ไม่พบผลการค้นหา
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนกำลังจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเจอทางตันด้านการเติบโต และขาดอิสรภาพทางการค้า ส่วนรัฐฯ อาจเข้าใจผิดว่าจีนเต็มใจช่วยไทย

'วรวุฒิ อุ่นใจ' ประธานสมาคมค้าปลีกไทย และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จํากัด (มหาชน) กล่าวตลอดการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ว่า เอสเอ็มอีไทยยุคนี้ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมไปถึงภาครัฐ ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจต่อรองกับบริษัทอีคอมเมิร์ซของจีนอย่างสิ้นเชิง พร้อมแสดงความเป็นห่วงอย่างที่สุดว่า รัฐบาลไทยอาจกำลังเข้าใจผิดว่าจีนเต็มใจเดินเข้าโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ อีอีซี เพื่อช่วยให้ไทยมีประตูส่งออกสินค้าไปจีน

สายไปที่จะลุกขึ้นมาสู้

ทุกวันนี้รูปแบบธุรกิจค้าปลีกที่ทั้งโลกรวมถึงจีนกำลังใช้ คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Platform Economy’ หรือเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่อาจยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ อย่างแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่เราคุ้นชิน อาทิ ลาซาด้า ประเทศไทย ที่มีอาลีบาบาเป็นเจ้าของใหญ่ หรือ แอมะซอน เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรายแรกๆ ของโลกจากฝั่งสหรัฐฯ

ตามข้อมูลจาก Statista เว็บไซต์รวบรวมสถิติทางการตลาดของเยอรมนีชี้ว่า ส่วนแบ่งทางการตลาดของอีคอมเมิร์ซทั่วโลกเมื่อเทียบกับค้าปลีกดั้งเดิมอยู่ที่ร้อยละ 14.1 ในปี 2562 และคาดว่าจะขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 16.1 ในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขประเมินรายรับรวมของธุรกิจออนไลน์ของปีนี้อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตถึงร้อยละ 7.6 ต่อปี ขณะที่ตัวเลขมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยอยู่ที่ 152,272 ล้านบาท ในปี 2563 และมีส่วนแบ่งตลาดในหลักร้อยละ 2 - 3 เท่านั้น

หากดูจากตัวเลขรายได้เทียบกับสัดส่วนตลาดและแนวโน้มการเติบโต ก็เป็นเรื่องไม่แปลกที่ภาคธุรกิจจะพากันหันหัวมายังแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม ‘วรวุฒิ’ ชี้ว่า สำหรับตลาดของไทยในตอนนี้ ผู้ประกอบการไทยหรือแม้แต่รัฐบาล 'หมดโอกาส' ในการผันตัวเองมาเป็นคู่แข่งกับจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะแม้สัดส่วนทางการตลาดตอนนี้จะอยู่แค่ร้อยละ 2 – 3 แต่ "ทุกอย่างมันสายไปแล้ว"

เหตุผลสนับสนุนข้อแรกคือสิ่งที่เรียกว่า ‘กลยุทธ์การเผาเงิน’ หรือ Burning Money ซึ่งแปลตรงตัวว่าเป็นการทุ่มเงินลงไปเพื่อเปลี่ยนนิสัยผู้บริโภคและพาธุรกิจไปให้ถึงสัดส่วนร้อยละ 20 ของตลาด ซึ่ง ‘วรวุฒิ’ อธิบายว่า รูปแบบการทำธุรกิจอย่างนี้วัดกันที่สายป่านและเงินทุนซึ่งเป็นเรื่องยากและแทบเป็นไปไม่ได้ที่ทุนไทยจะมีศักยภาพเทียบเท่ายักษ์ใหญ่อย่างจีน เพราะบริษัทอย่าง อาลีบาบา ยอมขาดทุนในไทยได้อีกอย่างน้อย 10 ปี ขณะที่ไม่มีบริษัทไหนในไทยหรือแม้แต่รัฐบาลมีเงินทุนสำรองเพียงพอสำหรับชดเชยการขาดทุนเหล่านั้น

นอกจากนี้ ‘วรวุฒิ’ ชี้ว่าความได้เปรียบเรื่องบุคลากรในวงการวิจัยและพัฒนาของจีนก็นำไทยไปไกลมากแล้ว การจะตั้งตัวขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับเว็บไซต์เบอร์ 2 หรือเบอร์ 3 ของจีน แปลว่า เอกชนไทยต้องมีไอทีโปรแกรมเมอร์อย่างน้อย 10,000 คน/บริษัท ซึ่งไม่รู้จะไปหามาจากไหน เนื่องจากระบบการศึกษาของประเทศยังผลิตแรงงานมีทักษะออกมาไม่เพียงพอ


อีอีซีอาจเป็นกับดักมากกว่าโอกาส

หลังจากอธิบายความเป็นไปไม่ได้ในการตั้งตัวขึ้นมาสร้างแพลตฟอร์มคู่แข่งกับจีน ‘วรวุฒิ’ ขยับไปที่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ อย่าง ‘อีอีซี’ มหาโครงการความหวังทางเศรษฐกิจของไทย ที่แท้จริงแล้วอาจกลายเป็นการชักศึกเข้าบ้านและปูทาง “การเสียเอกราชทางการค้า” ของประเทศให้กับจีน

‘วรวุฒิ’ อธิบายว่าสาเหตุที่อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันเติบโตอย่างต่อเนื่องส่วนหนึ่งมาจากการเข้าถึงข้อมูลและพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งหมด รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอมาประยุกต์ใช้ในการประมวลข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งถ้าแพลตฟอร์มจีนเข้ามาตั้งคลังสินค้าขนาดใหญ่อยู่ที่อีอีซี จีนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่บวกกับการใช้เอไอวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยได้ทั้งหมด

บริษัทจีนจะสามารถตุนสินค้ารองรับได้อย่างแม่นยำ ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่มีทางสู้ได้เลยเพราะไทยไม่มีเทคโนโลยีแบบจีน และเราก็ไม่มีฐานข้อมูลแบบเขาด้วยเนื่องจากเราไม่มีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง การแข่งขันจะเสียเปรียบอย่างเด็ดขาด

‘วรวุฒิ’ ชี้ว่า รัฐบาลไทยอาจเชื่อว่าการมีอีอีซีจะทำให้เอสเอ็มอีรายเล็กของไทยขายสินค้าไปจีนได้มากขึ้นเพราะจีนรับปากเราไว้อย่างนั้น แต่ ‘วรวุฒิ’ ตั้งคำถามว่า “ทุกวันนี้ มีสินค้าอะไรบ้างที่ไทยผลิตได้แล้วจีนผลิตไม่ได้” แม้แต่สินค้าทางการเกษตรอย่างทุเรียน ‘วรวุฒิ’ ก็เชื่อว่าจีนมีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาเลียนแบบขึ้นมาได้

‘วรวุฒิ’ กล่าวว่า สิ่งที่ตนกลัวที่สุดคือ เมื่อจีนมาตั้งบริษัทในอีอีซี แพลตฟอร์มจีนจะรู้พฤติกรรมคนไทยดียิ่งกว่ารัฐบาลไทยหรือดียิ่งกว่าคนไทยด้วยกันเอง ถึงตอนนั้นคนไทยจะซื้ออะไรในอีก 3 เดือนข้างหน้า จีนจะรู้ก่อนคนไทยอีก


“คนไทยยังไม่รู้เลยว่าเราต้องใช้ แต่จีนรู้แล้ว” วรวุฒิ กล่าว


การที่ใช้เทคโนโลยีการขนส่งบวกกับข้อมูลขนาดใหญ่และเอไอ จะทำให้จีนรู้ทุกอย่าง ทุกการเคลื่อนไหวของธุรกรรมในประเทศ เมื่อถึงจุดนั้นไทยจะสูญเสียอิสรภาพทางการค้าไป หรือเสียเอกราชทางการค้าไปเลยซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะ ‘วรวุฒิ’ ยอมรับว่า ตนเชื่อว่ารัฐบาลยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าข้อมูลขนาดใหญ่บวกกับเอไอแล้วและบวกกับข้อมูลธุรกรรมมหาศาลบนเว็บไซต์ตลาดออนไลน์เหล่านี้มันสร้างธุรกิจอะไรได้บ้าง ด้วยสาเหตุหลักว่า “ผู้บริหารในหน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ไม่เคยทำธุรกิจจริง พอไม่ได้ทำธุรกิจจริง ไม่ได้อยู่ในสนามจริง เขามองภาพไม่ออก”