ไม่พบผลการค้นหา
10 เล่มต้องมี ประดับความรู้ก็ดี ประดับบ้านก็ยังได้

เวียนมาอีกครั้งสำหรับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23 ท่ามกลางเวิ้งสมุทรแห่งอักษรอันไพศาล หลายคนอาจเคว้งคว้างหาทางเริ่มไม่ถูก ทีมงาน Voice On Being จึงคัดสรรหนังสือจำนวนหนึ่งที่คิดว่า ‘อ่านสนุก’ มีแง่มุมน่าสนใจ และสัมพันธ์กับชีวิตของเราจนอินไปกับมันได้ไม่ยากมาเป็นตัวเลือกให้คุณนักอ่านพิจารณา เผื่อจะเป็นหลักตั้งต้นได้ว่า วันที่ 17-28 ตุลาคมนี้ จะตรงไปหาหนังสือเล่มใดกันก่อนดี


บิ๊กดาต้ามหาประลัย: เมื่อการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่เป็นภัยต่อสังคม

สำนักพิมพ์ : Salt / ผู้เขียน : แคที โอ'นีล (Cathy O'Neil) / ผู้แปล : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

10.jpg

“ยุคสมัยแห่งศรัทธาอันมืดบอดในบิ๊กดาต้าต้องจบสิ้น” - แคที โอ'นีล

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน มนุษย์ใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานการตัดสินสิ่งต่างๆ โดยประมวลผลผ่านอัลกอริทึมอันชาญฉลาด เพราะคงไม่มีอะไรจะน่าเชื่อถือกว่าข้อมูลที่ปราศจากอคติ และคอมพิวเตอร์ที่ไร้อารมณ์ความรู้สึก แต่แคที โอ’นีล กลับไม่คิดเช่นนั้น

อัลกอริทึม หรือโมเดลคณิตศาสตร์ ที่ใช้ประมวลผลข้อมูลนั้นแท้จริงแล้วแฝงไปด้วยอคติ ผู้สร้างอัลกอริทึมเป็นผู้เลือกว่าจะใช้ข้อมูลใด และนิยามผลลัพธ์ที่ต้องการอย่างไร ทั้งการคัดเลือกคนเข้าทำงาน การคำนวณอัตราการจ่ายประกัน หรือการคาดการณ์อาชญากร ดังนั้น โอ’นีลจะชวนผู้อ่านมาทบทวนว่า แท้จริงแล้วการหลงเชื่อในอัลกอริทึมอย่างมืดบอด สามารถตอกย้ำความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากอคติในสังคมได้อย่างไร?


ปานหยาดน้ำผึ้ง (Milk and Honey)

สำนักพิมพ์ : Her Publishing / ผู้เขียน : รูปี กอร์ (Rupi Kaur) / ผู้แปล : พลากร เจียมธีระนาถ

3.jpg

“ฉันจากลา ไม่ใช่เพราะหมดรัก

ฉันจากมา เพราะยิ่งอยู่นาน ฉันยิ่งรักตัวเองน้อยลง” - รูปี กอร์

ผู้เขียนเปรียบเปรยไว้ว่า ผู้หญิงยุคนี้ ‘นุ่มนวลดั่งน้ำนม และหนักแน่นราวน้ำผึ้ง’ ในปานหยาดน้ำผึ้งเธอคือ เสียงของยุคสมัยแห่งหญิงสาว ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรัก ความสูญเสีย และสิ่งที่ผู้หญิงมักถูกล่วงละเมิดในความสัมพันธ์ออกมาในรูปบทกวีร้อยแก้ว ที่จะเยียวยาความเจ็บปวดในจิตใจ และพาคุณย้อนกลับไปอ่านประสบการณ์ขมขื่นในชีวิตด้วยมุมใหม่ให้ค้นพบความหวานที่ซ่อนอยู่ แม้กระทั่งในโมงยามที่ปวดร้าวที่สุดก็ตาม


โอชากาเล

สำนักพิมพ์ : WAY of BOOK / ผู้เขียน : กฤช เหลือลมัย

6.jpg

ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาติสะท้อนออกมาผ่านอาหารการกินเสมอ ทว่าความเชื่อที่เล่ากันมาปากต่อปากนั้นมีความจริงอยู่สักเท่าไรกัน ผัดกะเพราเป็นอาหารไทยสักเท่าไรเชียว คนไทยติดหวานกันจริงไหม ชอบกินเผ็ดกันมาตั้งแต่ในอดีตเลยหรือเปล่า รวมถึงความจริงน่าตกใจว่า ผัดไทยไม่ได้เกิดจากนโยบายของจอมพล ป. และเรื่องราวอื่นอีกมาก

โอชากาเล คือหนังสือที่ปรุงขึ้นจากเมนูใกล้ตัวที่เราคุ้นชินกัน จนกระทั่งไม่นึกสงสัยในตัวตนที่แท้จริงของมัน ทั้งรสชาติ วัตถุดิบ และวิธีการปรุง ที่ล้วนปรับ และแปลงไปตามกาลเวลา เสริมรสด้วยภาษาละมุนของกฤช เหลือลมัย ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นเมนูกลมกล่อมที่จะเผยให้เห็นวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ในอาหารแต่ละมื้อ


❹ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

สำนักพิมพ์ : มติชน / ผู้เขียน : วีรพร นิติประภา

2.jpg

เรื่องราวของครอบครัวชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในเมืองไทย ชีวิตใหม่ที่ไม่มี ‘บ้าน’ ให้กลับ เช่นเดียวกับชาวจีนส่วนใหญ่ที่กลายเป็นคนไทยในประเทศนี้ โดยหนังสือเล่าผ่านความทรงจำไม่ปะติดปะต่อของตัวเอก การเมืองซึ่งเป็นฉากหลังยังคงสะท้อนให้เห็นว่า การเมืองนั้นเกี่ยวพันกับชีวิต และทุกคนยังคงถูกกระทำโดยการเมืองตลอดเวลา ไม่ว่าจะสนใจยุ่งเกี่ยวกับมันหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังคงสอดแทรกรสนิยมวิไลอย่างอาหาร และบทเพลงแบบที่หลายคนคงคุ้นชินหลังได้ชิมลางมาจาก ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ ผลงานเล่มก่อนหน้าของเธอ ซึ่งคว้ารางวัลซีไรต์ไปครองเช่นกัน

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำคือ ซีไรต์เล่มที่สองของวีรพร นิติประภา ที่พิสูจน์แล้วว่า รางวัลนี้เธอไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย


เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind)

สำนักพิมพ์ : ยิปซี / ผู้เขียน : ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) / ผู้แปล : ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์

9.jpg

ประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 70,000 ปีของมนุษยชาติถูกร้อยเรียง และพิจารณาผ่านมุมต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และศาสนา เพื่อพาคุณไปหาคำตอบว่า มนุษย์เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้อย่างไร ทำไมเผ่าพันธุ์มนุษย์โฮโมเซเปียนส์ จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถครองพิภพเหนือสัตว์อื่น สร้างวัฒนธรรม และผลิตอาวุธที่ทำลายล้างวัฒนธรรมเหล่านั้นด้วยน้ำมือตัวเอง

เซเปียนส์เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์อ่านสนุกที่ย่อยง่ายด้วยสำนวนการเล่าเรื่องที่ไม่น่าเบื่อแบบรายงานการวิจัย การันตีด้วยยอดขายทั่วโลกกว่าห้าล้านเล่ม และแปลเป็นภาษาต่างๆ แล้วกว่า 50 ภาษา


นวนิยายชุดสถาบันสถาปนา (Foundation Trilogy)

สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์ / ผู้เขียน : ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov)

4.jpg

ในอนาคตอันไกลโพ้น จักรวรรดิสากลจักรวาลอันมีมหาจักรพรรดิเป็นประมุขกำลังล่วงเข้าสู้ยุคเสื่อมโทรม วัฒนธรรมจะล่มสลาย วิทยาการจะถดถอย ซึ่งกินเวลาถึง 30,000 ปี ฮารี เชลดอน นักอนาคตประวัติศาสตร์จึงรวบรวมปราชญ์ และนักวิทยาศาสตร์ไปก่อตั้ง ‘สถาบันสถาปนา’ รวบรวมวิทยาการของมนุษยชาติไว้ ณ สุดขอบจักรวาล เพื่อย่นระยะเวลายุคมืดนั้นลง

ทว่าภัยการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจ สังคม และการแย่งชิงทรัพยากรยังคงคุกคาม ตัวเอกจะต้องเลือกว่า อนาคตของมนุษยชาติจะดำเนินไปในทิศทางใด ‘ประชาธิปไตย’ หรือ ‘อภิชนาธิปไตย’ ที่ปกครองโดยชนชั้นนำ ซึ่งเชื่อว่ามีความรู้ดีกว่าคนทั่วไป

ครั้งนี้ เป็นการนำสถาบันสถาปนากลับมาพิมพ์ใหม่ ไตรภาคนวนิยายไซไฟที่แทบจะสูญหายไปจากประเทศไทยแล้วของ ไอแซค อาซิมอฟ ผู้เขียน ‘ข้าคือหุ่นยนต์’ (I, Robot) และยังเป็นหนังสือชุดที่เอลอน มัสก์ (Elon Musk) ส่งไปดาวอังคารพร้อมจรวดฟอลคอนเฮฟวี (Falcon Heavy) อีกด้วย


❼ เทวตำนานในอริยวิถี

สำนักพิมพ์ : วิภาษา / ผู้เขียน : เอกชัย สถาพรธนพัฒน์

1.jpg

‘เทวตำนาน’ หรือ ‘เทพปกรณัม’ (Mythology) เป็นศิลปะทางวรรณกรรมที่สะท้อนภาพวิถีชีวิต ภูมิปัญญา การจัดสมดุลระหว่างคน สัตว์ สังคม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม บริบททางสังคมที่ผันแปรไปตามแต่ละยุคสมัย...

เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ทางวรรณกรรมอันหลอมรวมกันระหว่างผี พราหมณ์ พุทธ ในสังคมที่มีความหลากหลายดังเช่นสยาม ที่สะท้อนความปรับเปลี่ยนในพลังอำนาจ และบทบาทของเทพ จากอำนาจการพึ่งพาไปสู่พลังธรรมชาติ คือกฎแห่งกรรม และไตรลักษณ์ ในพุทธตำนาน จึงมักปรากฏเรื่องของเหล่าเทวะผู้ยังมิได้รอดพ้นจากภัยในวัฏฏะ มีรัก โลภ โกรธ หลงดั่งปุถุชน หากแต่ถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ขวนขวายการฟังธรรม บำรุงพระศาสนา และช่วยเหลือเกื้อกูลสาธุชนได้เห็นทางธรรม

นี่คือบางส่วนจากคำโปรยปกหลังของหนังสือเทวตำนานในอริยวิถีที่จะพาเราไปอ่านความเป็นวรรณกรรมในพุทธศาสนา และตำนานเทพ เทวดาที่ถูกผนวกรวม และส่งผลกระทบต่อกันกับพุทธศาสนาในไทย


ขัปปะ

สำนักพิมพ์ : เม่นวรรณกรรม / ผู้เขียน : ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ (Akutagawa Ryunosuke) / ผู้แปล : กัลยาณี สีตสุวรรณ

7.jpg

“เจ้าอยากจะถือกำเนิดออกมาในโลกนี้หรือไม่ จงคิดให้ดีแล้วจงตอบมา” ขัปปะตัวพ่อจ่อปากถามเข้าไปในช่องคลอดของขัปปะตัวแม่ทั้งอย่างนั้น แล้วเสียงหนึ่งก็ดังกลับมา... ชวนให้สงสัยว่า หากทารกมีสิทธิเลือกที่จะไม่เกิดได้ ในโลกนี้เราจะเป็นอย่างไรกัน

เรื่องราวของชายผู้พลัดหลงเข้าไปในดินแดนของขัปปะ ซึ่งมีสำนึกรู้คิดคล้ายคนเรา และพฤติกรรมของพวกเขาสะท้อนความบกพร่องของระบบเศรษฐกิจ ความยุติธรรม และศาสนาในสังคมมนุษย์ออกมาได้อย่างแสบสัน

ขัปปะเป็นนวนิยายขนาดสั้นจากปลายปากกาของอะคุตะงาวะ ผู้เขียน ‘ราโชมอน’ โดยขัปปะตีพิมพ์ในประเทศไทยมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2521 เปลี่ยนสำนักพิมพ์ และตีพิมพ์ใหม่เรื่อยมา โดยปีนี้เป็นวาระครบรอบ 40 ปีที่ขัปปะออกสู่สายตานักอ่านชาวไทย


ศิลปะของความผิดหวัง

สำนักพิมพ์ : Salmon Books / ผู้เขียน : กิตติพล สรัคคานนท์

8.jpg

“ผิดพลาดคือมนุษย์ ให้อภัยคือพระเจ้า” - อเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope)

ศิลปะของความผิดหวัง คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับ ‘ความผิดพลาด’ แต่เดี๋ยวก่อน ถึงจะจั่วหัวมาแบบนี้ แต่นี่ไม่ใช่หนังสือ How to ที่ผลิตสูตรสำเร็จของมนุษย์มาให้เป็นข้อๆ กลับกัน มันเป็นความเรียงว่าด้วยความผิดหวังที่น่าจดจำของนักคิดนักเขียนในประวัติศาสตร์ ทั้งนักปรัชญาผู้ไม่สามารถใช้สรรพความรู้ที่มีทำให้ผู้หญิงคนเดียวหันมารักเขาได้ ชีวิตรักของนักเขียนที่ความรักกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำลายชีวิตตัวเอง สิ่งประดิษฐ์แห่งความฝันที่กลายเป็นความผิดหวังในภายหลัง และเรื่องราวอื่นๆ ที่ทำให้เห็นแง่มุมหนึ่งว่า ต่อให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่เพียงไหนก็มีโมงยามที่พ่ายแพ้ผิดหวัง และเราทั้งหลายเองก็ต่างต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน


เด็กสาว

สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์ / ผู้เขียน : มินะโตะ คะนะเอะ (Minato Kanae) / ผู้แปล : กนกวรรณ เกตุชัยมาศ

5.jpg

เมื่อการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนนำไปสู่ความตาย นี่คือจุดเริ่มต้นของนวนิยายลึกลับที่สะท้อนความรุนแรงในสังคม และความมืดหม่นในใจคนที่จะค่อยๆ เปิดเผยความจริงทีละน้อยคล้ายการค่อยๆ ดำดิ่งสู่จิตใจลึกสุดหยั่งของมนุษย์ ตามสไตล์ของมินะโตะ คะนะเอะ ผู้เขียน ‘คำสารภาพ’ (Confession) ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ดังมาแล้ว 

On Being
198Article
0Video
0Blog