ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชวนสำรวจมรดกคณะราษฎรในพื้นที่บางเขน พื้นที่ทุ่งนาซึ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช แม้แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็อาจถือเป็นมรดกคณะราษฎรได้ เพราะสร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. และมีคณะราษฎรเป็นอธิการบดีคนแรก

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชุมนุมประวัติศาสตร์ สโมสรนิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ "คณะราษฎรกับพื้นที่บางเขน" เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 โดยมี รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายนริศ จรัลจรรยาวงศ์ นักวิชาการอิสระ ด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยร่วมเสวนา

โดย รศ.ดร.ชาตรี กล่าวว่า การศึกษาเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎรในช่วงที่ผ่านมายังมีการศึกษาที่ค่อนข้างน้อย และเป็นการเน้นศึกษาไปในด้านที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง หรือด้านเศรษฐกิจ แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านวัฒนธรรมยังมีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่สถานการณ์ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาเห็นได้ว่า มรดก หรือศิลปะของคณะราษฎรได้รับความสนใจอย่างมากจากทุกฝ่าย

รศ.ดร.ชาตรี ระบุว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีสิ่งที่เรียกว่าคณะราษฎรศึกษาเกิดขึ้น โดยมีข้อถกเถียงใหญ่สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งมีมาหลาย 10 ปีแล้ว ว่า การเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 เป็นสิ่งที่ได้รับการตอบรับจากคนธรรมดามาน้อยเพียงใด และจะมีคำพูดต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสองลักษณะว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชิงสุกก่อนห้าม กับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สุกงอมคาต้น โดยทั้งสองฝ่ายจะลงไปศึกษาที่เอกสารซึ่งเป็นลายลักษณ์เป็นหลัก

แม้ว่าเอกสารต่างๆ จะมีคุณค่าอย่างมากต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ แต่เอกสารลายลักษณ์อาจจะไม่ได้ตอบประเด็นคำถามที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ส่งผลกระทบต่อคนธรรมดา และเป็นเรื่องที่ได้รับการตอบรับจากคนทั่วไปมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตามยังมีจุดหลักฐานขนาดใหญ่ที่ยังไม่เคยมีใครศึกษาคือ บรรดาวัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวัน รวมทั้งงานศิลปกรรมที่คนธรรมดาทั่วไปสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“วัตถุสิ่งของเหล่านี้เป็นหลักฐานที่สำคัญในการทำให้เราสืบค้นได้ว่า คนธรรมดาทั่วไปที่อาจจะไม่มีวัฒธรรมในการจดบันทึก เขาตอบสนองต่อเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อย่างไร โดยดูผ่านสิ่งของที่เขาประดิษฐ์ขึ้น และใช้สอยในชีวิตประจำวัน” รศ.ดร.ชาตรี กล่าว

รศ.ดร.ชาตรี กล่าวต่อว่า การศึกษาวัตถุสิ่งของมีข้อจำกัด เพราะโดยตัวของวัตถุเองไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า คนที่สร้าง หรือคนที่ใช้ คิดอย่างไร แต่ในการศึกษาก็จะมีวิธีการอ่าน หรือการทำความเข้าใจความหมายของวัตถุเหล่านั้น ผ่านการตีความเพื่อทำให้เห็นว่าคนที่สร้างวัตถุเหล่านี้มีความคิดเบื้องหลังในการสร้างอย่างไร

เขาเล่าต่อว่า วัตถุชิ้นหนึ่งซึ่งได้รับรางวัลจากการประกวดในวันฉลองรัฐธรรมนูญ 2476 คือ นิตติ้งซึ่งถักขึ้นโดย นางอนงค์ ศรกุล ซึ่งหมายความว่าในช่วงเวลานั้นมีการจัดประกวดการถักนิตติ้งในการฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งเปิดโอกาสให้คนธรรมดาเข้ามาส่วนร่วมได้ นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบด้วยว่ามีโอ่งน้ำที่มีการสลักรูปพานรัฐธรรมนูญไว้ที่ขอบโอ่งที่ผลิตขึ้นโดยชาวบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ได้ถูกผลิตขึ้นโดยรัฐ และเป็นของใช้ที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ได้ทำเพื่อแสดงหรือโชว์ให้ใครเห็น แต่อาจจะทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองอินกับการเปลี่ยนการปกครอง หรือสนับสนุนคณะราษฎรจึงผลิตสร้างวัตถุขึ้นมาแทนการจดเป็นลายลักษณ์อักษร


