ไม่พบผลการค้นหา
ผ่านมากว่า 1 สัปดาห์ของการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล นับแต่วันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น จึงนำมาสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม. นำมาซึ่งการจับกุมแกนนำ แม้จะมีการปล่อยตัวมาจำนวนมาก แต่แกนนำระดับแนวหน้ายังคงถูกจับกุมอยู่

การชุมนุมยังคงมีต่อเนื่องในพื้นที่ กทม. คู่ขนานต่างจังหวัด เป็นลักษณะ ‘ดาวกระจาย’ และเป็น ‘แฟลชม็อบ’ ที่กระจายหลายจุด เกิดขึ้นและยุติอย่างรวดเร็ว โดยไร้ ‘แกนนำ’ ตามแนวทางของการชุมนุมที่ระบุว่า ‘ทุกคนคือแกนนำ’ 

หากเทียบกับหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อ 10 ปีก่อน ที่ ‘มวลชน’ ได้กลายเป็น ‘แกนนอน’ แทน

ในความพยายาม ‘แก้ปม’ ของรัฐบาลก็กลับมีการสร้าง ‘เงื่อนไข’ เพิ่มขึ้นมาในตัว แม้รัฐบาลจะเคาะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ 26-27 ต.ค.นี้ แต่กลับมีการปล่อยให้มีมวลชนเสื้อเหลืองออกมา ‘แสดงพลังตีคู่’ กับการชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ทำให้เกิดการหวั่นเกรงว่าจะมีเหตุการณ์ ‘ม็อบชนม็อบ - ม็อบเฉี่ยวม็อบ’ อีกหรือไม่

การนัดชุมนุมของ ‘คนเสื้อเหลือง’ โดยเฉพาะ ‘ชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน’ เกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงกันในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเริ่มนำร่องในพื้นที่ จ.ชลบุรี เมื่อ 20ต.ค.ที่ผ่านมา จึงต้องจับตาว่าการชุมนุมของ ‘คนเสื้อเหลือง’ จะขยับเข้า กทม. ชุมนุมใหญ่หรือไม่ ซึ่งตามมาด้วยการวิจารณ์ถึง ‘มาตรฐาน’ ในการควบคุมการชุมนุมที่เกิดขึ้นด้วยว่า ‘สองมาตรฐาน’ หรือไม่

การชุมนุมของผู้ต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะภาพของ ‘คนรุ่นใหม่’ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ‘ฮ่องกงโมเดล’ โดยเฉพาะการชุมนุมในพื้นที่ กทม. ที่มีรูปแบบที่ปรับเปลี่ยน ที่แต่ละฝ่ายลดการเผชิญหน้ากัน 

REUTERS-ม็อบ16ตุลา 16ตุลาไปแยกปทุมวัน รถฉีดน้ำแรงดันสูง สลายชุมนุม ร่ม-Jorge Silva

อีกทั้งไม่ใช่ความรุนแรงในการชุมนุมเท่ากับที่ฮ่องกง จึงเป็นรูปแบบ ‘บางกอกโมเดล’ โดยผู้ชุมนุมได้วางระบบจัดการชุมนุมกันเอง เช่น การสั่งกันเองหรือเตือนกันเอง เปิดพื้นที่ให้อิสระในการขึ้นปราศรัย การยุติการชุมนุมในเวลารวดเร็ว เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ในภาพไร้แกนนำ ก็มีแกนนำอยู่ภายใน เช่น ผู้นัดสถานที่ชุมนุม การประสานงานระหว่างแต่ละพื้นที่ การวางแผนชุมนุมในแต่ละวัน การประสานงานกับสื่อมวลชน การประสานกับ ตร. จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘แกงเทโพ’ ที่เป็นคำล้อมาจาก ‘แกล้ง-เททิ้ง-โพลิส’ ในการหลอกล่อ ตร. ไม่ให้รับมือได้ทัน รวมทั้งการตั้ง Telegram ขึ้นมาสื่อสาร เป็นต้น

