ไม่พบผลการค้นหา
มุ่งหน้าสู่ปลายด้ามขวานชายแดนใต้ จังหวัดยะลา เตรียมออกสตาร์ทกับกิจกรรม ‘ยะลามาราธอน’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมสัมผัสกับผังเมืองอันทรงพลัง ธรรมชาติสีเขียว และผลไม้อันอุดมสมบูรณ์

อีกไม่นานเกินรอ เทศบาลนครยะลาจะสตาร์ทเปิดตัวกิจกรรม ‘ยะลามาราธอน’ เป็นครั้งแรกในวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ซึ่งจุดหมายปลายทางจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ 42.195 กิโลเมตรเท่านั้น แต่เป็นการฟื้นฟูภาพลักษณ์ และกู้สภาพเศรษฐกิจของจังหวัด

หลังจากเดินทางมาเยี่ยมเยือนท้องถิ่นมาสักระยะหนึ่ง ก็มีเสียงเย้าแหย่จากชาวบ้านว่า นอกจากฉายา ‘เมืองแห่งนก’ แล้วนั้น ยะลายังเป็น ‘เมืองนักวิ่ง’ เช่นกัน

ยะลามาราธอน 3.jpgยะลา มาราธอน 4-2.jpg

“คนยะลาชอบออกกำลังกายครับ” นายกอ๋า – พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลาเล่าให้ฟังเมื่อถามว่า ทำไมจังหวัดยะลาถึงมีคนออกมาวิ่งมากมายขนาดนี้? 

นายกเทศมนตรีผู้เป็นคนยะลาแต่กำเนิดสำทับต่อว่า จุดเด่นอย่างหนึ่งของยะลาคือ เปี่ยมด้วยพื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะ ทำให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย สามารถออกมาพักผ่อนหย่อนใจ สันทนาการ หรือออกกำลังกายกันได้อย่างเต็มที่

นายกอ๋า - ยะลา มาราธอน.jpg
  • พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา

ในวันนี้ แม้เหตุการณ์ความรุนแรงแถบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเคยเป็นปัญหาสำคัญของยะลามาเนิ่นนานกำลังคลี่คลายลง และบ่งบอกทิศทางที่ดีขึ้น ทว่าภาวะเศรษฐกิจช่วง 3-4 ปีหลังกลับไม่กระเตื้องเลย ทั้งๆ ที่ ณ ปลายด้ามขวานทอง ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่อัดแน่นด้วยต้นทุน ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัตถุดิบชั้นเลิศ ไม่แพ้จังหวัดไหนๆ ในประเทศไทย

นั่นส่งผลให้นายกเทศมนตรีนครยะลาเล็งเห็นว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจของยะลาควรเริ่มต้นด้วยการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นเมืองน่าอยู่เสียก่อน

“การจัดมาราธอนมักนำคนเข้ามาเยือนเมืองเป็นจำนวนมาก ทุกคนจะเห็นความงดงามของยะลาที่ถูกซ่อนเร้น คนยะลาส่วนใหญ่ความสนใจด้านกีฬาอยู่แล้ว เทศบาลฯ เลยนำยะลามาราธอนมาช่วยปรับภาพลักษณ์เมือง ให้คนมองยะลาในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น” 

สำหรับคนหนุ่มสาว หากลองเปิดกล่องแชทส่งข้อความถามพ่อแม่ถึงภาพจำของยะลา เชื่อเหลือเกินว่า สิ่งที่หลายๆ คนจะนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น ‘ส้มโชกุน’ พืชเศรษฐกิจของอำเภอเบตง และเป็นผลไม้ชื่อเสียงโด่งดังมาเนิ่นนาน ดังนั้น ยะลามาราธอนจึงเลือกจัดงานช่วงฤดูผลไม้ เพื่อช่วยส่งต่อเรื่องราวดีๆ ของยะลาอีกทางหนึ่ง

“ผลไม้ท้องถิ่นของยะลาไม่ได้ใคร นอกจากส้มโชกุนแล้ว ทุเรียนมูซังคิงก็กำลังได้รับความนิยมสูง เพราะความหอม เหลือง หวาน รสชาติแตกต่างจากที่อื่นสิ้นเชิง

“ยะลามาราธอน นอกเหนือจากการวิ่งแล้ว ยังเป็นการเปิดตัวผลไม้ท้องถิ่นของยะลา ให้คนทั้งประเทศทราบว่า ไม่เป็นสองรองใคร” นายกอ๋ากล่าวด้วยความมั่นใจ 


สมัยก่อนถ้าคน 3 จังหวัดจะวิ่งมาราธอน ต้องไปหาดใหญ่ 

เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมการวิ่งมาราธอนในแถบ 3 จังหวัดชายแดนใต้มากขึ้นทีมงานทำการนัดหมาย หมอยา – นายแพทย์ยา สารี นักวิ่งเท้าเปล่า ผู้ผ่านสังเวียนมาราธอนมาแล้วกว่าครึ่งประเทศ และยังเคยเป็นผู้จัดกิจกรรมอัลตรามาราธอน จังหวัดปัตตานี มาช่วยเท้าความถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการมาราธอนในแถบ 3 จังหวัดชายแดนใต้

“ตอนเริ่มต้นวิ่งใหม่ๆ ประมาณ 5-6 ปีก่อน ภาคใต้จัดงานวิ่งไม่ครบทุกเดือน งานที่คนส่วนใหญ่มักวิ่งกันจะจัดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง หรือถ้าใกล้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากสุดจะเป็นหาดใหญ่มาราธอน จังหวัดสงขลา 

“ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ไม่ต้องพูดถึงเลย อย่างมากก็จัดวิ่ง 5 กิโลเมตร ระดับหมู่บ้าน แต่ระดับที่เปิดให้บุคคลทั่วไปได้วิ่งเหมือนกับหาดใหญ่มาราธอนไม่มีเลย”

ยา สารี.jpg
  • นายแพทย์ยา สารี นักวิ่ง และผู้จัดงานวิ่งปัตตานีอัลตรามาราธอน

นักวิ่งเท้าเปล่าจากปัตตานีเล่าทำนองคล้ายๆ กับคนในแดนด้ามขวานว่า สาเหตุที่กีฬาวิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เฟื่องฟูขึ้น มาจากโครงการ ‘ก้าวละคนก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ’ ที่นักร้องชื่อดัง ตูน – บอดี้แสลม ต้องการระดมทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเลือกเส้นทางจากใต้จรดเหนือตั้งแต่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จนกระทั่งสุดปลายทางที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 

ในฐานะผู้เคยผ่านประสบการณ์การจัดกิจกรรมวิ่งประเภทอัลตามาราธอน จังหวัดปัตตานีมาแล้ว หมอยากล้ายืนยันว่า จุดประสงค์ของกิจกรรมวิ่งมาราธอน ไม่ใช่แค่การออกกำลังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

“ผมขอยกตัวอย่างเป็นโครงการก้าวฯ ช่วยอธิบายให้ทุกคนเห็นภาพ เพราะจุดมุ่งหมายของการจัดคือ ระดมเงินบริจาค แต่นอกเหนือจากภาพกิจกรรมที่สื่อออกไป มันยังสะท้อนวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นได้ดีมาก

3 จังหวัดมีความงามทางวัฒนธรรม ความงามด้านจิตใจของผู้คน ความงามของพื้นที่ที่ถูกบิดเบือนด้วยสื่อเพียงด้านเดียว จนออกมาเป็นข่าวไม่ดี เพราะคำว่า ‘ไฟใต้’ และ ‘โจรใต้’ มันขายได้ ภาพลักษณ์ของพื้นที่ไม่ตรงกับความจริง” หมอยาบอกว่าถ้าทุกคนมาวิ่ง หรือเดินทางมาเที่ยวที่ 3 จังหวัด จะพบความแตกต่างจากที่เห็นในสื่อแน่นอน 


ไม่ได้วิ่งเพื่อตัวเอง แต่วิ่งเพื่อยะลา 

บรรดาคนยะลาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กีฬาวิ่งกำลังเฟื่องฟู และเราเชื่อแบบนั้นจริงๆ เพราะทุกหัวมุมช่วงเวลาแดดร่มลมตก เต็มไปด้วยผู้คนที่มุ่งมั่นอยู่กับการวิ่ง และออกกำลังกายด้วยรูปแบบต่างๆ ปะปนกันไป แม้จะเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ หรือเฉียดๆ ไปแถวตลาดก็ยังเห็นคนยะลาลุคสปอร์ตแมนกำลังเลือกซื้ออาหารฟื้นฟูพลังงาน

สาเหตุหลักๆ ในการออกมาวิ่งนอกจากเป็นเทรนด์น่าทำตามแล้ว บางคนยังบอกว่า ต้องการหันมาใส่ใจสุขภาพเหมือนกัน อย่างกรณีของ โอ๋ – สุนิสา เพญยูนุส พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลยะลา ซึ่งเพิ่มเริ่มวิ่งอย่างจริงจังเพียง 1 ปีเท่านั้น 

“โอ๋เป็นคนสุขภาพอ่อนแอ ไม่ค่อยแข็งแรง ต้องแอทมิดบ่อยมาก เนื่องจากภาระงานที่ต้องคอยรองรับผู้ป่วยจาก 3 สามจังหวัดชายแดนใต้”

โอ๋ - ยะลา มาราธอน   .jpg
  • สุนิสา เพญยูนุส พยาบาล และนักวิ่งท้องถิ่น

สืบเนื่องจากด้วยความเป็นคนอัธยาศัยดี โอ๋จึงมักชวนผู้คนท้องถิ่นมาลงสมัครยะลา มาราธอนอยู่เป็นประจำ แน่นอนว่า ในฐานะพยาบาลเป้าหมายของเธอคือ การสร้างเสริมสุขภาพ แต่ก็ยังมิวายแทรกประเด็นเศรษฐกิจเข้ามาด้วย

“สิ่งแรกคือ ‘สุขภาพ’ ถ้าคนยะลาเขาเห็นคนจากจังหวัดอื่นๆ มาวิ่งในบ้านตัวเองก็อาจจะทำให้เกิดกำลังใจมากขึ้น สองคือ ‘เศรษฐกิจ’ การจัดกิจกรรมวิ่งมาราธอนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของยะลาได้ดี โดยเฉพาะโรงแรม ร้านค้า หรือร้านอาหาร” โอ๋ทิ้งท้ายพร้อมกับบอกด้วยว่า ยะลาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่บางคนคิด และเชื้อเชิญทุกคนมาวิ่งด้วยกัน


ยะลามีสวนล้อมเมือง 

ผังเมืองของยะลาสวยงามเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และติดอันดับ 23 ของโลก ซึ่งความเป็นระเบียบไม่ใช่เพียงการจัดวางผังเมืองเป็นวงเวียน และจำแนกศูนย์ราชการอย่างชัดเจน แต่จังหวัดยะลายังให้ความสำคัญอย่างมากกับการออกแบบพื้นที่สีเขียว

“ยะลาเป็นนครแห่งสวน เพราะสวนล้อมเมือง เราต้องการให้คนเห็นสภาพบ้านเมืองของเรา” นายกอ๋าบอกด้วยความภาคภูมิใจถึงความเป็นมิตรต่อธรรมชาติของยะลา 

ผังเมือง ยะลา.jpg
  • ผังเมืองเขตเทศบาลนครยะลามีศูนย์กลางเป็นวงเวียนซ้อนกัน 3 วง ถนนกว่า 400 สายตัดเชื่อมต่อกันเป็นลักษณะใยแมงมุม ขณะที่อีกส่วนหนึ่งตัดกันเป็นตารางหมากรุก
สวนขวัญเมือง ยะลา.jpg
  • บรรยากาศของสวนขวัญเมือง หนึ่งในพื้นที่สีเขียวของจังหวัดยะลา

เส้นทางวิ่งของยะลามาราธอนจะเน้นการวิ่งผ่านจุดสำคัญต่างๆ ของเมือง รวมถึงพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสาธารณะ และวิ่งเลียบแม่น้ำปัตตานีกว่า 16 กิโลเมตร ทำให้บรรดานักกีฬาได้สัมผัสทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนยะลา

เมื่อกล่าวถึงเส้นทางการวิ่ง เรามีโอกาสพูดคุยกับ วัน – พ.ต.ท.ริฎวาน อับดุลอาซีส นายตำรวจขวัญใจประชาชน และอีกหนึ่งนักวิ่งท้องถิ่น ถึงแม้ครั้งนี้แขาจะไม่ได้ลงสนาม แต่ก็มีหน้าที่รับผิดชอบไม่แพ้กัน 

“ผมไม่ได้ลงสมัครยะลามาราธอน เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ต้องคอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ใจจริงอยากลงสมัครมากๆ เพราะเป็นการจัดงานใหญ่เป็นครั้งแรกที่ยะลา”

วัน - ยะลา มาราธอน.jpg
  • พ.ต.ท.ริฎวาน อับดุลอาซีส ตำรวจ และนักวิ่งท้องถิ่น (คนนั่ง)

“ยะลาเป็นเมืองน่าอยู่ ไม่ได้น่ากลัว ผังเมืองสวย ผู้คนน่ารัก ต้องมาวิ่งครับถึงจะรู้ว่ายะลาเป็นอย่างไร” วันเชิญชวนทุกคนมาวิ่งมาราธอน รวมถึงอยากให้ทุกคนเปลี่ยนความคิด และมุมมองเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 


เส้นชัยของยะลาไม่ได้อยู่ที่ 42.195 กิโลเมตร 

นักวิ่งหลายคนบอกว่า เส้นชัยของการวิ่งมาราธอนไม่ได้อยู่ที่ 42.195 กิโลเมตร แต่ปลายทางจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ความตั้งใจ บางครั้งเป็นการทำเวลาให้ดีขึ้น บางครั้งเป็นการลงวิ่งรายการใหม่ให้สำเร็จอีกครั้ง แต่สำหรับยะลา การกลับมาวิ่งที่นี่ในปีหน้า ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของพวกเขา

“สิ่งที่นักวิ่งจะได้กลับไปคือ ความรู้สึกดีต่อเมืองยะลา และจะทำไปสู่การกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของคนยะลาเราหวังให้คนได้เข้ามาเยี่ยม หวังให้คนเปลี่ยนความรู้สึก” นายกอ๋าทิ้งท้ายในฐานะแม่งานยะลามาราธอน