ชี้ คณะราษฎรไม่ได้สร้างพาน รธน.ให้คนกราบไหว้ 

รศ.ดร.ชาตรี ชี้ว่า นอกจากนี้มีข้อถกเถียงว่า สัญลักษณ์ที่เรียกว่าพานรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรสร้างขึ้นนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากกระบวนการที่ทำในระบอบเดิม เพราะเป็นการสร้างวัตถุสิ่งขึ้นมาและบังคับให้คนบูชากราบไหว้ จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิไม่ต่างจากสิ่งที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยตีความว่าคณะราษฎรเพียงแค่ยึดอำนาจเท่านั้น ไม่ได้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพราะสิ่งที่ทำขึ้นยึดแบบแผนประเพณีเดิมคือการสร้างวัตถุบูชาใหม่แทนที่สิ่งเดิมเท่านั้น ซึ่งนี่คือข้อถกเถียงใหญ่ในวงวิชาการที่เกิดขึ้นมาในช่วง 2-3 ปี แต่ข้อถกเถียงนี้สามารถตอบได้จากวัตถุสิ่งของที่ผู้คนใช้ในชีวิตประจำวัน

คณะราษฎรกับพื้นที่บางเขน


Picture2.png
  • รศ.ดร.ชาตรี ได้แสดงภาพที่เขี่ยบุหรี่ที่มีรูปพานรัฐธรรมนูญสลักอยู่ ซึ่งตีความได้ว่านี่เป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ไม่ได้มีลักษณะเชิดชู หรือยกย่อง ฉะนั้นการทำที่เขี่ยบุหรี่ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า คณะราษฎรไม่ได้สร้างสัญลักษณ์คือ พานรัฐธรรมนูญ ในลักษณะที่ให้เป็นวัตถุแห่งการเคารพบูชา ตามที่ระบอบเดิมทำ เป็นสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญกลายเป็นของสามัญในชีวิตประจำวัน

“การที่บอกว่าคณะราษฎรสร้างพานรัฐธรรมนูญขึ้นมาให้คนกราบไว้ มันเป็นการตีความที่เกินจริง และเป็นการใช้เอกสารราชการเพียงเล็กน้อยที่อยู่บันทึกราชการ เพราะในบันทึกนั้นมีการพูดว่ามีการใช้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญในชีวิตประจำวัน แล้วบางคนในกลุ่มคณะราษฎรก็เห็นว่าไม่ควรปล่อยให้สัญลักษณ์นั้นถูกใช้แบบนั้น จึงเห็นว่าควรออกระเบียบ หรือการห้ามใช้สัญลักษณ์ในลักษณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะทำให้สัญลักษณ์นี้มีความศักดิ์สิทธิ แน่นอนว่ามีการพูดอย่างนี้จริงในเอกสารลายลักษณ์ แต่ในทางประวัติศาสตร์ก็บอกว่าเอกสารลายลักษณ์เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้นในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ และไม่ว่าเอกสารนี้จะได้รับการปฏิบัติจริงหรือไม่ แต่ในทางชีวิตจริงในสังคมในชีวิตประจำวันของผู้คนตอบชัดว่า มันไม่ได้เป็นไปตามที่เอกสารลายลักษณ์นั้นพูดถึง เพราะยังมีการค้นพบวัตถุจำนวนมากที่เป็นวัตถุที่ใช้ในชีวิตประจำวันถูกผลิตขึ้น และไม่ได้เป็นวัตถุที่สร้างขึ้นเพื่อกราบไหว้ ”รศ.ดร.ชาตรี กล่าว 

รศ.ดร.ชาตรี ยังกล่าวถึงสิ่งของที่ถือเป็นสิ่งสำคัญของคณะราษฎรในยุคหลังการเปลี่ยนการแปลงครองอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางศาสนาอย่างในวัดในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งอยู่ห่างไกลกับศูนย์อำนาจของคณะราษฎร เช่น วัดตลิ่งชัน แม้ปัจจุบันจะไม่ได้ถือว่าอยู่ห่างไกลนัก แต่ในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นพื้นที่ไกลจากศูนย์อำนาจ ได้มีการสร้างหน้าบันศาลาการเปรียญที่ปั้นเป็นรูปเทวดาถือพานรัฐธรรมนูญ โดยการทำสิ่งนี้ ผู้ที่สร้างขึ้น และเจ้าอาวาสของวัดในช่วงเวลานั้นก็ต้องยอมให้ทำได้ จึงเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าในพื้นที่ทางศาสนาอย่างน้อยคือวัดตลิ่งชัน ได้สนับสนุนการแปลงเปลี่ยนการปกครอง 

รศ.ดร.ชาตรี ระบุถึงเรื่องศิลปะของคณะราษฎร กับพื้นที่บางเขนว่า โดยเริ่มต้นที่แผนที่เก่าเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพผ่านแผนที่ โดยตามแผนที่กรุงเทพ ใน ร.ศ. 120 จะเห็นได้ชัดว่าพื้นที่บางเขนก่อนเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดชเป็นทุ่งนา ไม่มีความเจริญอะไรมาก มีเพียงทางรถไฟที่ตัดผ่าน ฉะนั้นพื้นที่ทุ่งบางเขนจึงเป็นเพียงแค่ชุมชนเล็กๆ ไม่มีความสำคัญมากนัก แต่มีจุดเปลี่ยนสำคัญที่เหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดชในปี 2476 ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่บางเขน โดยสิ่งที่ละเลยไม่ได้หากจะศึกษาถึงการพัฒนาพื้นที่บางเขน คือคณะราษฎร และเหตุการณ์ปราบกบฏ เพราะหลังจากนั้นได้มีการตัดถนนเส้นใหม่ที่ชื่อว่า ถนนประชาธิปัตย์(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นถนนพหลโยธิน) มีการสร้างวัดประชาธิปไตย และมีการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฎ 

รศ.ดร.ชาตรี กล่าวต่อถึงอนุสาวรีย์ปราบกบฎว่า มีการสร้างในลักษณ์ที่คล้ายรูปปลอกกระสุนปืน แต่ไอเดียแรกมาจากเหตุการณ์การปลงศพทหารตำรวจรวม 17 นาย ที่เสียชีวิตจากการปรายกบฏบวรเดช ที่ท้องสนามหลวง เมื่อปี 2477 โดยมีเมรุที่สร้างในรูปแบบที่ทันสมัย และไม่มีลายไทย ส่วนภายในเมรุมีโลงศพเจ้าหน้าที่รัฐ 17 นายวางอยู่โดยรอบ ขณะที่ตรงกลางมีอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญจำลองวางอยู่ ซึ่งนี่คือไอเดียเริ่มแรกในการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฎ เพราะรูปทรงของอนุสาวรีย์มีความใกล้เคียงกับเมรุที่ท้องสนามหลวง 

เขากล่าวต่อถึง ความสำคัญของอนุสาวรีย์ปราบกบฏว่า ในช่วงทศวรรษ 2530 - 2540 ก่อนเกิดการรัฐประหาร 2549 จะมีการจัดกิจกรรมสำคัญที่เขตบางเขนจะจัดขึ้นในทุกวันขึ้นปีใหม่ นอกจากนี้อนุสาวรีย์ปราบกบฎยังได้ถูกเลียนแบบ และนำไปสร้างไว้ที่จังหวัดชลบุรีด้วย

Picture3.png
  • อนุสาวรีย์ปราบกบฏในอดีต ในพื้นที่บางเขน ก่อนถูกรื้อในปี 2562 ที่มา: ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง

ด้านนายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างคณะราษฎร กับวัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีมหาธาตุบางเขน ว่า มีเจดีย์ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิรวมของคณะราษฎรเกือบ 100 ราย โดยวัดนี้เริ่มสร้างเมื่อปี 2483 และเสร็จในปี 2484 และเป็นวัดที่ทำการอุปสมบทให้กับพระยาพหลพยุหเสนาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2484 จากนั้นไปเปิดอย่างเป็นทางการในวัดชาติปีถัดมาคือ 24 มิ.ย. 2485 แม้ปัจจุบันวัดประชาธิปไตยจะถูกเปลี่ยนชื่อแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเป็นมรดกหนึ่งของคณะราษฎรที่ยังอยู่ในพื้นที่บางเขน

นายนริศ กล่าวต่อด้วยว่า แนวคิดในการสร้างวัดประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นในสมัยของหลวงพิบูลสงคราม จากดำริของพระยาพหลหลังจากเหตุการณ์ปราบกบฎบวรเดชจบลงแล้วว่า ขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ควรจะทำบุญอะไรสักอย่าง โดยมีความเห็นว่า ควรสร้างวัดขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง จากนั้นพระยาพหล ได้ให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ พร้อมทั้งร่วมบริจาคเงินในการสร้างวัดนี้เป็นจำนวน 400 บาท และได้มีการเปิดเรี่ยไรเงินจากประชาชนได้รับเงินทั้งสิ้น 3.36 แสนบาท

ส่วน ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ กล่าวถึงมรดกของคณะราษฎร ในพื้นที่บางเขนว่า มีอยู่หลายอย่าง เช่น แผนกหอวิทยาศาสตร์ ของกรมพลาธิการทหารบก ปัจจุบันคือ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ซึ่งเป็นพื้นที่ทดลองทางวิทยาศาสตร์ ถูกตั้งขึ้นมาในปี 2476 นอกจากนี้พื้นที่ทุ่งบางเขนยังถูกใช้เป็นสมรภูมิในการรบระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกบฎบวรเดช จนที่สุดนำไปสู่การสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฎในปี 2479 จากนั้นพื้นที่บางเขนได้ถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อรัฐบาลพระยาพหลพยุหเสนา และถัดมาในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เลือกใช้พื้นที่เป็นสถานที่ทดลองด้านการเกษตร โดยให้มีการตั้งสถานีทดลองการเกษตรกลางบางเขนในปี 2481 ซึ่งมีพื้นที่ที่กว้างมาก และปัจจุบันพื้นที่บางส่วนได้รับการจัดสรรให้เป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ส่วนในปี 2483 ได้มีการสร้างวัดประชาธิปไตยขึ้น นอกจากนี้ในปีเดียวกันได้มีการสร้างตำบลบางเขน และมีพิธีเปิดในปี 2484 โดยจะมีอาคารที่เป็นมรดกของยุคนั้นไม่ว่าจะเป็น ที่ว่าการอำเภอบางเขน สุขศาลาบางเขน และหลังจากนั้นได้มีการสร้างโรงเรียนประจำอำเภอบางเขนคือ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทไทยนิยมพานิช ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2490 ได้มีการย้ายวิทยาลัยครูมาตั้งบริเวณใกล้กับวัดประชาธิปไตย ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 

คณะราษฎรกับพื้นที่บางเขน
  • ผศ.ศรัญญู กล่าวว่า มรดกคณะราษฎรบนพื้นที่บางเขน แผนกหอวิทยาศาสตร์ พธ.ทบ. (2476) อนุสาวรีย์ปราบกบฏ (2479) สถานีทดลองเกษตรกลางบางเขน (2481) วัดประชาธิปไตย / วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน (2483) อำเภอบางเขนใหม่ (2484) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2486)

จอมพล ป. ที่หายไป ใน ม.เกษตรฯ

เขากล่าวต่อไปถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วยว่า ถูกสร้างขึ้นในปี 2486 โดยประวัติศาสตร์กระแสหลักมีการอธิบายถึงประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยว่า เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการการเรียนการสอนด้านการเกษตรในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีวัฒนาการมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามยังมีข้อโต้แย้งอยู่พอสมควร เพราะการอธิบายว่ามหาวิทยาลัยมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ ทำให้มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 

ผศ.ศรัญญู กล่าวต่อถึงพัฒนาการของโรงเรียนด้านการเกษตรในมุมมองหลักของประวัติศาสตร์การเกษตรกระแสหลัก ว่า มีความพยายามโยงไปที่โรงเรียนช่างไหม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ถูกจัดตั้งโดยกรมช่างไหมในปี 2447 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในขณะที่กรมเพาะปลูกก็ได้มีการตั้งโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก ในปี 2449 และมีพัฒนานการเพิ่มขึ้นไปเมื่อมีการตั้งโรงเรียนกระทรวงเกษตรธิการในปี 2451 ซึ่งทั้งหมดมีความมุ่งหมายในการสร้างบุคลากรให้เข้าไปสอดรับกับความต้องการของรัฐ แต่สุดท้ายโรงเรียนต่างๆ ที่มีการตั้งขึ้นก็ถูกยุบลงในปี 2456 และรวมกันเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งปัจุบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การพัฒนาด้านการเกษตรได้มีการเปลี่ยนแปลงไป โดย ผศ.ศรัญญู ชี้ว่า คณะราษฎรได้ประกาศหลัก 6 ประการขึ้น โดยมีหลักเศรษฐกิจ ระบุว่า จะบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎร โดยรัฐบาลจะจัดหางานให้ราษฎร พร้อมกับวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และจะไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก เพราะฉะนั้นรัฐจะเริ่มหันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจ โดยสิ่งที่รัฐบาลสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องการเพาะปลูก การประมง และการเลี้ยงสัตว์ มีการจัดโครงสร้างหน่วยงานรัฐใหม่ โดยการรวมกระทรวงเกษตราธิการ กับกระทรวงพานิชย์และคมนาม ตั้งเป็นกระทรวงใหม่ชื่อว่า กระทรวงเกษตรพานิชยการ ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงเศรษฐการ ดูแลเรื่องเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่พลิกพัน เพราะไม่ได้เน้นเรื่องทั่วไปอย่างเช่นการสร้างบุคลาการเพียงอย่างเดียว แต่เน้นไปที่การมองภาพใหญ่ของประเทศ

ต่อมาในปี 2478 ก็ได้มีการแยกกระทรวงเกษตราธิการออกมาอีกครั้งเนื่องจากการรวมอยู่ในกระทรวงเศรษฐการทำให้มีภาระงานที่ใหญ่ไปจึงแยกกระทรวงออกมาดูแลเรื่อง การเกษตร ประมง ป่าไม้ ปศุสัตว์ สหกรณ์ ชลประทาน ที่ดิน เหมืองแร่ ออกมาเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้คณะราษฎรยังได้ว่าโครงการเพิ่มส่งเสริมด้านการเกษตรและการประมงเป็นระยะเวลา 10 ปี 

ผศ.ศรัญญู กล่าวถึงการการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการในสมัยคณะราษฎรว่า ในปี 2481 ได้มีการโอนโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมจากกระทรวงธรรมการ มาสังกัดภายใต้กระทรวงเกษตราธิการ และมีการรวมให้มีการจัดการศึกษาเพียงแค่เเห่งเดียว จากเดิมที่มีการกระจายไปตามภูมิภาค และมีการยกสถานะให้เป็นการเรียนในระดับวิทยาลัย และตั้งชื่อว่า วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และใช้ตราพระพิรุณทรงนาคมาเป็นตราของวิทยาลัย แม้วิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะตั้งขึ้นที่แรกที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ แต่ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงในการที่จะนำวิทยาลัยเกษตรเข้ามาอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพฯ และสถานที่ที่ได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยคือ บางเขน โดยมีการตั้งควบคู่ไปกับสถานีทดลองการเกษตรกลางบางเขน

อย่างไรก็ตามในปี 2478 กระทรวงกลาโหมมีความพยายามที่จะย้ายกรมยุทธศึกษาทหารบกมาตั้งที่บางเขน ในพื้นที่ซึ่งเป็นมหาวิทลัยเกษตรศาสตร์ในปัจุบัน แต่โครงการย้ายนี้ก็ได้ถูกล้มเลิกไป เพราะในปี 2480 พระยาฤทธิ์อัคเนย์ ได้เสนอให้มีการสร้างสถานีทดลองเกษตรกลางบางเขนขึ้นมาก่อน 

ผศ.ศรัญญู ย้ำด้วยว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังก็ได้ให้การสนับสนุนในด้านการเกษตร เช่น ให้มีการตั้งสมาคมเลี้ยงไก่ขึ้นในปี 2484 และต่อมาในปี 2485 พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน หรือ หลวงสินธุสงครามชัย หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ได้เสนอให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อจัดการเรียนการสอนด้านการเกษตรอย่างครบวงจรในพื้นที่สถานีทดลองเกษตรกลางบางเขน และรัฐบาลจอมพ ป. ได้เห็นชอบ และสนับสนุนให้ตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น 

“สถานะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในตอนแรกอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตราธิการ โดยมีอธิการบดี และนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการโดยตำแหน่งคือ เพราะฉะนั้นอธิการบดีคนแรก คือ หลวงสินธุสงครามชัย คณะราษฎร แต่เรื่องนี้คนส่วนใหญ่ในเกษตรไม่ทราบ” ผศ.ศรัญญูกล่าว