ไม่พบผลการค้นหา
หากต้องการทำความเข้าใจสภาพความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบันว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ 'การปฏิวัติ 2475' ซึ่งเป็นการช่วงชิงอำนาจการเมืองไทยระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย - ฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ยังไม่จบสิ้นจนถึงปัจจุบัน ผ่านเวทีเสวนา 'ราษฎรธิปไตย'

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 ที่ห้อง ร.102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานเสวนา “ราษฎรธิปไตย” ที่จะชวนขยายขอบเขต ประเด็นการเมือง อำนาจ การสร้างความทรงจำใหม่ และกระบวนการลบเลือนประชาธิปไตยยุคคณะราษฎร จากหนังสือ “ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และความทรงจำของ (คณะ) ราษฎร” ของ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ จัดโดย สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยมีวิทยากร คือ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตร ม.รังสิต ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสวนาและร่วมพูดคุย โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ปฏิวัติ 2475 เรื่องของคณะราษฎร ? ประชาชนฉลอง รธน. - พบอนุสาวรีย์มากสุดในอีสาน

วาทกรรม "การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นของคนเพียงไม่กี่คน" จริงไหม? ผศ.ศรัญญูจะชวนไปหาข้อเท็จจริง

ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ในฐานะผู้เขียนหนังสือ ราษฎรธิปไตย ระบุในช่วงเริ่มต้นเสวนาว่า หลังจากกระแสการรัฐประหาร 2549 ชัดเจนว่า กระแสทางวิชาการหันกลับไปสนใจการปฏิวัติ 2475 มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เขากล่าวว่าที่ผ่านมาเราจะอาจจะดูแค่ว่าชนชั้นนำทำอะไร แต่เรามักจะไม่ได้ไปดูคนตัวเล็กตัวน้อยว่า "ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไรหลังการปฏิวัติ 2475"

ผศ.ศรัญญู กล่าวว่า ได้ศึกษาดูว่าอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นโดยคณะราษฎร อันมีพานรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ มีที่มาที่ไปอย่างไร และอนุสาวรีย์เหล่านั้นสะท้อนสำนึกวิธีคิดของคนในต่างจังหวัดอย่างไร ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่มีอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญมากที่สุด คือ ภาคอีสาน และยังพบว่าอนุสาวรีย์แห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้น ในปี 2477 คืออนุสารีย์รัฐธรรมนูญที่จังหวัดมหาสารคาม

จากการศึกษาของ ผศ.ศรัญญู ยังสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วคนในต่างจังหวัดจริงๆ มีความตื่นตัว อีกทั้งมีความพยายามที่จะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่จะสามารถไปโต้แย้งกับแนวคิดที่บอกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นของคนเพียงไม่กี่คน ราษฎรในขณะนั้นยังไม่มีความรู้ทางการเมือง ซึ่ง ผศ.ศรัญญู ได้ค้นพบเอกสารสำคัญที่สะท้อนการมีส่วนร่วมของราษฎรในขณะนั้น อย่างเช่น กลอนลำ งานฉลองรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งการพยายามพลักดัน การร่วมบริจาคเงินในการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในช่วงนั้น

เสวนาราษฎรธิปไตย

(ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ผู้แต่งหนังสือ "ราษฎรธิปไตย" )


ราษฎรธิปไตย กับเผด็จการไปด้วยกันได้ไหม?

“การปฏิวัติ 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่หน่อมแน้มเป็นเพียงการที่คนกลุ่มหนึ่งเข้าไปยึดอำนาจจากบนลงล่าง ทำให้ทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ไม่ส่งผลอะไรกับประชาชนเลย” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า นี่อาจเป็นความทรงจำแรกที่รับรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 แต่แท้จริงแล้วประชาชนอยู่ตรงไหนใน 2475

คำว่า “ราษฎรธิปไตย” เราคงนึกถึงแต่คำว่า “ประชาธิปไตย” คือ ประชาชน+อธิปไตย รวมกันเป็นประชาธิปไตย แต่ราษฎรธิปไตยกลับใช้คำรากฐานของชนชั้นทางการเมืองไทย โดยกลับไปที่คำว่าราษฎร 

"ราษฎร" คำนี้เราอาจไม่คุ้น แต่เราจะคุ้นกับการเป็นประชาชนมากกว่า แต่เมื่อย้อนกลับไปในบริบทขณะนั้น สถานะอำนาจทางการเมือง ทางสังคม ถูกแบ่งอย่างหยาบๆ เป็น 2 กลุ่ม คือ ชนชั้นปกครองที่เป็นคณะเจ้า หรือกลุ่มเจ้านาย กับกลุ่มที่ถูกปกครองคือ ราษฎร ดังนั้นคนกลุ่มนี้ที่รวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบทางการเมือง เขาเรียกตัวเองว่าเป็นตัวแทนของปีกราษฎร

"การเรียกตัวเองแบบนี้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งของอำนาจอธิปไตยที่คนละขั้ว ปีกที่เรียกว่าการปกครองแบบคณะเจ้านายในยุคนั้นที่เรียกว่าสมบูรณายาสิทธิราชย์ จะเห็นว่าคณะเจ้านายมีความพยายามที่จะอธิบายว่าต้องการสร้างประชาธิปไตย เหมือนๆ กับคณะรักษา���วามสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยึดอำนาจ แล้วพยายามอธิบายว่าทำเพื่อประชาธิปไตย" ผศ.ธำรงศักดิ์ กล่าว

เสวนาราษฎรธิปไตย
“ถามว่าประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นโดยเผด็จการได้ไหม ในทางรัฐศาสตร์ตอบเลยว่า ไม่ได้ เพราะเผด็จการไม่มีทางที่จะไปสร้างประชาธิปไตยเลย แต่เราจะถูกอธิบายตลอดเวลาที่มีการรัฐประหารเพื่อสร้างประชาธิปไตย ในขณะที่ทฤษฎีทางอำนาจทางการเมืองอธิบายอย่างชัดเจนว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นอำนาจเฉพาะของกลุ่มบุคคล เป็นเรื่องของการสืบทอดสายวงศ์ตระกูล ในขณะที่ประชาธิปไตย เป็นเรื่องของคนทั้งหมดของประเทศ มันเป็นคนละปีกทฤษฎีทางการเมือง"

ผศ.ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเหตุนี้เมื่อตั้งชื่อว่าคณะราษฎร แล้วเอาราษฎรธิปไตยมาใช้ นี่เป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าอำนาจของการต่อสู้คืออะไร คณะราษฎรพยายามที่จะสร้างแนวคิดใหม่ว่า ทุกคนเป็นพลเมืองของประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงพยายามใช้คำใหม่ คือคำว่า ประชาชน ไม่ว่าคุณจะเกิดชนชั้นไหนก็ตาม คุณคือประชาชน ความเป็นประชาชนจึงมีความเสมอภาค แต่ตอนนี้เรายังมีปัญหาต่อการเป็นประชาชนอยู่เยอะ คำว่าราษฎรที่ยังตกค้างอยู่ในการเมืองไทย ก็คือ “สภาผู้แทนราษฎร”

นี่คือสิ่งที่ยังคงอยู่กับเรา แสดงให้เห็นว่า ปัญหาทางการเมืองของเราจนถึงวันนี้เป็นปัญหาที่ยังไม่เคลื่อนประเด็นไปมากนัก


เมื่อไหร่ที่ประเทศเป็นประชาธิปไตย เรื่องใต้พรมจะถูกขุด

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ชวนมองย้อนกลับไปเมื่อช่วง ส.ค. ปี 2475 บ้านเมืองวุ่นวายมากเลย เพราะพวกรถลากซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,000 คันในกรุงเทพ ได้หยุดการเดินรถแล้วชุมนุมประท้วงที่ลานพระบรมรูปทรงม้าฯ หน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้น 10 สตางค์ ในขณะที่ชนชั้นปกครองบอกว่า ขออะไรแค่ 5-10 สตางค์เอาไปทำไม

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ หลัง '14 ตุลา' จะมีชุมนุมประท้วงทุกจุด แรงงาน นักศึกษา ครู ชุมนุมเรียกร้องหมดเลย มันเกิดอะไรขึ้น

“เมื่อไหร่ที่เกิดสังคมประชาธิปไตย สิ่งซึ่งถูกซุกใต้พรมมาตลอด ทุกปัญหา จะเห็นว่าระบอบเผด็จการจะไม่ให้มีการประท้วง จะไม่ให้มีการเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น จะซุกใต้พรม แต่พอมันเกิดประชาธิปไตย กลุ่มต่างๆ จะออกมาเรียกร้อง และต่อสู้ในประเด็นที่สำคัญของตัวเอง"

บ้านเมืองวุ่ยวาย เพราะชนชั้นนำไม่เคยชินกับประชาธิปไตย?

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น เมื่อลองกลับไปที่การปฏิวัติ 2475 เริ่มต้นก็ประท้วงกันแล้ว สำหรับคนที่เคยอยู่ในความเงียบมาก่อนจะรู้สึกว่าบ้านเมืองมันเปลี่ยนแปลงไปนัก มันมีการประท้วงมาก

"ถ้าท่านเป็นชนชั้นนำจะรู้สึกว่าการประท้วงมันหยาบคายมาก ต่อชีวิตอันสงบสุขของพวกเราทั้งหมด ทำไมพวกนี้ต้องออกมาประท้วง ทำไมรัฐบาลไม่จัดการ"


นโยบายคณะราษฎร ตัดงบ กลาโหม-วัง
กระจายงบต่างจังหวัด ลดความเหลื่อมล้ำ

ประเทศไทยยังตกอยู่ในสถานะประเทศกำลังพัฒนา นับตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา หลายรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาน หากย้อนกลับไปถึง 84 ปีที่แล้ว คณะบุคคลที่สังคมไทย(ถูกทำให้)ลืม คือกลุ่มบุคคลที่ริเริ่มสร้างคุณภาพชีวิตของราษฎรไทย

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ อธิบายว่า ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลก่อน 2475 สภาพของกรรมกรเป็นเพียงแค่ "ทำๆ กันไป มีชีวิตกันไป"

แต่หลัง 2475 ปรากฏว่าคณะราษฎรเห็นว่า “กรรมกรสมควรได้รับชีวิตที่ดีขึ้นด้วย และประเด็นที่เขาจะพูดมากที่สุดคือสวัสดิการของแรงงาน”

เขากล่าวต่อว่า เรามักถกเถียงกันว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส เป็นเรื่องของนายปรีดีเพียงคนเดียว ดังนั้น เวลานายปรีดี เสนอเรื่องนี้ขึ้นมาจึงกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญ แต่ที่จริงแล้ว ถ้าเราไปดูการประชุมของคณะราษฎรที่บ้านนายควง อภัยวงศ์ (การประชุมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ชี้ร่องรอยให้เห็นว่า มีการแผนการทางเศรษฐกิจแห่งชาติในที่ประชุม รวมถึงแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ใช้แรงงานทั้งภาคเกษตร และในเมืองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์ตามนโยบายทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ชี้ว่า นโยบายแรงงานของรัฐบาล ก่อน 2475 หลัง 2475 มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นโยบายของคณะราษฎรบอกว่า ทำอย่างไรให้ผู้ใช้แรงงานในเมืองและต่างจังหวัดดีขึ้น สวัสดิการดีขึ้น ในขณะที่ก่อนหน้านั้นวิธีการคือกดปราบไม่ให้มีความเคลื่อนไหว นี่คือความแตกต่าง

"ดังนั้นเวลาเมื่อรัฐบาลไหนเป็นประชาธิปไตย เราจะเห็นกลุ่มต่างๆ ลุกขึ้นมาเรียกร้องและต่อรองผลประโยชน์ของตัวเอง"

แม้ว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดีจะถูกระงับไป ด้วยปัญหาทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาทำต่อไปก็คือ ทำให้เกิดการจ้างงานให้มากที่สุด ให้ประชาชนในประเทศ ซึ่งทำให้เห็นระลอกคลื่นของความเปลี่ยนแปลงที่มากไปกว่าการต่อสู้ทางการปกครอง ก่อน 2475 งบประมาณราวร้อยละ 60 ถูกทุ่มไปกับ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัง

แต่เมื่อปฏิวัติ 2475 เกิดทิศทางของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ งบประมาณไปเพิ่มที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงคมนาคม คณะราษฎรจะมองเห็นการกระจายความสุขสมบูรณ์ลงไปทั้งคนทั้งประเทศผ่านการศึกษา ผ่านสาธารณสุข การคมนาคม และการเกษตร อนุสาวรีย์หลักสี่ คือแนวคิดหนึ่งของการนำคนทั้งประเทศ เคลื่อนไหวด้านการตลาดและการสื่อสาร ด้วยการสร้างถนน

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ยังชวนให้คิดว่า นี่คือสิ่งที่เราอาจจะไม่เคยรับรู้มาก่อน เวลาเรามองถึงปฏิวัติ 2475 เวลาเลือกรับรู้และเลือกอ่าน ต้องตระหนักว่า “งานชิ้นนั้นอธิบายอยู่ในปีกไหน” ปีกสนับสนุนสมบูรณายาสิทธิราชย์ หรือปีกที่อยู่คณะราษฎร

งานชิ้นแรกที่เปรีบเหมือนการโยนระเบิดเข้ามาในการรับรู้เรื่องการปฏิวัติ 2475 คืองานของ ศ.เสกสรร ประเสริฐกุล ว่าด้วย 24 มิ.ย. 2475 ชิงสุกก่อนห่าม หรืองอมเต็มที่ บทความนี้สั่นสะเทือนความเปลี่ยนแปลงของการรับรู้ของการปฏิวัติ 2475 "อย่าลืมว่าคนที่มาอธิบายว่าคณะราษฎรเป็นเพียงแค่การยึดอำนาจ พละกำลังในการลบข้อมูลบางอย่าง และทิ้งข้อมูลเพียงบางอย่างไว้"


เสวนาราษฎรธิปไตย


ผลงานคณะราษฎรที่ถูกทำให้ลืม ชูความเสมอภาค ผู้หญิงที่เคยเป็น 'ควาย' กลายเป็น 'คน'

“รัฐธรรมนูญ 2560 แค่เริ่มอ่าน ท่านก็งงกับชีวิตตัวเองแล้ว ใน 1 มาตราเขียนได้อย่างไรตั้ง 2 หน้า นี่คือเวทมนตร์ของพวกโวลเดอมอร์ (ตัวละครในนวนิยายแฮรรี่ พอตเตอร์) ทำให้ท่านอ่านแค่มาตราเดียว ท่านก็งงอยู่ในเขาวงกตแล้ว เขียนอะไร เหมือนเขียนเวทมนตร์ที่ทำให้ท่านไม่อยากอ่าน”

แต่รัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ฉบับแรกของประเทศ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สั้น มี 39 มาตรา มาตรา 1 เขียนแค่บรรทัดครึ่ง ว่าด้วยสิทธิของประชาชน หากอ่านดูจะรู้ว่าอะไรสำคัญต่อการเปลี่ยนวิธีคิด และชีวิตผู้คนในขณะนั้น คนหนุ่มสาวอายุ 20 ปี เป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรีได้

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มแรกที่ได้รับการเลือกตั้ง อายุเพียง 23 ปี ยังเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"เราได้คนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่มีสายใยกับระบอบเดิมเลย ลองคิดดูว่าบ้านเมืองจะเปลี่ยนขนาดไหน แต่ 80 กว่าปีผ่านมาระบอบการเมืองทำให้คนเชื่อว่า ใจเย็นๆ อายุ 60 ยังไม่สายที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี"

และการเปลี่ยนจากการถูกกดขี่ที่สำคัญ คือ "การปลดปล่อยผู้หญิงให้เป็นอิสระ" มีอำนาจอธิปไตยเท่ากับผู้ชาย จากที่ก่อนหน้านี้สังคมไทยมีภาษิตที่สำคัญ คือ “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” 

ด้วยมรดกชิ้นสำคัญที่คณะราษฎรได้ทำไว้ จึงมีผู้พยายามลบล้างประวัติศาสตร์ เพื่อไม่ให้คณะราษฎรมีความสำคัญ

“จากผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน ทำไมผู้หญิงถึงถูกสามีเตะได้ เพราะว่าเป็นควาย ขายได้ เพื่อเอาเงินมาเลี้ยงสามี มันอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีของคนในสังคม แต่คณะราษฎรทำให้ผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย แต่ผู้หญิงในสังคมไทยจะไม่ถูกทำให้ตระหนักว่าตนเองถูกปลดปล่อยออกจากสภาพที่ถูกโซ่ล่ามไว้ เพราะหากทำให้ผู้หญิงตระหนักว่าถูกปลดปล่อยแล้วนะ 2475 จะมีความสำคัญขึ้นทันที นี่คือการลบล้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”


ประชาธิปไตย-รัฐธรรมนูญ

รธน.ฉบับแรก ส.ส.มีอำนาจสูงสุด
ศาลอยู่ใต้สภาฯ วิจารณ์-ถอดถอนได้

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้ยังได้ให้อำนาจสูงสุดไว้ที่ “สภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของราษฎร ก่อนการปฏิวัติ 2475 กลุ่มชนชั้นปกครอง ข้าราชการเป็นกลุ่มใหญ่ การมีสถานะอำนาจบริหาร ตามมาด้วยอภิสิทธิ์ และสิทธิพิเศษ นี่คือความเป็นใหญ่ที่มีอำนาจในช่วงของการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทว่าหลังการปฏิวัติ รัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ใน มาตรา 9 เขียนเพียงสั้นๆ ไว้สองบรรทัดว่า “สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจดูแล ควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานราชการผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้”

เดิมทีเราเห็นแต่ความสัมพันธ์ระหว่างสภาฯ กับรัฐบาล อำนาจในการถอดถอนรัฐบาลเราเห็น แต่มาตรานี้ประโยคที่ว่าสามารถถอดถอนพนักงานข้าราชการผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้ สภาฯ สามารถถอดถอนผู้พิพากษาให้ออกจากงานได้ นี่คืออำนาจที่สภาฯ สามารถควบคุมฝ่ายตุลาการ ซึ่งที่ผ่านมาตุลาการไม่เคยถูกควบคุม แต่อยู่ในความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหารก่อน 2475 ดังนั้น หากผู้พิพากษาไม่ว่าศาลไหนก็ตาม คำพิพากษาของศาล สามารถอภิปรายในสภาฯ ได้ และสามารถถอดถอนผู้พิพากษาของศาลทุกศาลได้ นี่คือการเชื่อมโยงอำนาจของสามสถาบันทางการเมือง คือฝ่ายรัฐบาล นิติบัญญัติ และตุลาการ อย่างที่เราไม่เคยรับรู้กันมาก่อน

แต่หลัง 2475 เกิดแนวคิดห้ามแทรกแซงศาล นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดมายาคติว่าศาลต้องอิสระ แต่ที่จริงแล้วศาลทุกศาล ต้องถูกทำให้สภาฯ ควบคุมได้ และเป็นอำนาจที่จะตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ย้ำว่า หลังการรัฐประหารในปี 2490 อธิบดีศาลฎีกาสูงสุดไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญกับคณะรัฐประหาร และเป็นผู้ร่วมประกาศความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหาร หลังจากนั้นมาศาลก็มีอิสระในการบริหารจัดการตัวเองมากขึ้น

"ถึงจุดหนึ่งคำพิพากษาของศาลเราวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่ นี่คือปัญหาในยุคของเรา แต่คณะราษฎรมองเห็นตั้งแต่ตอนนั้นว่าผู้พิพากษาต้องตรวจสอบได้ ถอดถอนได้ คำพิพากษาของศาลต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้"