ไม่พบผลการค้นหา
สุขภาพและศาสนา สัมพันธ์กันมาเนิ่นนานก่อนที่วิทยาศาสตร์จะพัฒนาเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาทางการแพทย์ แต่พื้นทีี่ความเชื่อก็ยังคงทิ้งร่องรอยอยู่ในแนวทางการดูแลสุขภาพทุกวันนี้

การแพทย์และความเชื่อ

เมื่อเรามองประวัติศาสตร์ย้อนหลังแล้วเป็นที่น่าสนใจว่า ในทุกๆ อารยะธรรมล้วนมีความสัมพันธ์กันระหว่างสุขภาพและความเชื่อด้านศาสนา ความเชื่อท้องถิ่นต่างๆ เช่น ความเชื่อทางศาสนาคริสต์คาธอลิคมีส่วนสำคัญมากในการพัฒนาการรักษาการแพทย์ในยุโรป รวมถึงการพัฒนาสถาบันต่างๆด้านการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ วิชาความรู้และเทคนิคการรักษา การเจ็บป่วยบางโรคเป็นผลจากอำนาจเหนือธรรมชาติหรือปีศาจ และต้องได้รับการรักษาเพื่อชำระล้างความชั่วร้ายออกไปจากร่างกาย เป็นต้น

คำสอนในศาสนาพุทธมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น กฎไตรลักษณ์ กฎแห่งกรรม มรรค 8 เป็นต้น ล้วนส่งผลให้การรักษาในเอเชียตะวันออกเป็นรูปแบบองค์รวม การรักษาโรคโดยควบคู่ไปกับความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ สัมพันธ์กับโหราศาสตร์และการเดินทางของดวงดาว รวมถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น วิญญาณเจ้าป่าเจ้าเขา วิญญาณบรรพบุรุษ หรือการกระทำทั้งในชาตินี้หรือชาติที่ผ่านมา

คำสอนศาสนาอิสลามก็มีอิทธิพลต่อการแพทย์ในตะวันออกกลางเช่นกัน ทฤษฎีของการแพทย์แบบกรีกโบราณผสมกับการแพทย์แบบเปอร์เซีย และอาหรับ ช่วยพัฒนาองค์ความรู้ด้านกายวิภาค ด้านการปรุงยา การผ่าตัด รวมถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างถาวรเพื่อแยกผู้ป่วยออกจากสังคมเพื่อกักตัวไว้รักษา

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อของศาสนาหลักอื่นๆที่ส่งผลต่อการตีความหมายของชีวิต วิถีปฏิบัติการรักษา ด้วยเช่นกัน และความเชื่อทางศาสนานี้ก็ประสมประสานกับความเชื่อท้องถิ่นต่างๆและส่งผลให้ เกิดความหลากหลายของการรักษาในแต่ละพื้นที่ แต่ละหมู่บ้านชุมชนและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

การแพทย์และวิทยาศาสตร์

ถึงแม้วิทยาการด้านการแพทย์ในยุคกลางจะล้าสมัยกว่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคเอเชีย แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การแพทย์ตะวันตกพัฒนาแบบก้าวกระโดดคือ การแพร่ระบาดของกาฬโรคและการเข้าสู่ยุคเรอเนซซองส์ การแพร่ระบาดของกาฬโรคในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 14 คือหายนะอย่างแท้จริง มันคร่าชีวิตคนยุโรปไปกว่าครึ่งโดยไม่แบ่งแยกชั้นวรรณะ คนรวยหรือฐานันดรสูงก็ตายไม่ต่างจากคนจน การแพทย์แบบคาธอลิคยุคกลางที่หยุดการพัฒนาอยู่กับที่ไม่สามารถตอบโจทย์การแพร่ระบาดของโรคร้ายที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวคริสเตียนจึงตั้งข้อสงสัยกับการรักษาแบบเก่าไม่มีประสิทธิภาพที่อิงแต่ความเชื่อศักดิ์สิทธิ์แบบเทวนิยม และค่อยๆพัฒนาการรักษาแบบสมัยใหม่ที่อิงกับมนุษยนิยมและการทดลองแบบวิทยาศาสตร์

การแพทย์แบบวิทยาศาสตร์จึงเป็นการแพทย์ที่พัฒนาจากฐานเรื่องการตั้งสมมติฐาน การพัฒนาทฤษฎี การทดลองทางวิทยาศาสตร์ซ้ำๆเพื่อยืนยันหรือหักล้างสมมติฐาน เพื่อนำมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ลักษณะของโรค สาเหตุของโรค และเพื่อศึกษาให้ได้ละเอียดมากที่สุด การแพทย์แบบใหม่จึงเริ่มแตกแขนเป็นสาขาย่อยๆออกมา เช่น กายวิภาค เคมี สรีรวิทยา เป็นต้น และมีการจัดกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น การจัดกลุ่มโรค การจัดกลุ่มการรักษา การแพทย์สมัยใหม่จึงมีลักษณะแบบแบ่งเป็นส่วนย่อยๆและพัฒนาความชำนาญการพิเศษเฉพาะด้านตามลักษณะการแบ่งงานกันทำ

แพทย์หรือผู้ให้การรักษาเองก็มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป และค่อยๆมีลักษณะเหมือนเป็นนักสืบเพื่อค้นหาร่องรอบสาเหตุการเกิดโรคภัยต่างๆ แพทย์มีการซักประวัติผู้ป่วย ข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยและญาติพี่น้อง พร้อมมีอำนาจเข้าไปตรวจร่างกาย นำสิ่งต่างๆที่อยู่ในร่างกายคนไข้ออกมาเพื่อเป็นหลักฐานการวินิจฉัยโรค และสั่งจ่ายการรักษาแก่ผู้ป่วยได้ และเพื่อให้การวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำแล้วตัวแพทย์เองก็ต้องมีการพัฒนาความรู้ในลักษณะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาใดแขนงหนึ่งมากกว่าที่จะรู้กว้างในทุกเรื่อง

การแพร่ขยายของการแพทย์แบบวิทยาศาสตร์

การแพร่ขยายของการแพทย์แบบวิทยาศาสตร์มีทั้งในรูปแบบแพร่ขยายในสังคมยุโรป และแพร่ขยายในประเทศอื่นนอกจากยุโรป การแพร่ขยายในสังคมยุโรปจะไม่ประสบความสำเร็จเลยถ้าไม่มีอำนาจรัฐเข้ามาร่วมทำงานด้วย การแพทย์และการรักษาตกไปสู่อำนาจของผู้เชี่ยวชาญแค่ไม่กี่กลุ่มในสังคม โดยให้สาเหตุว่า การรักษาและความรู้การแพทย์สมัยใหม่ต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำเหมือนกันหมด เพื่อป้องกันการผิดพลาดจากการรักษาและการสูญเสียของคนไข้ จากเดิมที่ใครก็ได้สามารถให้การรักษาแบบพื้นบ้านในระบบการแพทย์แบบเก่า ก็กลับกลายเป็นว่าแพทย์ต้องผ่านการศึกษา การสอบวัดระดับคุณภาพ การอบรมจริยธรรม จากสถาบันที่แพทย์ด้วยกันรองรับเท่านั้น และรัฐยืนยันอำนาจนี้ด้วยการออกกฎหมายประกอบโรคศิลป์ แพทย์หรือบุคลากรการแพทย์แบบโบราณกลายเป็นผู้ผิดกฎหมายทันทีถ้ามีการให้การรักษาโดยไม่ได้รับอนุญาต

ยิ่งไปกว่านั้นการพัฒนาองค์ความรู้วิชาสาธารณสุขในศตวรรษที่ 18 การค้นพบทฤษฎีเชื้อโรค และการป้องกันโรคด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆเช่น วัคซีน ก็เพิ่มอำนาจการแพทย์แบบวิทยาศาสตร์ขึ้นไปอีก การป้องกันโรคกลายเป็นเทคนิคใหม่ที่ลงทุนน้อยแต่ให้ผลประโยชน์มหาศาล หยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค การตายและสูญเสียจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การประสานงานของรัฐและการแพทย์จึงริเริ่มการก่อร่างสร้างรัฐเวชกรรมขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 และรัฐใช้อำนาจความรู้การแพทย์เข้ามาสร้างมาตรฐานสังคม แทรกแซงสังคมและปัจเจกชนในทุกองคาพยพ อีกทั้งยังมีการแยกศาสนาออกจากรัฐ ซึ่งทำให้บทบาทของคริสตจักรค่อยๆลดน้อยถอยลงไปในฐานะเป็นสถาบันให้การรักษาแก่ประชาชน การแพทย์สมัยใหม่จึงค่อยๆกลายเป็นแพทย์แผนหลักในยุโรปและลดบทบาทของแพทย์แผนโบราณแทบจะหมดสิ้นไป

ส่วนในประเทศอื่นนอกยุโรปนั้น การแพร่ขยายของการแพทย์สมัยใหม่เป็นไปอย่างยากลำบากกว่า มีลักษณะร่วมๆกันในกลุ่มประเทศนอกยุโรปคือ การแพร่ขยายการแพทย์สมัยใหม่มีความสัมพันธ์กับการล่าอาณานิคม และการสร้างความทันสมัยใหม่ให้กับรัฐอาณานิคม การแพทย์สมัยใหม่จึงทั้งถูกต่อต้านและยอมรับในเวลาเดียวกัน ต่อต้านด้วยความเชื่อแบบชาตินิยมว่า ความรู้การแพทย์ตะวันตกเป็นสิ่งแปลกปลอม เพื่อต้องการล้างสมองคนในชาติอาณานิคมให้ยอมรับการปกครองกดขี่จากเจ้าอาณานิคม ยอมรับด้วยการแพทย์สมัยใหม่ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพกว่าการแพทย์แบบเก่า และส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการเมืองของประเทศอาณานิคมได้จริง และเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย

อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะแบบต่อต้านและยอมรับการแพทย์สมัยใหม่ในประเทศอาณานิคม ทำให้การแพทย์แบบวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเข้าไปแทนที่การแพทย์แบบความเชื่อได้สมบูรณ์แบบ และเหลือพื้นที่ให้การแพทย์แผนโบราณในสังคมได้ในหลายๆ ประเทศอดีตอาณานิคมปัจจุบัน ความเชื่อยังคงมีอิทธิพลต่อสุขภาพของประชาชนต่อไป

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog