของเอ็กแซ็กท์ที่สินจัยเล่นกับทราย เจริญปุระ ก็รักษาเนื้อหาของวรรณกรรมไว้ดีเลยทีเดียว และจบด้วยการที่มธุสรฆ่าไอ้แป๊วก็คือจบภารกิจแล้ว เธอก็หลุดไปแล้ว จำใครไม่ได้อีกนอกจากลูก แต่เวอร์ชั่นนี้ดันอยากจะมีสาระ เลยให้มธุสรยังพูดจารู้เรื่อง มาขึ้นศาล มาต่อสู้คดีต่อ เข้าใจว่าอาจจะเล่นประเด็นเดียวกับหนังเรื่อง Lipstick ที่คนคิดว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ทมยันตี บวกกับการตั้งธงรณรงค์ ข่มขืนเท่ากับประหาร ไปอีก รวมถึงลากนักการเมืองเลวและพรรคเลวๆ เข้ามาให้มีปมเพิ่มอีก

ส่วนเรื่องงานหยาบในที่นี้ก็หมายถึงบท หลายคนก็พูดไปแล้วอย่างกระบวนการบนชั้นศาลที่ไม่สมจริงซะจนคนอาจไม่อยากแจ้งความ ทั้งที่กระบวนการต่อสู้จริงก็ลำบากมากพอแล้ว นี่ก็ยังทำให้มันดูแย่ลงไปอีกอย่างกับส่งเสริมให้คนเป็นศาลเตี้ยตามมธุสร บ้านเมืองไม่ต้องมีขื่อมีแปกันแล้วค่ะ และที่สำคัญ ไม่รู้ว่าการรัฐประหารซ้ำสองนี้ไปทำท่าไหนให้เอ็กแซ็กท์เกลียดชังคำว่า 'สิทธิมนุษยชน' ได้ถึงขนาดนี้ เอ็กแซ็กท์อาจหาญถึงขั้นให้คนต้องเลือกระหว่าง 'สิทธิมนุษยชน' กับ 'ความยุติธรรม' 

ในเรื่อง ตัวละครที่เข้าข้างมธุสรก็จะบอกว่า สมควรแล้วที่มธุสรฆ่า 7 ทรชน จริงๆ โทษข่มขืนมันต้องประหาร ส่วนตัวละครที่ค้านก็จะถูกยัดคำพูดใส่ปากว่า ฆ่าคนมันละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นอะไรที่กำปั้นทุบดินมาก และทำให้คนที่สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นคนโลกสวย หรือเป็นคนไร้หัวใจไปเสียอย่างนั้น แต่หากทีมเขียนบททำการบ้านเสิร์ชกูเกิลสักหน่อยก็จะพบว่า เหตุผลหลักที่คนไม่อยากให้ข่มขืนเท่ากับประหาร เพราะโทษประหารจะทำให้ผู้กระทำตัดสินใจฆ่าผู้ถูกกระทำมากขึ้น เพื่อไม่ให้ไปแจ้งความได้ ซึ่งเหตุผลนี้ไม่ได้โลกสวยเลย เป็นเหตุผลที่อยู่บนพื้นฐานความจริงมาก ดังนั้น บทจึงสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนถึงความคับแคบของทีมเขียนบทและอคติที่มีต่อคำว่า 'สิทธิมนุษยชน' 

จากนักศึกษาต่อต้านเผด็จการที่เจ็บปวดจากการถูกทหารและฝ่ายขวาจัดปราบปราม เติบโตขึ้นเป็นนักการเมืองผู้เชื่อมั่นในเสียงของประชาชน ผันตัวมาเป็นผู้ทรงธรรมที่คอยสั่งสอนศีลธรรมให้พวกคนโง่เขลา สู่ผู้พยายามนำสังคมเกลียดชังสิทธิมนุษยชน มันน่าเศร้าที่ค่ายละครที่ดูทันสมัยและเหมือนจะหัวก้าวหน้าที่สุดเมื่อ 20 - 30 ปีก่อนจะกลายมาเป็นขนาดนี้ได้ ในขณะที่ฮอลลีวูดพยายามเป็นผู้นำสังคมด้วยการต้านการคุกคามทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ การควบคุมปืน ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ส่งเสริมเสรีภาพสื่อ และอีกมากมายจนบางคนมองว่าฮอลลีวูดเป็นพวกซ้ายจัด แต่เรื่องที่เรียกร้องก็มักไปในทิศทางที่ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 

ย้ำแล้วก็จะย้ำอีกว่า เอ็กแซ็กท์มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการแสดงออกทางการเมืองหรือแนวคิดต่างๆ ผ่านละครของตัวเอง อันที่จริงมันก็เป็นเรื่องดีที่ทำให้คนหันมาพูดถึงประเด็นการเมืองและสังคม และจะดีกว่านี้ หากคนที่มีสื่ออยู่ในมือจะส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะการันตีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของทุกคนได้มากกว่านี้ หากเราสามารถพูดคุยกันได้อย่างเต็มที่ พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานก็จะยิ่งกว้างขึ้นด้วย ได้ยินเสียงของคนดูละครและคนในสังคมได้มากขึ้น โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่เอ็กแซ็กท์ให้ความสำคัญอย่างมากมาโดยตลอด เพื่อนำไปปรับปรุงผลงานของตัวเอง