ไม่พบผลการค้นหา
'จาตุรนต์' อัด 'ประยุทธ์' มีปัญหาไร้ความสามารถในการคิด ถ้าเลือกตั้งท้องถิ่นเร็วแล้วจะตายหรือยังไง ชี้ตั้งแต่นายกฯเกิดก็มีเลือกตั้งท้องถิ่นหลายครั้ง

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น ระหว่างลงพื้นที่ที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อวานนี้ (11 พ.ย. 2562) ว่า ให้ใจเย็นๆ ประเทศไทยยังอันตราย รอให้ทุกอย่างเสถียรก่อน โดยช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวว่า ผมขอเวลานี้เป็นเวลาแห่งความร่วมมือร่วมใจของกันและกัน ผมขอได้ไหม ท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ผมขอได้ไหม ไอ้เรื่องเลือกตั้งค่อยว่ากันอีกที มันจะเป็นจะตายกันให้ได้ ผมไม่ได้เข้าใจ ประเทศไทยอันตราย ในช่วงการเปลี่ยนแปลงช่วงนี้ก็ปล่อยให้ทุกอย่างมันเซฟตี้ไปก่อน"

โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ ทวีตข้อความว่า ถ้าถามอย่างนี้บ้างล่ะ “ถ้าเลือกตั้งท้องถิ่นเร็วแล้วจะตายหรือยังไง”

นายจาตุรนต์ ยังระบุอีกว่า "#จะเป็นจะตายกันให้ได้ #ประเทศไทยอันตราย คำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าประยุทธ์มีปัญหาไร้ความสามารถในการคิด การใช้เหตุผลและการตัดสินใจอย่างร้ายแรงซึ่งน่าจะมีปัญหามานานแล้ว แต่การพูดมั่วๆไปแต่ละวัน โดยสังคมตรวจสอบได้น้อยและวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ทำให้นี้ไม่ชัดเจนเท่าปัจจุบัน"

"ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ยังไม่เกิด เขาก็เลือกตั้งท้องถิ่นตั้งเยอะแยะกันมาแล้ว ก็ไม่เห็น #จะเป็นจะตายกัน มีแต่ทำให้ท้องถิ่นพัฒนาตามความต้องการของประชาชนได้มากด้วย ไม่มีความจำเป็นใดๆเลยที่จะถ่วงให้นานออกไป เว้นแต่ว่าเห็นว่าปัจจุบันคุมท้องถิ่นได้ ครอบงำได้และ #ไม่เห็นหัวประชาชน"

ประยุทธ์.jpg

ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยถูกแช่แข็งไว้ตั้งแต่ ปี 2557 ด้วยอำนาจ มาตรา 44 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 กระทั่งมี พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ชี้ว่า ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 142 เขียนเอาไว้ว่า การเลือกตั้งครั้งแรกตามกฎหมายนี้จะเกิดขึ้นเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) "เห็นสมควร" ให้มีการเลือกตั้งได้ในท้องถิ่นใด และได้แจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ

และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ให้ประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวกับการงดการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวนเจ็ดฉบับจะถูกยกเลิกไป ทั้งนี้หาก คสช. สิ้นสภาพไปแล้ว อำนาจของ คสช. นั้นก็ให้เป็นอำนาของคณะรัฐมนตรี

ซึ่งขณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดียวกับหัวหน้า คสช. รวมทั้งสมาชิก คสช. ที่ทำรัฐประหารอีกสามคนก็มานั่งตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ด้วย ดังนั้น อำนาจการตัดสินให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใดยังอยู่มือของคณะรัฐประหารที่ชื่อว่า คสช. เช่นเดิม