ไม่พบผลการค้นหา
คสช. อยู่ในช่วงลงหลังเสือ มาพร้อมการ ‘ผ่องถ่าย-ถ่ายโอน’ สิ่งต่างๆ เพื่อไปสู่การมีรัฐบาลใหม่ ที่ชื่อเต็งหนึ่ง นายกฯ คนต่อไป ยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่พรรคอยู่ระหว่างซุ่มเงียบตั้งรัฐบาล โดยดึงพรรคต่างๆ มาเข้าร่วม ท่ามกลางข่าวย้ายขั้วของบางพรรคช่วงที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปช่วงปี 2560 ได้มีการปรับโครงสร้าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในการตั้งศูนย์การประสานการปฏิบัติ หรือ ศปป. 1-5 ขึ้นมา ได้แก่ ศปป.1 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ ได้แก่ การปกป้องสถาบันหลักของชาติ การสร้างความปรองดอง งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ศปป.2 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม ได้แก่ การปราบปรามการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว ยาเสพติด การจัดระเบียบต่างๆ

ศปป.3 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงแบบพิเศษ ได้แก่ ปัญหาการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยคุกคามทางไซเบอร์

ศปป.4 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอาหาร

และ ศปป.5 กลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะระบุในขณะนั้นว่าไม่ใช่เป็นการ ‘ผ่องถ่ายงาน คสช.’ ก็ตาม โดยให้แยกระหว่างงานของ กอ.รมน. กับ คสช. โดย กอ.รมน. คือหน่วยงานปกติ ส่วน คสช. คือหน่วยงานไม่ปกติ ยืนยันไม่มีความซ้ำซ้อนกัน เมื่อใดมีรัฐบาลใหม่ ก็ไม่มี คสช. ก็จบไป

แต่อีกสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำและมอบนโยบายไปก่อนหน้านี้ คือ การปรับภาพลักษณ์ของ กอ.รมน. เพื่อไม่ให้มีภาพลักษณ์ว่าเป็น ‘เครื่องมือของกองทัพ’ โดยจะมีการปรับโครงสร้าง กอ.รมน. ในระดับผู้บริหาร โดยเฉพาะในศูนย์การประสานการปฏิบัติ (ศปป.) ที่มีการวางโมเดลสัดส่วนของ ทหาร-ตำรวจ-พลเรือน อัตรา 2 : 1 : 1 เพื่อให้เป็นภาพของพลเรือนมากขึ้น แต่ทหารยังคงเป็นหลักในการทำงาน เพื่อให้ กอ.รมน. เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.รมน. และสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง

"นายกรัฐมนตรีฝากมาว่าอยากให้ กอ.รมน. เป็นภาพของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ไม่ใช่มีแต่ทหารอย่างเดียว ถ้ามีแต่ทหารอย่างเดียวจะถูกมองว่า กอ.รมน. เป็นเครื่องมือของกองทัพ เพราะฉะนั้นต้องมีการปรับให้มีทั้งตำรวจและพลเรือนมากขึ้น” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. กล่าวเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561

ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ในฐานะ รองผอ.รมน. ได้ตั้ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผบ.ทบ. เป็นผู้ช่วย ผอ.รมน. เพื่อช่วยดูแลงาน กอ.รมน. เพราะเคยเป็น เสธ.ทบ. ที่ควบตำแหน่ง เลขาธิการ กอ.รมน. มาก่อนหน้านี้ แต่งานในการขับเคลื่อนหลักยังคงอยู่ที่ พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสธ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน.

อภิรัชต์ กองทัพ ทหาร สวนสนาม

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา คสช. ได้ลดกำลังของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ลงไปจำนวนมาก โดยภารกิจหลักในช่วงหลังคือการรักษาบรรยากาศเพื่อรองรับการเลือกตั้งและการติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยบทบาทของ กกล.รส. ถูกลดจำนวนและบทบาทลง ด้วยเหตุผลเมื่อเข้าสู่ห้วงการเลือกตั้งแล้ว กองทัพย่อมตกเป็นเป้า การทำภารกิจต่างๆ ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้ถูกโยงไปในเรื่องการเมือง รวมทั้งไม่ให้ถูกฝ่ายการเมืองมาแสวงหาประโยชน์ แม้แต่ภารกิจช่วยเหลือประชาชนก็ตาม

รวมทั้งภารกิจต่างๆที่สำเร็จไปมาก เช่น การจัดระเบียบสังคมต่างๆ ซึ่ง กกล.รส. จะสิ้นสุดภารกิจเมื่อ คสช. หมดวาระ นั่นคือมี ‘ครม.ชุดใหม่’ โดยสมบูรณ์

อีกทั้งเมื่อ ธ.ค. 2561 ได้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. 9 ฉบับ เพื่อปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ หลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ เพื่อปูทางสู่การออก พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของการเลือกตั้ง 24มี.ค.ที่ผ่านมา แม้จะเลื่อนมาจาก 24 ก.พ. ตามที่ คสช. เคยประกาศไว้ เพราะช่วงเวลาคาบเกี่ยวช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ล่าสุด ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกฯ ได้แจ้งที่ประชุม ครม. ถึงกรณีที่ คสช. มีคำสั่งให้ทบทวนและยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกเป็น มาตรา 44 เพราะบางเรื่องดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยออกคำสั่ง มาตรา 44 ขึ้นมา 1 ฉบับ เพื่อล้างสิ่งเหล่านี้ออกไป 

แต่ยังเหลืออีก 62 ฉบับที่ยังยกเลิกไม่ได้ จึงได้ให้กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปแปลงคำสั่งแต่ละฉบับไปเป็นกฎหมายเฉพาะ และให้รีบดำเนินการ รวมถึงจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะด้วย เช่น คำสั่งที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นต้น โดยจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่คาดว่าจะเหลือบางส่วนไปยังรัฐบาลชุดหน้า

ประยุทธ์

ส่วนกรณีหากใช้มาตรา 44 ยกเลิกคำสั่ง คสช. ได้ไม่หมด อาจจะต้องทอดเวลาให้ใช้กันต่อไป จนกระทั่งมีรัฐบาลและรัฐสภาในวันข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลใหม่สามารถออก พ.ร.บ. มายกเลิกได้

ทั้งหมดนี้จึงเป็นภาพการ ‘ผ่องถ่ายอำนาจ’ ของ คสช. ช่วงลงจากอำนาจ ไม่รับรวมกลไกทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

หาก พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็น นายกฯ อีกครั้งก็จะมีสิ่งเหล่านี้ ‘รองรับ’ ในการทำงานในอนาคต หรือในกรณีที่หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมาเป็น นายกฯ อีกครั้ง แผนงานเหล่านี้ก็จะถูกขับเคลื่อนต่อไปผ่านกลไขทางกฎหมายและหน่วยงานรับผิดชอบเดิม ไม่เช่นนั้นจะซ้ำรอย ‘เสียของ’ ได้

ดังนั้น คสช. จึงไม่ได้มองเพียง ‘มิติการเมือง’ เท่านั้น แต่มองถึง ‘มิติสังคม-เศรษฐกิจ’ ด้วย จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีความเชื่อมั่นถึงงานที่ทำไว้จะได้รับการสานต่อ รวมทั้งได้กลับมา ‘ลงมือทำ’ อยู่ไม่น้อย

"รัฐบาลนี้มีเวลาทำงานอยู่อีกประมาณเดือนหน้า จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ในเดือน มิ.ย.นี้ ช่วงนี้เราก็จะเตรียมการเอากฎหมายที่ยังทำไม่เสร็จ หรือทำเสร็จแล้ว ก็จะออกกฎหมายลูก เพื่อให้ดำเนินการได้โดยเร็ว และกฎหมายที่พิจารณายังไม่เสร็จก็ต้องมีการพิจารณาต่อไปในรัฐสภา ที่มีรัฐบาลใหม่ ผมยืนยันทุกอย่างที่ทำวันนี้ ที่ทำมา 5 ปี จะสืบสานต่อในรัฐบาลใหม่ อันนี้คือความต้องการของประชาชน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2562

เราจะทำตามสัญญา ขอ(ต่อ)เวลาอีกไม่นาน !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog