ไม่พบผลการค้นหา
ร้านนวดย่านเหม่งจ๋าย เข้าสู่ช่วงขาดทุน จากกำไรวันละ 25,000 บาท ลูกค้าวันละ 600 คน เจ้าของประกาศให้นวดฟรี ชวนคนไทยแจกทิปพาหมอนวดพ้นวิกฤต

ภาพนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนหลายร้อยคนยืนเรียงคิวต่อแถวกันแน่นขนัดเพื่อเข้ารับบริการนวดแผนไทย ภายในร้าน “จารวี” ใกล้แยกเหม่งจ๋าย เขตห้วยขวาง กลายเป็นอดีตไปแล้ว นับตั้งแต่ไวรัส ‘โควิด-19’ แพร่ระบาดไปทั่วโลก

จากร้านนวดที่มีลูกค้าไม่ต่ำกว่าวันละ 600 คน หมอนวดไม่เคยรู้จักกับคำว่า “ว่าง” ชนิดเวลากินข้าวแทบไม่มี วันนี้สถานการณ์พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ “คำว่ายุ่ง” กลายเป็นสิ่งที่พวกเธอเพรียกหา ถึงขนาดเจ้าของร้านอย่าง “เอ๋ - พิทักษ์ โยธา” ต้องประกาศดังๆ ว่าให้นวดฟรี

“เชิญเลยครับ ชาวไทย” เขาเรียกร้องในสถานการณ์วิกฤต

ขาดทุนถ้วนหน้า ระเนระนาดไม่เว้นเกษตรกร

‘จารวี’ เป็นร้านนวดขนาดกลาง ภายใต้อาคาร 5 ชั้น 105 เตียง เปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดมาแล้วกว่า 3 ปี ลูกค้าหลักเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นกลุ่มทัวร์จากแดนมังกร

เอ๋ พิทักษ์ เล่าว่า ยอดผู้รับบริการเฉลี่ยวันละ 600-700 คนต่อวัน หรือราว 20,000 คนต่อเดือน ผู้คนหนาแน่นต่อคิวยาวเหยียด บ่อยครั้งต้องโทรจองคิวล่วงหน้า 3-4 วัน มีหมอนวดให้บริการจำนวน 105-109 คน วิกฤตของร้านเริ่มตั้งเค้าตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธ.ค. ถึงต้นเดือน ม.ค. กระทั่งรัฐบาลจีนประกาศปิดหลายเมืองในประเทศ นั่นทำให้รู้แล้วว่าช่วงเวลาเจ็บปวดกำลังมาเยือน

จากยอดบริการหักลบต้นทุนเหลือกำไรวันละ 25,000 บาท ทุกวันนี้ต้องเจรจาเจ้าของตึกขอพักชำระค่าเช่า

“ค่าเช่า 7 หมื่นบาทต่อเดือน รวมน้ำไฟตกเดือนละ 1 แสนบาท ผมขอร้องเจ้าของตึก ไม่ให้คิดค่าเช่า ขอเบรกในช่วงวิกฤต เขาก็ยินดี”

หมอนวดที่จารวีเคยมีรายได้เฉลี่ย 600-700 บาทต่อวัน ปัจจุบันบางคนเหลือเงินติดกระเป๋าแค่ 16 บาท

“หมอโทรถามผมว่า ถ้าเข้ามาจะมีลูกค้าไหม ผมบอกไม่มี อย่าเพิ่งเข้ามาเลย เขาบอกโอเค ถ้าไม่ไปยังพอซื้อมาม่ากินได้ 2-3 ห่อ ผมก็สงสารหมอและสงสารตัวเองด้วยที่ไม่มีการเตรียมการรองรับวิกฤตแบบนี้”

จารวี
  • เอ๋ - พิทักษ์ โยธา

ความล้มเหลวนั้นถูกส่งต่อเป็นทอดๆ จากร้านนวด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ากระทบไปถึงเกษตรกร

“เดือดร้อนกันถ้วนหน้า หมอนวดร้อยกว่าคน จะไปหางานอื่นทำก็ไม่มีแล้ว แต่ละคนเรียนมาเพื่อนวด ก็ตกงานกันหมด ผลกระทบยังลามไปถึงสินค้าและธุรกิจอื่นๆ อย่างร้านอาหาร เครื่องดื่มชูกำลังที่ชาวจีนชอบกินมาก ร้านขายผลไม้ด้านล่างก็ต้องหยุด เกษตรกรสวนผลไม้ก็ไม่รู้จะขายใคร หมอนวดจะกลับต่างจังหวัดก็ไม่มีไรให้ทำเพราะเป็นช่วงหน้าแล้ง ทุกวันนี้ต้องประหยัดกิน ประหยัดใช้ เพราะไม่มีรายได้”