รวมทั้ง ‘บิ๊กเซอร์ไพรส์’ ที่เกิดขึ้น 21 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังผู้ชุมนุมได้เคลื่อนจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปยัง ทำเนียบฯ โดยขีดเส้น 3 วัน ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ไม่เช่นนั้น จะกลับมาเจออีก และขอให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้มาชุมนุมทั้งหมด 

โดยแกนนำได้มอบหนังสือลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่าน ‘ประทีป กีรติเลขา’ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. จากนั้นผู้ชุมนุมได้ยุติการชุมนุม 

ม็อบ คณะราษฎร ชุมนุม อนุสาวรีย์

ซึ่งในกรณีวันที่ 21ต.ค.นั้น นอกจาก ตร. ควบคุมฝูงชน ที่ทำการปิดกั้นผู้ชุมนุมรอบทำเนียบฯแล้ว ก็มี ‘ทหาร’ มายืนแถวทำหน้าที่ป้องกันตามจุดต่างๆ รอบทำเนียบฯ โดยสวมเสื้อเหลือง-กางเกงสีดำแทน โดยมองว่าเพื่อเป็นการ ‘ลดโทน’ หากสวมชุดฝึกลายพรางออกมาตั้งแถว อาจทำให้ภาพของ ‘ทหาร’ เด่นชัดจนเกินไป 

สำหรับ ‘กำลังทหาร’ ได้มาประจำการที่ ทำเนียบฯ ตั้งแต่เช้า 15ต.ค. หลัง นายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ในพื้นที่ กทม. โดยส่วนของ ทำเนียบฯ เป็นทหารจาก พล.ร.9 กาญจนบุรี

แม้ ตร. จะลดระดับปฏิบัติการเชิงรุกต่อการชุมนุมพื้นที่ต่างๆ แต่ยังคงซุ่มเงียบปฏิบัติอื่นๆแทน เช่น การตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ  หนุ่งในนั้น คือ การตรวจสอบโรงงานผลิตหมวกกันน็อก หลัง ‘บุ๊ง-ปกรณ์ พรชีวางกูร’ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ระบุว่า โรงงานหมวกกันน็อกที่เคยสั่งจัดทำเพื่อแจกให้กับผู้ชุมนุม ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นพื้นที่

ม็อบ 21 ต.ค. แยกยมราช ทำเนียบ

โดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. ชี้แจงว่า ยังไม่ได้รับรายงานชัดเจน แต่อาจเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจจับหมวก ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ส่วน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ยังไม่มีการจับกุม คาดเป็นเฟคนิวส์ โดยจะส่งเรื่องให้ บก.ปอท. ตรวจสอบต่อไป

โดยปฏิบัติการเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการ ‘ตัดกำลัง’ ฝั่งผู้ชุมนุมไปในตัวด้วย 

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลงนามยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในพื้นที่ กทม. ไปแล้ว แต่ก็มีการมองว่าเป็นการ ‘ถอย’ เพื่อ ‘รุก’ หรือไม่ เพราะก็ทำให้ ‘ฝ่ายหนุนรัฐบาล’ ออกมาเคลื่อนไหวได้ง่ายเช่นกัน เพราะหากดูจากแถลงการณ์นายกฯ ที่ให้ทุกฝ่าย ‘ถอยคนละก้าว’ แต่แฝงไปด้วยคำแห่งการ ‘ขยับ’ อยู่ในสารที่ส่งออกมา

รวมทั้งปฏิบัติการเชิงรุกของฝ่ายรัฐบาล ในการ ‘ชิงพื้นที่สื่อ’ ผ่านคนเสื้อเหลืองที่ออกมาแสดงพลัง อีกทั้งการดำเนินคดีบุคคลต่างๆ เช่น ความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 110 กับ ‘เอกชัย หงส์กังวาน - บุญเกื้อหนุน เป้าทอง - สุรนาถ แป้นประเสริฐ’ จากกรณีขบวนเสด็จฯ ความผิดฐานขัดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ ของบบรดาแกนนำย้อนหลัง เป็นต้น และการ ‘สู้ในโลกไซเบอร์’ ผ่านการปั่นแฮชแท็ก ต่างๆในช่วงนี้

แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกลับมาชั่งน้ำหนัก คือ คำสั่งระงับออกอากาศสื่อออนไลน์ 5 แห่ง โดย นายกฯ ได้ส่งสัญญาณทบทวนคำสั่งดังกล่าว โดยย้ำถึงสิทธิเสรีภาพสื่อ หลังถูกวิจารณ์หนักและถูกกดดัน ล่าสุดศาลอาญาได้ยกเลิกคำสั่งปิดสื่อ 5 แห่ง โดยชี้ว่ารัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติคุ้มครองสื่อในการเสนอข่าว และผู้ร้องไม่แสดงเหตุชัดเจนในความผิด

ซึ่งในอดีตเคยมี ‘บทเรียน’ มาแล้ว ในยุค รสช. ในการปิดกั้นสื่อ จนนำมาสู่การมาชุมนุมของเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ 2535’ ในขณะนั้นผู้ชุมนุมติดต่อกันผ่านมือถือ จนได้ชื่อว่าเป็น ‘ม็อบมือถือ’ แต่ในปัจจุบันเป็นยุคโซเชียลฯที่การปิดกั้นทำได้ยาก 

แต่ก็เปรียบเป็น ‘ดาบสองคม’ ต่อผู้ชุมนุม ที่ข่าวสารมีจำนวนมาก ต้องระมัดระวังการรับข่าวสารกันเองด้วย และความพยายามของ จนท. ในการปิดเพจ ‘ประชาชนปลดแอก’ ที่ใช้ในการสื่อสารกับมวลชน อาจนำมาซึ่งความสับสนอลหม่านกว่าเดิมด้วย เพราะ ‘ช่องทางหลัก’ ได้ถูกปิดลงไป

ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ.

ท่ามกลางกระแสข่าว ‘รัฐประหาร’ ที่เกิดขึ้นช่วงวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังช่วงเย็น 17ต.ค. มีการแชร์ภาพกรุ๊ปไลน์ภาพพื้นหลังเป็นโลโก้พรรคการเมืองหนึ่ง โพสต์ปั่นข่าวว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. เรียกประชุม 4 ผบ.เหล่าทัพ ที่สโมสร ทบ. เวลา 17.00น. โดยคาดว่าเตรียมประกาศรัฐประหาร ยึดอำนาจ

ทั้งนี้มีรายงานว่า ช่วง 17-18 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่ได้เข้าไปที่สโมสร ทบ. แต่ได้ประชุมและติดตามสถานการณ์ ที่ บก.ทบ. เท่านั้น โดยไม่มี ผบ.เหล่าทัพ คนอื่นๆ โดยขณะนี้มีเพียงกำลัง ตร. ในการดูแลสถานการณ์เป็นหลัก 

ในส่วนของกำลังทหารดูแลเพียงสถานที่ราชการใน กทม. ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ เช่น พล.ร.9 จ.กาญจนบุรี ดูแลทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น โดยใช้กำลังทหารจาก พัน.ร.มทบ.11 ที่ดูแลพื้นที่ กทม. อยู่แล้ว และใช้กำลังจาก พล.ร.11 จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมด้วย โดยหน่วยที่ดูแลพื้นที่ กทม. เดิม คือ ร.1 ทม.รอ. และ ร.11 ทม.รอ. ได้โอนหน่วยออกนอก ทบ. ไปแล้ว

หากไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะพบว่าพร้อม ‘เกิดเงื่อนไข’ ที่อาจนำมาสู่การใช้ ‘ยาแรง’ มากกว่า ‘ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง’ ขึ้นได้เสมอ แม้จะยกเลิกไปแล้วก็ตาม ในความพยายามว่า ‘ดูถอย’ ของรัฐบาล ก็กลับ ‘ดูรุก’ มากขึ้น เพื่อสยบเหตุการณ์ 

จึงต้องจับตาการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ สุดท้ายแล้วจะเป็นเพียง ‘ปาหี่’ หรือกลายเป็น ‘อีกเงื่อนไข’ ในการ ‘ใช้ยาแรง’ ของรัฐบาลในอนาคตหรือไม่

ย้อนดู ‘บทเรียน’ ปี 2557 ให้ดี !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog