ไม่พบผลการค้นหา
เกมแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 อาจถึงคิวพบอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ เพราะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่างเปิดหน้าปฏิเสธการมีส่วน “ยกมือ” สนับสนุน 4 ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน

1.ปิดสวิตช์ ส.ว. หั่นอำนาจการโหวตนายกรัฐมนตรี 5 ปี

2. ยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองคำสั่ง คสช.3.ระบบเลือกตั้ง 4.มาตรา 270-271 มาตราที่เกี่ยวกับการปฏิรูป

แต่ทันใดนั้น กลับมีเสียงคัดค้านจาก ส.ว. ที่ก่อนหน้านี้ ประกาศชัดเจนว่าพร้อมหนุนฝ่ายรัฐบาล หากแก้เฉพาะมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์อำนาจตนเองเรื่องการโหวตนายกฯ และพร้อมยกมือโหวตเปิดทางให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 

พลันที่ฝ่ายค้านยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติ ส.ว.กลับลำ 180 องศา โดยพร้อมใจระบุว่า ญัตติ 4 ปม เลยเถิด และพร้อมคว่ำทิ้งทั้ง 4 ญัตติ

ส.ว.ยกระดับ “กำหนดเกม” การแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพราะต้องไม่ลืมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว.84 เสียง เป็นอย่างน้อยในวาระที่ 1 และ 3 หาก ส.ว.ไม่เอาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอันจบเห่

แถมเพลย์เมกเกอร์ทางการเมือง อย่าง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ งัดแท็กติกกฎหมายขึ้นมาหวังล้ม 4 ญัตติของฝ่ายค้าน โดยยื่นคัดค้าน เนื่องจากมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณี ส.ส.ลงชื่อซ้ำซ้อนกับญัตติการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ยื่นไปก่อนหน้านี้

ไพบูลย์ พีระพันธุ์ ผลศึกษา รัฐธรรมนููญ -8847-59BE4F9D30DC.jpeg

ดังนั้น แผนการยกเลิกมาตรา 272 ที่ฝ่ายค้านปักหมุด “ปิดสวิตช์” ส.ว.จากการโหวตเลือกนายกฯ อยู่บนเส้นด้ายอีกครั้ง ในจังหวะที่ปีที่ 2 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ มีอันเป็นไปได้ทุกเมื่อ

ยามที่มีข่าวลือ ข่าวลวง เรื่องการรัฐประหาร – เปลี่ยนตัวนายกฯ ดังก้องทั่วกระดานการเมือง ขั้นตอนการเลือกนายฯ คนนอก ปรากฏร่องรอยขึ้นมาอีกครั้ง และ ส.ว. จะเป็น “ตัวพลิกเกม” ที่สำคัญ หากพรรคการเมืองปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่สำเร็จ

ไม่ใช่แค่ฝ่ายค้าน ไม่อาจไว้ใจ ส.ว.ได้ แต่ยังรวมถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ไม่อาจ “ไว้ใจ” ส.ว.ได้เช่นกัน

ประยุทธ์ ประวิตร สภา อภิปราย_200909.jpg

เพราะสถานการณ์เช่นนี้ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากกลไกรัฐธรรมนูญ 2521 มีการเปลี่ยนนายกฯ จาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เรื่องนี้ย้อนความถึงที่มาของรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งกำหนดให้ ส.ว.มีบทบาทร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในสภา เป็น “ต้นตำรับ” รัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  

การเข้ามาของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ เกิดขึ้นจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2520 โดย พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ เปลี่ยนตัวนายกฯ จาก 'ธานินทร์ กรัยวิเชียร' และตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกฯ แทน หลังจากประเทศเข้ารูป เข้ารอบจากนั้นจึงเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง

เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์  ไทยรัฐ สงัด ชลออยู่ 31462298202570_3793573753509142199_n.jpg


เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 297_1505102759673304_8302691054225830495_n.jpg
  • พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ดำรงตำแหน่ง 11 พ.ย. 2520 - 3 มี.ค. 2523

ทว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ไม่ได้มีฐานอำนาจทางการเมือง แต่ชนะโหวตนายกฯ คู่แข่งในสภา คือ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” หัวหน้ากลุ่มกิจสังคม ที่มีเสียงในสภา 82 เสียง แต่ฝ่าย “พล.อ.เกรียงศักดิ์” มีเสียง ส.ว.อยู่ในกำมือที่มากกว่า ทำให้สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภา ส.ส.-ส.ว. รวมกัน 311 เสียง ให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกฯ

แต่หลังบริหารประเทศไปได้ไม่นาน รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็เจอมรสุมเศรษฐกิจที่รุมเร้า พรรคการเมืองที่เคยยกมือโหตให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ในสภา ต้องถอยร่น ไม่สนับสนุนนายกฯ นอกสภาอีกต่อไป

บวกกับพรรคการเมืองรวมเสียงยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แล้วผนึกกำลังกันไปเชิญผู้บัญชาการทหารบก ในเวลานั้น คือ “พล.อ.เปรม” มาเป็นนายกฯ แทน

ผู้นำพรรคการเมืองที่ประกอบด้วย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย พัน.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย และ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ หัวหน้าพรรคสยามประชาธิปไตย ได้ร่วมกันยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ 2521 ต่อ พล.อ.อ.หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา โดยมี ส.ส. ลงชื่อรับรองจำนวน 204 คน เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2523 โดยกำหนดการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 3 มี.ค. 2523

ก่อนจะถึงคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจ “พล.อ.เกรียงศักดิ์” ก็ชิงลาออกในสภาฯ เพื่อรักษาศักดิ์ศรี ในวันศุกร์ที่ 29 ก.พ. 2523

“…การขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาไม่เป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่าไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนปรารถนา ประชาชนบางส่วนที่อยู่ในชนบทไม่สนใจว่าใครจะมาบริหารประเทศ ขอให้ท้องอิ่มก็แล้วกันแต่ความขัดแย้งก่อเกิดเพิ่มขึ้นทับทวี จนยากที่รัฐบาลจะบริหารงานของชาติให้บรรลุสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา กระผมจึงได้ตัดสินใจดังนี้ กระผมขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระบบรัฐสภาของประชาธิปไตยดำรงอยู่ตลอดไป ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านเลือกบุคคลที่มีความสามารถดีกว่า เข้ามาบริหารประเทศและรับใช้ประชาชนและประเทศชาติต่อไป ขอบพระคุณ”

จากนั้นวันที่ 3 มี.ค. 2523 การประชุมร่วมกันของรัฐสภาแทนที่จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.เกรียงศักดิ์ แต่วันนั้นกลายเป็นวันเลือกนายกฯ คนใหม่ คือ พล.อ.เปรม

โดยวิธีการเลือกสรรนายกรัฐมนตรีได้ใช้วิธีให้สมาชิกรัฐสภาเขียนชื่อผู้ที่ตนเห็นสมควรว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีใส่ซอง แล้วมอบให้แก่กรรมการนับคะแนน

ปรากฏผลว่าจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เข้าประชุมและร่วมลงคะแนนจำนวน 496 คน มีผู้เลือก “พล.อ.เปรม” ถึง 395 คน แบ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา 200 คน และสมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวน 195 คน  

เปรม 72597511.jpg
  • พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2523 - 4 ส.ค. 2531
AFP-เปรม-ประยุทธ์.jpg

พล.อ.เปรม ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ คนที่ 16 ของประเทศไทย โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วยพรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติประชาชน พรรคสยามประชาธิปไตย

วันนั้น พล.อ.เปรม ย้ำกับคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกว่า

“รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเหนือพรรค เหนือพวก เหนือผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

หลายคนเชื่อว่า การเปลี่ยนตัวนายกฯ ครั้งนั้น ไม่ต่างจากการ “ปฏิวัติเงียบ”

โดยมี ส.ว.เป็นกำลังหลักพลิกขั้ว ร่วมมือกับนักเลือกตั้งอาชีพหนุนส่งให้คนนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เข้ามาเป็นนายกฯ ตามกติกาที่รัฐธรรมนูญในขณะนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้

ส.ว.ในวันนี้จึงมีอำนาจคล้ายกับ ส.ว.เมื่อ 40 ปีก่อน ทำให้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยกลับมาซ้ำรอยในวันนี้อีกครั้ง!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง