ไม่พบผลการค้นหา
การเป่าปี่ตีกลองเลือกตั้ง ดังอีกครั้งหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศชัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมขอให้ทุกคนช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบ

“สิ่งสำคัญที่สุด คสช. พิจารณาอยู่ในวันนี้คือการเตรียมการไปสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คนไทยทุกคนอย่าลืม เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ และอย่าหาว่าผมเอาเรื่องนี้มาอ้าง เป็นคนละเรื่องกัน วันนี้ผมต้องการให้ประเทศชาติสงบ มีเสถียรภาพ ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนในระยะเวลานี้ด้วย ส่วนการเลือกตั้งเราก็เดินของเราไปให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นว่าขัดแย้งอะไรกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไม่ทราบกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเกิดขึ้นเมื่อใด ส่วนจะมีการจัดประชุมเตรียมงานหรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่า ไม่มีการจัดประชุมเรื่องนี้ เพราะเป็นพระราชวินิจฉัย

ซึ่งกำหนดการนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะช่วงต้นปี2560 พล.อ.ประยุทธ์ เคยชี้แจงแล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหลัง 2 พระราชพิธีสำคัญ

“หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระบรมศพ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไปแล้ว เรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองและการเตรียมการเลือกตั้งก็จะเดินต่อไปได้” นายกฯ ระบุ เมื่อวันที่10ม.ค.2560
ประยุทธ์ เทราซา เมย์ อังกฤษ 620114420.jpg

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระหว่างการเดินทางเยือน สหราชอาณาจักร ในการหารือร่วมกันว่า ต้นปีหน้าจะมีการเลือกตั้งแน่นอน เพราะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งต่างๆหลายฉบับทยอยประกาศ มีผลบังคับใช้แล้ว และการเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตยของไทย จะต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และเหมาะกับบริบทของความเป็นไทยด้วย

ขณะเดียวกันสิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการในขณะนี้คือเดินหน้าการปฏิรูปโดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศไทย มีการพัฒนา ที่มีระเบียบแบบแผน ประเด็นสำคัญอีกเรื่องประเทศไทยจะต้องเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 ที่จะทำไปพร้อมๆกัน

ดังนั้นกระบวนการที่นำไปสู่การเลือกตั้งยังคงดำเนินต่อไป โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จัดพูดคุยกับพรรคการเมือง 25มิ.ย.นี้ ช่วงบ่าย ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ โดยจะใช้เวลาพูดคุยราว 2 ชั่วโมง ในการเปิดให้แต่ละพรรคได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการ ‘คลายล็อกพรรค’ เช่น เรื่องสมาชิกพรรค และเตรียมการทำไพรมารีโหวตด้วย แต่ยังไม่อนุญาตให้หาเสียง

โดย พล.อ.ประวิตร เปิดเผยว่า การพูดคุยครั้งนี้ไม่อนุญาตให้นำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องพูดคุย และการพูดคุยจะเชิญตัวแทนพรรคละไม่เกิน 3 คน มาร่วมแลกเปลี่ยน ซึ่งในการหารือจะมี นายวิษณุ และ ประธาน กกต. เข้าร่วมด้วย เพื่อตอบคำถามและรับข้อเสนออื่นๆมาประชุมในวง คสช. เพื่อนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาต่อไป และจะไม่มีการถ่ายทอดสด

แน่นอนว่าการกลับมาใช้ สโมสร ทบ. ก็ทำให้เกิด ‘ภาพหลอน’ กับบรรดานักการเมืองไม่น้อย หลังเคยเป็นจุดชนวนเหตุรัฐประหาร 22พ.ค.2557 หลังการประชุม 7 ฝ่ายไร้ข้อยุติ จนนำมาสู่การยึดอำนาจของ คสช. นักการเมืองที่เข้าพูดคุย ‘ไม่ได้กลับบ้าน’ ต้องไปเข้าค่ายแทน แต่ไม่ใช่เรื่องเกิดคาดการณ์เพราะสถานการณ์ถูกปูทางด้วย ‘กฎอัยการศึก’ เรียบร้อยแล้วในอดีต

“โอ๊ย คิดมากไปได้” พล.อ.ประวิตร แจงสื่อ ใช้สโมสร ทบ. ซ้ำรอยอดีตไหม ?

ทั้งนี้ การหารือจะมีทั้งหมด 2 รอบ โดยครั้งต่อไป จะจัดขึ้นหลังจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ โดยบวกไปอีก 90 วัน หลังประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการพูดคุย


ทั้งนี้หากยึดตามโรดแมปและรัฐธรรมนูญ ปี2560 ก็จะอยู่ที่ช่วงเดือนธ.ค.2561 และเข้าสู่ห้วงระยะเวลาเลือกตั้งภายใน 150 วัน ระหว่าง ธ.ค. 2561-เม.ย. 2562 ด้วย ซึ่งทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมป

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ได้ปฏิเสธการเข้าร่วมการพูดคุยไปแล้ว โดยให้เหตุผลในเรื่อง ‘การเปิดเผย’ ให้ประชานทราบ เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ อีกทั้งการพูดคุยครั้งนี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ได้เชิญสื่อไปทำข่าว แต่ไม่ได้ห้าม ถ้าสื่อจะไปทำข่าวนักการเมืองเหล่านี้

ประยุทธ์-ลอนดอน-ผ้าพันคอ

การปฏิเสธการพูดคุยครั้งนี้ของ ‘พรรคเพื่อไทย-อนาคตใหม่’ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะทั้ง 2 พรรค เป็นขั้วตรงข้าม คสช. หากเทียบกับพรรคอื่นๆที่เข้าร่วมก็ไม่ต้องแปลกใจเช่นกัน เพราะต่างพร้อมยืนข้างผู้ชนะหรืออยู่เคียงข้างคสช.ทุกเมื่อ ทั้งพรรคนอมินีทหาร พรรคขนาดกลาง หรือพรรคที่เป็นตัวแปร เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

ดังนั้น ‘ปฏิทินการเมือง’ ยังคงดำเนินต่อไป แต่การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจะต้องเป็นไปทีละขั้นตอน โดยเฉพาะการทำไพรมารี่โหวตของพรรคการเมือง ที่มีความกังวลว่าจะไม่ทันเวลา ซึ่งเรื่องนี้ว่ากันว่าอาจมีปลายทางต้องออก มาตรา 44 มาแก้ปัญหา ซึ่งต้องดูผลสรุปในการพูดคุยวันที่ 25มิ.ย.นี้

ทั้งหมดนี้เป็น ‘ความเชื่อใจ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีให้ พล.อ.ประวิตร ในการพูดคุยกับนักการเมือง และ ‘เชื่อมือ’ พล.อ.ประวิตร ว่าจะสามารถพูดคุยกับนักการเมืองเหล่านี้ได้ เพราะ พล.อ.ประวิตร เองก็เคยทำงานร่วมกับนักการเมืองมาหลายคน สมัยเป็น รมว.กลาโหม ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ และจักรู้จัก ‘ธรรมชาตินักการเมือง’ อยู่บ้าง

อีกทั้ง พล.อ.ประวิตร มีคอนเนคชั่นฝ่ายการเมืองไม่น้อย นับตั้งแต่สมัย พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ขึ้นเป็น รมว.กลาโหม จึงเป็นอีกแรงผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. ในยุครัฐบาลทักษิณ แล้วโยก พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ลูกพี่ลูกน้องนายทักษิณ ไปเป็น ผบ.สส. เพื่อรอเกษียณฯมาแล้ว

ที่ต้องจับตามองต่อไปคือ รูปร่าง-หน้าตาของรัฐบาลในอนาคต จะเป็นอย่างไร ?

ท่ามกลางกระแสข่าวการตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ และมี ‘นายกฯคนกลาง’ ขึ้นมา

สมศักดิ์ สุริยะ อนุชา ปรีชา plate.jpg

ซึ่งชื่อที่ยังเต็งหนึ่ง คือ พล.อ.ประยุทธ์ ในเวลานี้ โดยมีพรรคพลังประชารัฐ เป็นแม่ทัพเดินเรื่องให้ หลังเดินเครื่องดูดอดีตส.ส.ในพื้นที่ภาคอีสาน ในนามกลุ่ม ‘สามมิตร’ นำโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรียุค ‘รัฐบาลทักษิณ’ ที่เป็นแก๊งค์เดียวกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในยุคนั้นด้วย

จึงเป็น ‘3ส.’ ที่ถูกจับตามองในเวลานี้

แม้ทั้ง ‘3ส.’ จะยังไม่เปิดตัวทางการกับพรรคพลังประชารัฐก็ตาม ที่สำคัญในอดีต นายสุริยะ ถือเป็นแหล่งทุนสำคัญของพรรคไทยรักไทย และนายสมศักดิ์ เป็นอีกกุนซือสำคัญในยุคนั้นของนายทักษิณด้วย ทั้งหมดนี้ก็พอจะสะท้อนภาพอนาคตของพรรคพลังประชารัฐได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐเองยังไม่ได้มีการจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมามีเพียงการไปยื่นเรื่องขอจดจัดตั้งกับ กกต. เท่านั้น แต่เชื่อได้ว่าคงอีกไม่นาน รอความชัดเจนจากผู้มีอำนาจในพรรค โดยมีรายงานว่าอยู่ระหว่างการเคาะกำหนดการต่างๆและการฟอร์มทีม

หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่กล่าว “ผมพอแล้ว” ก็เท่ากับทุกอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกจับตามองในขณะนี้ ยังคงดำเนินต่อไป

ตำแหน่งเต็งหนึ่ง ‘นายกฯคนกลาง’ ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่เคยพูด ‘ปิดประตู’ ตัวเอง ท่ามกลางชื่อ ‘นายกฯคนกลาง’ ที่มีมาใหม่เรื่อยๆ

เพียง ‘ครึ่งปี61’ หลายเรื่อง ‘มาไกล’ ไม่น้อย !!

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog