ไม่พบผลการค้นหา
เวทีบทบาทรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ เห็นพ้องพึ่งสภาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวประชาชน 'ช่อ' หักคม 'ชวน' ไร้เกียรติไม่เห็นหัวเจ้าของอำนาจที่แท้จริง 'ชูวัส' ห่วงผู้มีอำนาจปั่นหัวม็อบ ไม่ได้ต้องการเบรก แต่หวังกระเพื่อมให้ไปต่อโดยมีเป้าประสงค์แอบแฝงที่น่ากลัว

คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน หรือ กมธ.กฎหมาย สภาผู้แทนราษฏร จัดสัมมนา 'รัฐสภากับการพัฒนาระบบกฎหมาย อำนวยความยุติธรรม และพิทักษ์สิทธิมนุษยชน' โดยมีการเสวนาเวทีที่ 2 หัวข้อ 'บทบาทของรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญ'

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ iLaw อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ หากสมัยประชุมหน้ามีการนำมารวมกันกับ 6 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้แล้วอาจโดนตีตกไปทั้งหมด 7 ญัตติได้ หรือหากไม่นำมารวมกัน โดยเเยกเฉพาะของ iLaw ปัญหาก็ยังอยู่ที่การตีความว่าด้วย "ญัตติที่มีหลักการเดียวกันกับที่สภาฯ ตีตก จะเสนอไม่ได้ในสมัยการประชุมเดียวกัน" ดังนั้น แนวทางที่เลวร้ายที่สุด คือ ญัตติของ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ที่ค้างมาจากวันที่ 24 ก.ย.นั้น เมื่อเปิดประชุมมาถูกคว่ำหมด ก็ต้องมาลุ้นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของ iLaw จะเข้าสภาได้หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความว่า มีหลักการเดียวกันกับที่สภาตีตกหรือไม่ด้วย

ชัยธวัช กล่าวด้วยว่า ระหว่างกรรมาธิการร่วมศึกษารายละเอียดแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มองว่า ทางรัฐบาลกับ ส.ว.น่าจะต้องการดูปฏิกิริยาของสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อการลงมติของรัฐสภา ถ้าร่างของ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลตกไปแต่ ร่างของ iLaw ผ่านเข้าไปในสภาได้ วาระที่ 1 ตัวแทนภาคประชาชนมีสิทธิ์เข้าไปชี้แจงในสภา แต่ไม่สามารถเข้าไปเป็นกรรมาธิการได้ 

ส่วน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวถึงการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกและกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 กันยายนหน้ารัฐสภาว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา สมควรถูกด่า เพราะเป็นผู้มีบทบาทหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ส่วนการใช้คำหยาบคายในการปราศรัยหรือชุมนุมเป็นสันติวิธีหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เพราะไม่ใช่นักสันติวิธี แต่เชื่อมั่นและยืนยันได้ว่า แกนนำผู้ชุมนุมสามารถควบคุมมวลชนได้ และไม่เคยกังวลว่ามวลชนจะใช้ความรุนแรง

ยิ่งชีพ ยืนยันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ iLaw ยื่นนั้น เป็นของทุกคนที่ร่วมลงชื่อมากกว่า 1 แสนคน ที่มีความเป็นเจ้าของอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเข้าสภาแล้วมีการปฏิบัติที่จงใจหรือตั้งใจเตะถ่วง เพื่อให้ร่างของประชาชนไม่ถูกพิจารณาอย่างไม่เป็นธรรม หลายคนถามตนว่า จะเอาอย่างไรต่อ ตนคิดว่า บทบาทของตนคือยกร่างขึ้นเสนอต่อสังคม รวบรวมรายชื่อไปเสนอต่อสภาฯ และหน้าที่ของตนจบลงแล้ว จึงไม่ได้มีหน้าที่ตอบว่าจะทำอย่างไร กับร่างของประชาชน

"ทุกคนมีอำนาจในการที่จะตอบคำถามนี้ หากว่าเราตั้งใจเสนอทางออกจากปัญหาความขัดแย้งการเมืองปัจจุบันร่วมกัน ตามระบบที่มีอยู่ ตามกฎหมายที่เขาเขียนไว้เอง ถ้าเขาไม่อยากรับมัน ก็แปลว่าเราแก้ไขปัญหาที่ในระบบไม่ได้ ที่เหลือก็เป็นทางเลือกของทุกท่าน หนึ่งแสนกว่าคน ว่าจะหาวิธีแก้ไขอย่างไร"

พรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษา กมธ.กฎหมาย กล่าวถึงผลโพลล์ เมื่อเดือน พ.ค. 2561 ของพรรคอนาคตใหม่ว่า มีคนไทยกว่า 80% ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่กระเตื้อง กระทั่งประชาชนตื่นตัวขึ้นมาเรียกร้องบนท้องถนนและรวบรวมรายชื่อเสนอร่างแก้ไข จึงเป็นกระแสสูงในสังคมและ ส.ว.-ส.ส.รับฟัง ส่วนการอภิปรายนอกสภาหรือการปราศรัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเยาวชนนักศึกษา ที่พูดเรื่องสถาบันหลักด้วยนั้น ตนก็แปลกใจ แต่เมื่อถามจากหลายๆ ส่วน พบคำตอบว่า 99 % ของผู้ที่คัดค้าน ล้วนอ้างสถาบันฯ เพื่อไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

"เมื่อบ้านเมืองเป็นแบบนี้จะให้ประชาชนได้อย่างไร ว่าทำไมประชาชนต้องออกมาเรียกร้องเรื่องเหล่านี้ ตกลงอะไรเกิดก่อน เพราะมีผู้อ้างสถาบันฯ เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฐานอำนาจของตัวเอง จึงทำให้ประชาชนต้องตัดสินใจเรียกร้องว่าปฏิรูปสถาบันด้วยเลย จะได้จบทุกอย่าง จะได้เคลียร์ทุกอย่าง จะไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือแล้วกดหัวประชาชน ให้สถาบันฯ อยู่อย่างมั่นคงสถาพรและสง่างาม ดีกว่ามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ตกลงจะโทษประชาชนหรือโทษคนที่ชอบแอบอ้างสถาบันมาปกป้องอำนาจตัวเอง"

พรรณิการ์ ยังกล่าวถึงคำพูดชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก่อนปิดการประชุมวันที่ 24 ก.ย.ที่ว่า "พวกเราทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องหวั่นไหวกับเสียงภายนอก" นั้น ตนเห็นว่า ถ้าไม่หวั่นไหวต่อเสียงภายนอกที่เป็นประชาชน จะหวั่นไหวจากข้างบนอย่างนั้นหรือ แล้วแบบนี้รัฐสภาจะเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างไร และอย่าลืมว่ารัฐสภามีความศักดิ์สิทธิ์และเกียรติ เพราะ เป็นองค์กรเดียวที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนและใช้อำนาจของประชาชน เมื่อปฏิเสธที่จะหวั่นไหวหรือตอบสนองต่อเสียงของประชาชนผู้มอบอำนาจให้ รัฐสภาจะมีความศักดิ์สิทธิ์และเกียรติยศอะไรเหลืออยู่

ด้านชูวัส ฤกษ์ศิริสุข สื่อมวลชนอิสระ กล่าวว่า การมีรัฐสภา หรือสภาผู้แทน ไม่ได้แปลว่าเป็นรัฐประชาธิปไตยเสมอไป เพราะในรัฐเผด็จการหรือฟาสซิสต์ ก็มีสภาเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อพูดไม่ถึงที่สุดแล้ว สภาฯ ไม่ใช่ความหวังหรือคำตอบทั้งหมด แม้จะมีพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งก็ตาม แต่จะต้องสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของประชาชนด้วย ขณะที่สภาพการณ์ของสังคมไทยปัจจุบันพบว่า ตัวแทนในสภาฯ ล้าหลังหรือไปไม่ทันมวลชนที่เคลื่อนไหวนอกสภา โดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวกับเป้าหมายและข้อเสนอต่างๆ 

ชูวัส มองว่า การที่ฝ่ายรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ ยอมนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปพิจารณาในสภาฯ แล้วพยายามยื้อเวลานั้น ไม่ใช่แค่ไม่มีความจริงใจและไม่ได้ต้องการสกัดให้ม็อบยุติลง หรือไม่ใช่แค่การไม่เห็นหัวการชุมนุมเท่านั้น เพราะสามารถรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 แล้วไปคว่ำในวาระ 2 วาระ 3 ในสภาได้ แต่ที่ยื้อเช่นนี้ เป็นการพยายามทำให้การชุมนุมกระเพื่อมต่อ ด้วยจุดประสงค์อะไรก็ไม่รู้ จึงเป็นเรื่องน่ากังวล

ชูวัส มองว่า คนที่ได้อำนาจจากการชุมนุมคือกองทัพ เพราะบริหารการชุมนุมมาก่อน รู้จังหวะจะโคน หรือทิศทางการชุมนุม รู้กระแสสูงกระแสต่ำและจังหวะที่จะจัดการผู้ชุมนุมด้วย ส่วนการชุมนุมของเยาวชนนักศึกษาห้วงนี้ มีจุดแข็งคือ คนรุ่นใหม่ และไม่ใช่มองแค่แกนนำที่เป็นนักศึกษา แต่ต้องพิจารณาบทบาทของนักเรียนด้วย เพราะจากที่เห็น นักเรียนพูดแต่ละครั้ง "ถึงกึ๋น" นั้น และ "ต่อให้คุณไม่เอารุ้ง ไม่เอาเพนกวิน คุณจะเจอภาคีนักเรียนเลว ที่มีความลึกซึ้ง อดทนและเด็กกว่า มีเวลาที่ยาวนานในการต่อสู้" ซึ่งรัฐบาลต้องตระหนักเรื่องนี้ให้ดีด้วย

ทั้งนี้ เห็นว่า ผู้มีอำนาจไม่ควรผลักเรื่องการเปลี่ยนแปลงออกไปบนท้องถนน ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวชุมนุม ที่อาจมีผู้คาดหวังจะยกระดับไปสู่การ สถาปนาอำนาจรัฐโดยประชาชนนั้น แม้ถึงที่สุดจะเป็นการปฏิวัติประชาชนซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย ก็จะต้องมีการจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ และยังอาจจะมีเผด็จการตัวใหม่เกิดขึ้นอีกได้ จึงเห็นว่า การเคลื่อนไหวบนท้องถนนควรค่อยเป็นค่อยไป เหมือนการกินข้าวทีละคำ