ภายใต้สถานการณ์แสนเจ็บปวด เจ้าของธุรกิจพยายามทำให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขที่มี เขาออกไอเดียเปิดให้บริการฟรีหวังเพียงแค่ค่าทิปให้กับเหล่าหมอนวดใช้หล่อเลี้ยงชีวิต

“ผมคิดไปคิดมา ลูกค้าคนไทยยังไม่เคยเข้ามารับบริการร้านเรา ก็เลยเอางี้ ลองเปิดนวดฟรี หวังทิปจากแขกก็พอ ขอให้หมออยู่ได้” เขาเล่าต่อ “บางคนน้ำใจงามให้ทิปเยอะถึง 300 บาท แต่ส่วนใหญ่คนละ 100 บาท หมอก็ดีใจแล้ว ยังพอมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงชีพให้ผ่านพ้นวิกฤต”

จารวี

จากวันละ 7 รอบ เหลือ 0

วงสนทนาส้มตำ บริเวณหน้าร้าน กลายเป็นพื้นที่ใหม่ของเหล่าหมอนวดในช่วงเวลาหงอยเหงาแบบนี้

แก้ว บุตรพรม บอกว่า ลำบากมาก เมื่อก่อนมีนักท่องเที่ยวทัวร์จีน การันตีวันละ 7-8 รอบ รายได้รอบละ 100-200 บาท ทุกวันนี้เหลือแค่ 1 รอบ รายรับเมื่อก่อนถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือใช้และเก็บ ปัจจุบันมีแต่ “ใช้”

“อยากเชิญชวนคนไทยมาช่วยคนไทยด้วยกัน วันละรอบสองรอบก็ยังดีค่ะ” เธอยิ้มหน้าเศร้าๆ “ได้ค่าข้าว ค่าน้ำ ก็จะไม่ลำบากมาก”

รวี เลิศชัยสมบัติ หมอนวดท่าทางเท่ๆ กระฉับกระเฉง เล่าว่า รายได้หดหายไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ชั่วโมงการทำงานจาก 8-9 ลดหลือแค่ 2-3 ชั่วโมง

“พี่รับนวดหลายที่ เมื่อก่อนจะมาถึงที่นี่ประมาณบ่ายโมง นวดไปจนถึง 2 ทุ่ม ก็จะได้ 6 รอบ แบบไม่ว่างเลยนะ ลงจากคนหนึ่งแล้วไปต่อเลย” เจ้าของชื่อเล่น ‘หมอน’ บอกต่อ

“สถานการณ์มันทำให้เราต้องปรับตัวมากๆ เมื่อก่อนอาจจะกินอาหารราคาสูงๆ บ้าง ตอนนี้ซื้อผัก ซื้อน้ำพริก หุงข้าว ทำกับข้าวกินเอง และเริ่มไปรับจ้างนวดตามบ้านแทน” เธอปรับตัวและว่า เมื่อก่อนเดินเข้าธนาคารฝากเงินทุกเช้า ปัจจุบันต้องใช้เวลาถึง 3 วันหรือ 1 สัปดาห์กว่าจะมีเงินเหลือพอให้เก็บ

จารวี
  • รวี เลิศชัยสมบัติ

มาตรการรับมือโควิด-19 ของร้านจารวีคือ ฉีดยาฆ่าเชื้อทุกวันทั่วร้าน มีเจลล้างมือให้บริการ หมอนวดต้องสวมหน้ากากอนามัยและถูกกำชับให้ล้างมือบ่อยๆ โดยหลังจากเปิดให้นวดฟรี ยอดผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ย 10-15 คนต่อวัน สูงสุด 40 คน

“หมอนวดบางวันมา 20 คน มานั่งกินส้มตำกัน เพราะไม่มีอะไรทำ” ตลกร้ายจากปากเจ้าของร้าน เอ๋ พิทักษ์

จารวี

เรียนรู้จากวิกฤต ตกต่ำก่อนเติบโต

ทุกวิกฤตทำให้คนปรับตัวและเปลี่ยนแปลง พลิกตำราบริหารความเสี่ยงใหม่ๆ ในชีวิต

เอ๋ พิทักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคระบาดเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดและน่าจดจำ สอนให้ต้องรู้จักวางแผน อย่าฝากความหวังไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น

“เราทำธุรกิจตัวนี้โดยไม่มองธุรกิจตัวอื่นหรืออาชีพอื่นรองรับเลย พอเกิดวิกฤต ผมกลายเป็นคนตกงาน ไม่มีรายได้ เป็นบทเรียนสอนให้รู้ว่า เราต้องหาอาชีพอื่นหรือมีแผนอื่นๆ รองรับ เมษายนนี้ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นไหม ก็พยายามมองหารูปแบบและหนทางการสร้างรายได้ผ่านธุรกิจอื่นๆ” ผู้กุมบังเหียนร้านนวดจารวีทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง

จารวี
  • บรรยากาศผู้คนหนาแน่นในอดีต
จารวีจารวี


จารวีจารวีจารวีจารวีจารวีจารวี


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog