ไม่พบผลการค้นหา
เขตสุขภาพที่ 9 นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ย้ำความมั่นใจ 1 พ.ย. 2563 นำร่องนอนโรงพยาบาลไม่ต้องใช้ใบส่งตัว หวังผลักดันนโยบายเป็นตัวอย่างให้เขตอื่นๆ นำไปปรับใช้ทั่วประเทศ

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 เปิดเผยว่าเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งมีประชากรกว่า 7 ล้านคน ขณะนี้มีความพร้อมเต็มที่ในการดำเนินการตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อลบคำว่าผู้ป่วยอนาถา เปลี่ยนเป็นผู้ป่วย VIP โดยจะยกเลิกการใช้ใบส่งตัวกรณีผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 เป็นต้นไป

นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า การต้องใช้ใบส่งตัวสำหรับผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นความทุกข์ของประชาชน เพราะด้วยเหตุผลในการทำงานหรือการเคลื่อนย้ายประชากร ทำให้บางครั้งไม่สามารถกลับไปรับบริการในหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้ได้ เช่น มาทำงานอยู่ต่างจังหวัด อาจจะอยู่ห่างจากหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้เกือบ 200 กม. ทำให้ยุ่งยากในการเข้ารับบริการเพราะต้องใช้ใบส่งตัว แต่เนื่องจากระบบการส่งต่อข้อมูลในปัจจุบันมีความทันสมัยมากแล้ว มีฐานข้อมูลเชื่อมโยงถึงกัน และในส่วนของเขตสุขภาพที่ 9 มีความพร้อมในเรื่องระบบข้อมูลอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ป่วยในที่ต้องนอนโรงพยาบาลจึงไม่ต้องใช้ใบส่งตัวใดๆ ทั้งสิ้น

"เขต 9 เราได้พูดคุยกันกับทีมงานและมีความตั้งใจดีที่จะทำงานนี้ร่วมกัน เพื่อผลักดันนโยบายนี้ให้เป็นตัวอย่างที่เขตสุขภาพอื่นๆ อาจจะจำลองระบบนี้ไปปรับเข้ากับบริบทของแต่ละเขตได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั่วประเทศในด้านสุขภาพและด้านสาธารณสุขต่อไป" นพ.พงศ์เกษม กล่าว

ขณะที่ พญ.ลลิตยา กองคำ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 9 นครราชสีมา กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 เป็นเขตแรกที่จะนำร่องในเรื่องการยกเลิกการใช้ใบส่งตัวสำหรับผู้ป่วยใน ซึ่งในส่วนของ สปสช.มีบทบาทในการสนับสนุนการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแก่หน่วยบริการ ดังนั้นขอย้ำให้หน่วยบริการต่างๆ มั่นใจว่า สปสช.ได้เตรียมระบบการจ่ายชดเชยต่างๆ ตามไปรองรับ ซึ่งนอกจากเงินภายในเขตแล้วยังจะมีเม็ดเงินมาเพิ่มเติมเพื่อประกันความเสี่ยงของหน่วยบริการในการนำร่องเอานโยบายมาปฏิบัติ ดังนั้นขอเรียนเพื่อความมั่นใจว่าในเชิงของเม็ดเงินมีเพียงพอในการสนับสนุนนโยบายแน่นอน

พญ.ลลิตยา กล่าวด้วยว่า นอกจากโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีโรงพยาบาลนอกสังกัดอื่นๆ ในพื้นที่เขต 9 เข้าร่วมด้วย เช่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพและโรงพยาบาลของค่ายทหาร ได้มีการหารือกับ สปสช.แล้วว่าถ้าเป็นกรณีผู้ป่วยในที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล โรงพยาบาลเหล่านี้ก็ยินดีรับเป็นผู้ป่วยในเช่นกัน

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า การเป็นเขตพื้นที่นำร่องแสดงให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาแล้วว่ามีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวโรงพยาบาล ผู้บริหาร บุคลากรทั้งหมดที่อยู่ในเขตนี้มีความพร้อมที่จะดูแลโครงการ ซึ่งในมุมของผู้ให้บริการแล้วตนไม่ได้มีความรู้สึกว่าเป็นภาระหนักอะไรเลยกับการที่ผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปเอาใบส่งตัว และในอนาคตหากประกาศใช้นโยบายนี้ทั้งประเทศ ตนก็คิดว่ายังไม่น่าหนักใจมากเพราะกระทรวงสาธารณสุขเองก็พัฒนาระบบหน่วยบริการในที่ต่างๆ ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่อยู่แล้ว ตนคิดว่านโยบายนี้จะไม่ทำให้ภาระของโรงพยาบาลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะ สปสช.เองก็จัดระบบรองรับไว้อยู่แล้วในเรื่องของภาระค่าใช้จ่าย เป็นการจ่ายที่ยุติธรรมตามปริมาณงานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถือว่าหน่วยบริการไม่ได้มีความเสี่ยงใดๆ เลย

"ในส่วนของผู้รับบริการ ขอให้ความมั่นใจครับว่าเราจะไม่เรียกร้องให้ท่านกลับไปเอาไปส่งตัวด้วยเงื่อนไขเกี่ยวกับการจ่ายเงินครับ วันนี้ก็ขอให้ความมั่นใจนะครับ" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว