ไม่พบผลการค้นหา
24 มี.ค. 2563 ครบ 1 ปี การเลือกตั้งครั้งสำคัญของคนไทยในรอบครึ่งทศวรรษ รัฐบาลเรือแป๊ะยังลอยลำ ท่ามกลางสนิมที่กัดกร่อน และสถานการณ์คลื่นลมรอบด้านที่ถาโถม ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง และเริ่มฝุ่นตลบทันทีตั้งแต่เปิดหีบ หลายหน่วยเลือกตั้งผู้มาใช้สิทธิพบความไม่ชอบมาพากล

บางพื้นที่ป้ายหาเสียงข้างพรรคการเมืองยังแปะหรา เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการแปะป้ายผู้สมัครให้เห็นเด่นชัด ผนวกกับวิธีลงคะแนนวิปริตต่างเขตต่างเบอร์ สร้างความสับสนงุนงง

ปิดหีบ 5 โมงเย็นยิ่งสับสนผลนับคะแนนไม่เป็นทางการสวนทางความรู้สึกคนไทยทั้งประเทศ กรรมการการนับคะแนน ชี้แจงพัลวันผลรวมคะแนน ไม่ตรงยอดผู้มาใช้สิทธิเรียก "บัตรเขย่ง" เป็นเรื่องปกติเกิดขึ้นได้ แต่ไม่อาจเรียกความมั่นใจ เหตุลือสะพัดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง โกงครั้งประวัติศาสตร์ หัวละ 1,000 - 2,500 บาท แลกบัตรประชาชน 

บัตรเขย่งยังไม่จบ กว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แบบไม่เป็นทางการใช้เวลา 4 วัน ต่ำกว่ามาตรฐาน 'คณะกรรมการการเลือกตั้ง' (กกต.) ชุดก่อนๆ ที่ใช้แค่คืนเดียวก็รู้ผล 

แล้วที่เกิดตำหนิก็หนีไม่พ้นการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามการเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" เพียงข้ามคืนสื่อกระแสหลักพลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 คำนวณประกบได้ผลอย่างหนึ่ง สามารถคิดคะแนนได้ทั้งไปและกลับตามตรรกะคณิตศาสตร์ คะแนนต่อส.ส 1 คน จะอยู่ที่ประมาณ 71,000 คะแนน ของทุกพรรคที่ได้ส.ส. 

'พรรคเพื่อไทย' ประกาศพร้อมเดินสายจัดตั้งรัฐบาล แต่ กกต.ไทย ใช้เวลาระดมสมองราว 43 วัน ก่อนประกาศผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผลพลิกกลับหักนักคณิตศาสตร์ทุกสำนัก คิดไปได้แต่คิดกลับไม่ได้ คะแนนต่อ ส.ส. 1 คน ของแต่ละพรรคการเมืองมี ตั้งแต่ 30,000 - 71,000 เสียง 

ผลลัพธ์เท่ากับ 'พรรคอนาคตใหม่' ซึ่งควรจะได้ ส.ส. 87 ที่นั่ง เหลือเพียง 80 ที่นั่ง พรรคเล็กรับเศษ ส.ส.พรรคละ 1 ที่นั่งถ้วนหน้า

ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเบี้ยหัวแตก 20 พรรค มีเพียง 254 เสียง ส่วนพรรคฝ่ายค้าน 246 เสียง เป็นรัฐบาลปริ่มน้ำ เป็ดง่อยบริหารประเทศได้อย่างยากลำบาก ส่อเกิดสภาวะแพ้โหวตกลางสภาฯ

แล้วก็สมใจอยากเข้าสภาฯ โหวตนายกฯ ส.ว.แต่งตั้งสุดมีเกียรติ 249 เสียง ผสม ส.ส.พรรคร่วม 251 เสียง เลือกนายกฯ 84,000 เซลล์สมอง เสียงท่วมท้นให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเสียงโหวตท้วมท้น 500 เสียงจากสมาชิกสองสภา

ประยุทธ์ สภา แถลงนโยบาย รัฐสภา mplate.jpg

ไม่เท่านั้นรัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังสร้างสถิติใช้เวลาตั้งรัฐบาลกว่า 3 เดือน เหตุยื้อยุดฉุดเก้าอี้ทั้งภายในแกนนำตั้งรัฐบาล กลุ่ม ก้อน ขั้ว มุ้ง จ่ายเงินซื้อข่าวส่วยเลื่อยขาเก้าอี้ต่อรองไม่เว้นวัน 

ไม่นับพรรคร่วมรัฐบาลยี่ห้อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในสนาม กทม.สูญพันธุ์ เหลือส.ส.ครึ่งร้อย แต่ต่อรองขั้นเทพ เช่นเดียวกับพรรคกัญชา ดีกรีดีลยี่ห้อยไม่ธรรมดา ดึงกระทรวงเกรดเอครบ โฉมหน้าภาพรวมรัฐบาลมีเพียง 254 เสียง ส่วนพรรคฝ่ายค้าน 246 เสียง เป็นรัฐบาลปริ่มน้ำ เป็ดง่อยบริหารประเทศได้อย่างยากลำบาก ได้คณะรัฐมนตรี นายกฯ คนที่ 29 สมัยสอง เรียกเสียงยี้จากทั่วบ้านทั่วเมือง

ยังไม่ทันบริหารข้อครหาก็เกิด อนาคตใหม่ตาดี ยกปมแหลม พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ฯ-แถลงนโยบายไม่ครบ ตามรัฐธรรมนูญ 250 มาตรา 160 พรรคฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ ขยายปมร้อมเช้าจรดเย็น รัฐบาลสบายๆอยู่รอดปลอดภัยท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชน 

เลือกความสงบจบที่ลุงตู่

กลไกการตรวจสอบโดยรัฐสภาเป็นไปอย่างลำบาก รัฐบาลกลัวการตรวจสอบ เกิดการล็อบบี้ฝ่ายค้าน จนญัตติตรวจสอบรัฐบาลสืบทอดอำนาจตั้งแต่ครั้งคสช. อย่างอีอีซีถูกคว่ำ ญัตติตรวจสอบมาตรา 44 รัฐบาลโหวตแพ้กลางสภา ก็ขอนับใหม่จนโหวตชนะฝ่ายค้าน ต้องม้วนเสื่อไม่ได้ตรวจสอบ 

นโยบายรัฐบาลไม่สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งในระดับบุคลหรือเอสเอ็มอี ลดภาษีแค่เรื่องขายฝัน คิดไม่ออกก็แจกเงินเหมือนที่โยนบาปให้รัฐบาลก่อนหน้าสมฉายาที่สื่อมวลชนทำเนียบฯ ตั้งให้ว่า "รัฐบาลเชียงกง" แถม พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ฉายา 'อิเหนาเมาหมัด'

ขณะที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็บรรลุตามสโลแกน "เลือกความสงบจบที่ลุง" จีดีพีโตกระจุกอยู่กับ 50 บริษัทชั้นนำ แต่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ยอดแรงงานตกงานเพิ่มขึ้น การบริโภคตกต่ำ ประชาชนฝืดเคืองอึดอัดเงียบงันกันทั้งประเทศ 

จนกระแสความไม่พอใจเริ่มก่อตัวจากโลกออนไลน์ เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ สู่นัดหมายครั้งสำคัญ "วิ่งไล่ลุง" เมื่อ 12 ม.ค. 2563 คนหลักหมื่นร่วมกันแสดงออกมากที่สุดในรอบ 6 ปี

ธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญ _191120_0014.jpg

แต่ไม่อาจต้านทานกลไกรัฐถูกใช้อย่างไม่จำกัด เมื่อพรรคอนาคตใหม่กู้เงินจาก 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรค จำนวน 191 ล้าน บทสรุปคือศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 เสียงให้ยุบพรรค ท่ามกลางข้อถกเถียง 

ไม่เพียงเท่านั้น ประวัติศาสตร์การเมืองไทยยังจารึก ครั้งแรกในรอบ 88 ปี ประชาธิปไตย มีการยุบพรรคฝ่ายค้านก่อนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียง 3 วัน แล้วกงล้อประวัติศาสตร์ยังคงหมุน เกิด 11 งูเห่าอนาคตใหม่ เลื้อยซบตามรุ่นพี่ "ศรีนวล บุญลือ" ส.ส.เชียงใหม่ พร้อมพวกยอมหักดิบพรรคอนาคตใหม่โหวตสวนมติพรรคอนาคตใหม่หลายครั้งจนถูกขับพ้นพรรคและต้องย้ายไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล

ด้านนอกสภา 'นิสิตนักศึกษา' สุดทนเริ่มก่อตัวจัดแฟลชม็อบ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เกิดการชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 95 ครั้ง ในมหาวิทยาลัย 79 ครั้ง 

ภายในสองสัปดาห์ แต่กระแสเริ่มซาลง เมื่อทุกคนต้องเริ่มตระหนักกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช.แทบจะไม่มีมาตรการ จนเกิดการระบาดแบบกลุ่ม 2 ครั้งใหญ่ คือ สนามมวย และย่านผับบาร์

จนสถานการณ์ลุกลามบานปลาย ทำให้ประชาชนทุกฝ่ายเริ่มเห็นพ้อง รัฐบาลสืบทอดอำนาจ ที่ใช้กลไกบริหารแบบรัฐราชการ รวมศูนย์อำนาจ ตามโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่อาจบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตระดับชาติได้แม้แต่น้อย 

ตัวอย่างชัดจากท่าทีที่ล่าช้า ส่วนราชการต่างคนต่างทำงาน การบูรณาการไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันการสื่อสารก็จัดอยู่ในช่ายที่ล้มเหลว ไร้เอกภาพ การเผชิญเหตุดำเนินไปอย่างไรทิศทาง ไร้แผนการมารองรับ แก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก

1 ขวบปีหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จึงเป็นเพียงแค่การเอาตัวรอดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์รายวัน 

ผลที่ปรากฏเป็นรูปธรรม คือ แม้จำนวนส.ส.ที่เพิ่มขึ้น ผ่านการใช้เล่ห์กลทุกวิถีทาง โดยไม่ได้รับความยินยอมของประชาชน จนมีจำนวนเสียงส.ส.เพิ่มขึ้นเป็น 276 เสียง จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 488 คน ทว่าก็ไร้ความหมายเมื่อทุกข์ร้อนของประชาชนที่ไม่เคยได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง