ไม่พบผลการค้นหา
การเป็นตัวแปรที่ทำให้เกาหลีเอาชนะทหารญี่ปุ่นได้ และทำให้การปกครองของฝ่ายอัครมหาเสนาบดีและองค์ราชินีต้องล่มสลาย หากมองในแง่นี้ การปรากฏตัวของซอมบี้จึงนำไปสู่การ ‘รีเซ็ต’ ทางประวัติศาสตร์

Kingdom ซีซั่นแรก (2019) ได้รับเสียงตอบรับทางบวกอย่างล้นหลาม ทั้งการผสมผสานกันระหว่างการเป็นซีรีส์ย้อนยุค + ซอมบี้ และเรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างชวนลุ้นระทึก ประกอบกับความยาวเพียง 6 ตอน ตอนละไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ทำให้หลายคนดู Kingdom จบภายในวันเดียวอย่างไม่ยาก (รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย)

สังเกตได้ว่า Netflix Original Series สัญชาติเกาหลีใต้เริ่มมีทยอยออกมาให้ดูกันเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่จะยังเป็นแนวโรแมนติกคอเมดี้ เช่น My First First Love หรือ Love Alarm จะมีเรื่อง Kingdom ที่แหวกแตกต่างจนกลายเป็นกระแสระดับโลกได้

นอกจากนั้นเรายังเห็นความแตกต่างของซีรีส์เกาหลีเน็ตฟลิกซ์กับเรื่องที่ออกอากาศทางช่องปกติ กล่าวคือซีรีส์เน็ตฟลิกซ์จะค่อนข้างกระชับ ไม่ยืดเยื้อ ความยาวเฉลี่ยที่ 8-10 ต้องถ่ายทำจนเสร็จถึงค่อยออกอากาศ ในขณะที่ซีรีส์เกาหลีปกติมักยาว 16 ตอน ถ้าเรื่องไหนเรทติ้งดีก็ขยายเป็น 20 ตอน จนหลายครั้งกลายเป็นความย้วยยืดยาด นอกจากนั้นซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ยังมีภาพโหดร้ายได้โดยไม่ต้องเซนเซอร์ อย่าง Kingdom มีทั้งฉากหัวขาดเลือดสาด แต่ถ้าเป็นซีรีส์เกาหลีทางโทรทัศน์ แค่ตัวละครถือมีดก็ต้องเบลอภาพกันแล้ว

แน่นอนว่า Kingdom ซีซั่น 2 เป็นที่รอคอยของผู้คนมากมาย ความไฮป์ของมันทำให้หลายคนรีบตะลุยดู ทั้งอยากอินเทรนด์ อยากคุยกับคนอื่นให้รู้เรื่อง รวมถึงกลัวการถูกสปอยล์ ซึ่งคราวนี้ผู้เขียนก็ดูจบในหนึ่งวันเช่นเดิม ยอมรับว่าตัวเรื่องทำได้ลื่นไหลชวนติดตาม และชอบที่มีการ ‘ฆ่า’ ตัวละครทิ้งมากมายแบบไม่เสียดาย อาจเพราะผู้สร้างวางแผนซีรีส์ไว้ถึง 10 ซีซั่น แปลว่ายังมีเรื่องราวและตัวละครใหม่ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี มีจุดที่ผู้เขียนรู้สึกผิดหวังอยู่พอสมควรกับซีซั่นสอง

**บทความต่อจากนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์**

ประการแรกเลยซีรีส์ดำเนินอย่างรวดเร็วจนเกิดความสับสนด้านสถานที่และภูมิศาสตร์ อย่างที่เห็นว่ากลุ่มตัวละครเอกต้องเดินทางไปเมืองนั้นเมืองนี้หลายเมือง การตัดต่อแบบฉึบฉับทำให้รู้สึกตลกว่าพระเอกมีประตูไปทุกหนแห่งแบบการ์ตูนเรื่อง ‘โดราเอมอน’ หรือเปล่า ยังไม่นับว่าหลายฉากนำเสนอว่ากลุ่มพระเอกเดินทางด้วยการ ‘วิ่งหน้าตั้ง’ การวิ่งข้ามเมืองเป็นเรื่องไม่ค่อยสมเหตุสมผลที่ทำใจปล่อยผ่านได้ยาก

04.jpg

ต่อมาคือ Kingdom ซีซั่น 2 ดูพยายามอย่างมากที่จะสร้างความ ‘หักมุม’ ตลอดเวลา ซึ่งบางมุกก็เวิร์ค เช่น การที่ตัวละครบางตัวยอมสละชีพกลายเป็นซอมบี้เพื่อผลทางการเมือง หรือตัวละครที่เราเชื่อว่าเป็นฝ่ายดีกลับหักหลังพระเอก แต่บางมุกก็ดูไม่เข้าท่าจนเผลออุทานออกมา (แน่นอนว่าไม่ใช่คำชื่นชม) อย่างจุดจบของอัครมหาเสนาบดีที่อุตส่าห์รอดจากการถูกซอมบี้กัดมาได้ แต่กลับตายอย่างง่ายๆ (ที่จริงต้องเรียกว่า ‘อย่างโง่ๆ’) จนน่าตกใจ           

สุดท้ายคือเรื่องของการสร้างละครบางตัวที่มีปัญหาพอสมควร โดยเฉพาะองค์ราชินีที่ปูเรื่องมาอย่างยิ่งใหญ่ว่านางแสนร้ายกาจ แต่ไพ่ตายสุดท้ายของนางกลับเป็นกลยุทธ์เสียสติที่ทำเอาหัวเราะออกเสียง (เอาเถอะ อาจมองได้ว่าองค์ราชินียังเด็กอยู่) และยังไม่นับฉากจบที่ขายตัวละครใหม่ที่นำแสดงโดยจอนจีฮยอนแบบ ‘ฮาร์ดเซลล์’ จนรู้สึกเขินแทน กลายเป็นการปิดเรื่องเด๋อๆ ที่ไม่สง่างามเอาเสียเลย

ถึงกระนั้นจุดที่ผู้เขียนชื่นชมเป็นพิเศษคือการแสดงของแบดูนา อย่างที่เราทราบกันว่าเธอเล่นหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์มาหลายเรื่อง ขึ้นปกนิตยสารชั้นนำมามากมาย ตัวเธอเองยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าคนเกาหลีตั้งฉายาให้เธอว่า ‘หลุยส์ วิตตอง เดินได้’ แต่ใน Kingdom แบดูนาก็สามารถเล่นเป็นหญิงชาวบ้านซื่อๆ ได้อย่างน่าเชื่อถือ

00.jpg

อีกประเด็นที่คิดว่าน่าสนใจมากจาก Kingdom ซีซั่น 2 คือเรื่อง ‘สถานะ’ และ ‘ฟังก์ชั่น’ ของเหล่าซอมบี้ ทั้งการเป็นตัวแปรที่ทำให้เกาหลีเอาชนะทหารญี่ปุ่นได้ รวมถึงทำให้การปกครองของฝ่ายอัครมหาเสนาบดีและองค์ราชินีต้องล่มสลาย

เช่นนั้นแล้วหากมองในแบบช่วงเวลา ซอมบี้จึงเป็นหนึ่งใน ‘วงจร’ ทางประวัติศาสตร์มนุษย์ที่คอยปรากฏตัวอยู่เรื่อยๆ และนำไปสู่การ ‘รีเซ็ต’ ทางประวัติศาสตร์

ยิ่งไปกว่านั้น Kingdom ไม่ได้นำเสนอซอมบี้ในฐานะปิศาจร้ายเท่านั้น แต่ยังเรียกว่ามันเป็น ‘โรคระบาด’ ซึ่งโรคระบาดทั้งหลาย ไม่ว่าจะกาฬโรค, HIV, SARS, อีโบล่า จนมาถึง Covid-19 ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ เอาที่จริงสิ่งที่มาดอนน่าพูดทางอินสตาแกรมของเธอว่าโควิด-19 คือตัวสร้างความเสมอภาค-เพราะไม่ว่าจะคนเพศไหน ชนชั้นใดก็มีโอกาสติดโรค-ก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง อย่างใน Kingdom ไม่ว่าจะชาวบ้านหรือเจ้าล้วนถูกซอมบี้เล่นงาน แต่มาดอนน่าอาจลืมคิดไปว่าชนชั้นล่างย่อมมีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้น้อยกว่า นั่นเป็นผลทำให้เธอถูกกระแสด่ากลับแบบไม่เหลือชิ้นดี

03.jpg

Kingdom ซีซั่น 2 ยังสะท้อนถึงการรับมือของชนชั้นปกครองต่อโรคระบาด เมื่อผู้มีอำนาจไม่สามารถจัดการกับมันได้ดีพอก็สมควรจะลงจากตำแหน่งไป ซีรีส์จึงฉายในจังหวะพอเหมาะพอดีกับการที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังต่อสู้กับโควิด-19 อย่างยากลำบาก ผู้นำอย่าง ลี เซียนลุง (สิงคโปร์) หรือ ไช่ อิงเหวิน (ไต้หวัน) ที่รับมือกับสถานการณ์ได้ดีย่อมได้ความนิยมเพิ่มขึ้นจากประชาชน ส่วนชินโซะ อาเบะ (ญี่ปุ่น) ที่ทำอะไรเชื่องช้าก็เรทติ้งตกอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนผู้นำไทยที่แถลงอะไรแล้วคนฟังไม่เข้าใจ แถมยังประกาศปาวๆ ว่า “ประเทศไทยต้องชนะ” ก็ชวนให้สงสัยว่าจะชนะได้อย่างไร ด้วยวิธีใด วัดอย่างไรว่าชนะ และที่สำคัญคือถ้าประเทศชนะเราจะได้อะไร

พลันนั้นประโยคดังจาก Alien vs. Predator ก็ลอยเข้ามาในหัว …Whoever Wins, We Lose