ไม่พบผลการค้นหา
เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ส่อเค้าเดินหน้า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรียกบรรดารัฐมนตรีที่เป็น 'หัวหน้าพรรค' จิบกาแฟ 'สนทนาธรรมการเมือง' กว่า 1 ชั่วโมง ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา

ข่าวแจ้งว่า ในวงสนทนาธรรม มีแกนนำรัฐบาลสายบู๊ สายบุ๋นอยู่กันพร้อมหน้า ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง รองหัวหน้าพรรค พปชร.

ขอให้พรรคร่วมรัฐบาล เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 256 ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 หลังจากออกท่าที ทั้งถีบทั้งถอย “หักดิบ” ความหวังของม็อบปลดแอก ที่ต้องการให้รัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา

วัตถุประสงค์เพื่อปรามไม่ให้ มวลชนหน้าสภา “ประกาศวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ “ชัยชนะ” ทางการเมืองของการเคลื่อนไหวภาคประชาชน - ขีดวงล้อมชัดเจน

ขณะเดียวกัน บรรยากาศในสภาหลังจากเล่นเกม “ยื้อ” ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการนัดแรก รัฐสภา ตั้ง 'วิรัช รัตนเศรษฐ' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. ประธานวิปรัฐบาลซึ่งเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นประธานกรรมาธิการ

กรรมาธิการ ก่อนรับหลักการ  แก้รัฐธรรมนูญ 91178364227_4057718454315699188_n (1).jpgกรรมาธิการก่อนรับหลักการแก้ รัฐธรรมนูญ 912621059_7406756306365865076_n.jpg

มีรองประธานกรรมาธิการ 6 คน ได้แก่ มหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ วิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา

ที่ปรึกษากรรมาธิการ 4 คน ได้แก่ กล้านรงค์ จันทิก ส.ว. อิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรประชาธิปัตย์ สมชาย แสวงการ ส.ว. และ เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.

เลขานุการกมธ. ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ส่วนโฆษกกรรมาธิการ 2 คน ได้แก่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์

หาทางประนีประนอมทั้ง ส.ส. - ส.ว.ปรับความเข้าใจ ส.ส. - ส.ว. ก่อนนัดลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่อีกครั้งในการประชุมสภาสมัยหน้าที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน วางกรอบการประชุม 10 วัน สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

วิรัช ศุภชัย พรรคร่วมรัฐบาล แก้รัฐธรรมนูญ 99791436904_n.jpg

ตั้งอนุ กมธ.ขึ้นมาพิจารณาปมที่ยัง “ค้างคาใจ” ของ ส.ว. อันได้แก่ หลังจากรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระที่ 1 ไปแล้ว เข้าสู่กระบวนการแก้ไขในวาระที่ 2 เมื่อผ่านขั้นตอนการโหวตวาระที่ 3 จะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ 

ขณะที่แหล่งข่าวใน กมธ.ชุดนี้ จับสัญญาณ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ เรียกรัฐมนตรีไปถก 1 ชั่วโมง ว่า บรรยากาศขณะนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “เป็นไปด้วยดี” ถึงขั้นว่า รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีหลักการใกล้เคียงกันน่าจะผ่านไปได้ไม่ยากนัก

ทว่า อีก 4 ญัตติที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน สุ่มเสี่ยงว่าจะถูกตีตกทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญ 256 มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้ว ประเด็นเหล่านี้ก็จะถูกแก้ไขอยู่ดี

โดย 4 ญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอประกอบด้วย

- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 270 และมาตรา 271 ในเรื่องการปฏิรูปประเทศ

- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 เรื่องยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี

- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมที่ให้ยกเลิกมาตรา 279 ที่ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของหัวหน้า คสช.

- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมที่ให้ยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 101 (4) ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. 2 ใบตามรัฐธรรมนูญปี 2540  

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตามปฏิทินการเมืองในเดือน ต.ค. จะร้อนยิ่งกว่าร้อน เพราะมีวันสำคัญทางการเมือง ทั้ง 6 ต.ค. และ 14 ต.ค. ประกอบกับแกนนำม็อบนักเรียน นักศึกษา ทั้ง “คณะประชาชนปลดแอก-แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ต่างใช้เดือน ต.ค. ป็นวัน “ดีเดย์” ทำม็อบแบบ ปักหลัก-พักค้าง ปฏิบัติการลงท้องถนน

ภาณุพงศ์ จาดนอก หมุดประชาชนปลดแอก รัฐสภา แก้รัฐธรรมนูญ

ทว่า ท่าทีของฝ่ายนิติบัญญัติในนามพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล ประเมินตาม “ข้อมูล” ที่รับฟังมาจากฝ่ายความมั่นคงว่า ม็อบปลดแอกจะไม่รุนแรง เงื่อนไขในเดือน ต.ค. ยังไม่ “สุกงอม” เพียงพอที่จะทำอะไรรัฐบาลได้

แหล่งข่าวระบุ 4 เหตุผลแห่งความเชื่อมั่นว่าจะ ฝ่าฟันเดือนอันตรายไปได้

1.ม็อบนักศึกษาเสียแนวร่วมไปเป็นจำนวนมาก จากการเสนอประเด็นที่ละเอียดอ่อน

2.จำนวนผู้ชุมนุม ที่เป็น “กองหนุน” ทำให้ม็อบเคลื่อนไหวได้ระยะยาวยังไม่มี เป็นลักษณะมาแล้วกลับ ไม่สามารถลากยาวได้นานจึงไม่น่ากังวล

3. และจากข้อเสนอที่แหลมคม จึงไม่มีพรรคการเมืองกล้าหนุนหลัง – ส่งท่อน้ำเลี้ยง ได้แต่ส่งเสียงเชียร์อยู่ห่างๆ 

4. สถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ คนส่วนใหญ่เห็นว่า การชุมนุมจะทำให้กระทบเศรษฐกิจปากท้อง

พลังประชารัฐ วิรัช วิปรัฐบาล  แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา adb101886545fd505_38031495_200924_17.jpg

ดังนั้น เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เปลี่ยนสัญญาณจาก ถีบถอย สู่ รุกแบบมีกลยุทธ์ ขีดเส้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นเรื่องของ “รัฐสภา” ไม่ให้ม็อบมวลชนใช้เป็น “วาระประกาศชัยชนะ” ได้ 

ประกอบกับ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน และมีสิทธิทำประชามติถามประชาชนก่อนที่จะลงมือให้ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้รับการต่อออกซิเจนทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง