ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันพระปกเกล้า จัดเสวนา เหลียวหลังแลหน้าสถาบันพระปกเกล้ากับการพัฒนาประชาธิปไตย วาระครบรอบ 20 ปีแห่งการสถาปนาวันที่ 5 กันยายน

โดยศาตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าบทบาทของสถาบันนี้ ในการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่ใต้กรอบรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ออกแบบมาป้องกันไม่ให้นักการเมืองสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร และบทบาทของสถาบันในอดีตที่น่าชื่นชมและสมควรทำคือ การเป็นตัวกลางประสานให้ผู้แทนรัฐบาลและแกนนำมวลชน มานั่งคุยกันต่อสาธารณชนในปี 2553 

ศาตราจารย์ไชยันต์ ยืนยันว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบันไม่ได้เกิดจากฝ่ายที่ต้องการกับไม่ต้องการประชาธิปไตย แต่มาจากการมองประชาธิปไตยคนละแบบ คือ ระหว่างฝ่ายที่ต้องการแค่การเลือกตั้งกับฝ่ายที่ต้องการมากกว่าการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เห็นจุดยืนของสถาบันว่าต้องการแบบไหน แต่เห็นการให้พื้นที่กับทุกฝ่ายทั้งการให้ทุนวิจัยและเวทีนำเสนอ จึงเห็นว่าสถาบันจำเป็นต้องมีจุดยืน แม้บุคลากรจะมีจุดยืนของตัวเอง แต่เมื่อเข้ามาทำงานต้องอยู่ภายใต้จุดยืนของสถาบัน

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่านอกจากเป็นตัวกลางสำหรับคู่ขัดแย้งและนำคนต่างขั้วมาทำงานวิชาการร่วมกัน ซึ่งสถาบันพระปกเกล้ามีศักยภาพอยู่แล้ว ควรมีเวทีพูดคุยเกี่ยวกับข้อถกเถียงและปัญหาพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งพระราชอำนาจหรือนายกรัฐมนตรีพระราชทานและขอบเขตอำนาจสถาบันสำคัญต่างๆ รวมถึงเปิดพื้นที่วิชาการทั้งทางโซเชียลมิเดีย เสริมหลักสูตรที่หลายมหาวิทยาลัยจะปิดตัวหรือยกเลิกหลักสูตรไปในอนาคต


รองประธานสนช. ย้ำ 'สถาบันพระปกเกล้า' วางตัวเป็นกลาง มุ่งพัฒนาปชต.

สุรชัย-เลี้ยงบุญเลิศชัย.jpg


นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นพ้องว่า การจะทำให้สถาบันนี้ได้รับการยอมรับ จำเป็นต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน ทั้งความเป็นกลางและการมุ่งมั่นพัฒนาประชาธิปไตย ผู้บริหารต้องแยกแยะจุดยืนของตัวเองกับสถาบันให้ชัดเจนแม้ว่าเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ทรงคุณวุฒิถูกเลือกมาจากฝ่ายการเมืองที่อาจมีอิทธิพลเหนือเลขาธิการสถาบัน ผู้บริหารสถาบันจึงต้องมีความกล้าหาญและมั่นคง 

โดยเห็นว่า วิกฤติการเมืองที่ผ่านมาเกิดจากปัญหาดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ,บริหารและตุลาการ ซึ่งผู้เข้าสู่อำนาจทั้ง 3 ฝ่ายต้องรู้จักขอบเขตอำนาจตัวเองจึงจะไม่เกิดปัญหา และต้องออกแบบการเข้าสู่อำนาจให้เหมาะสมและสร้างความเข้าใจร่วมกันในการถ่วงดุลอำนาจ รวมถึงการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่บ่อยครั้งการออกกฎหมายมักจำกัดสิทธิประชาชน อย่างพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะ และเงื่อนไขการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ขณะที่ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ประธานคณะกรรมการวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า นักศึกษาของสถาบันมีจุดยืนที่หลากหลาย แต่เลขาธิการต้องเป็นกลาง ท่ามกลางความขัดแย้งในบริบทสังคมการเมืองทั้งในและนอกสภาคือจุดยืนสำคัญของสถาบัน ส่วนการดำเนินงานนั้น สิ่งใดที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จควรยกเลิกและริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ หรือขยายงานเพิ่มเติมตามที่วิทยากรทั้ง 2 ท่านเสนอมา 

อ่านเพิ่มเติม