ไม่พบผลการค้นหา
ทบ.ตกเป็นจำเลยสังคมอีกครั้ง นับจากโศกนาฏกรรมที่ จ.นครราชสีมา ถึง สนามมวยลุมพินี และตำบลกระสุนตก ‘บิ๊กอุ้ม’ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. เพื่อน ตท.20 กับ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ที่ต้องเข้ามาเคลียร์ปัญหา

นับจากเรื่อง ‘บ้านพักสวัสดิการทหารบก’ ที่เป็นต้นต่อของเหตุการณ์ที่ จ.นครราชสีมา ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ต้องออกมาแถลงข่าวทั้งน้ำตา

อีกทั้งเป็นอีกเชื้อไฟทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ต้องเร่งล้างบาง ‘ขุมทรัพย์ ทบ.’ จัดระเบียบ ‘สวัสดิการเชิงพาณิชย์’ ที่สร้างรายได้ให้ ทบ. กว่า 40 แห่ง เช่น สนามม้า ทภ.2 โคราช , บ้านพักรับรองสวนสนประดิพัทธ์ , สนามกอล์ฟ ทบ. รามอินทรา , สนามกอล์ฟลานนา , สนามกอล์ฟสวนสนฯ , สนามมวยลุมพินี รามอินทรา และ ปั้มน้ำมันกว่า 100 แห่ง เป็นต้น เป็นเนื้อที่รวมกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ของ ทบ. ทั้งหมดเป็นพื้นที่ราชพัสดุที่อยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์ จึงทำให้ ทบ. ลงนามกับ กรมธนารักษ์ เมื่อ ก.พ. 2563 เพื่อทำให้ระเบียบมีความชัดเจนมากขึ้น

พร้อมทั้งสั่งการกรมสวัสดิการ ทบ. ให้ตรวจสอบบ้านพักทหารบก ว่า มีนายทหารเกษียณฯ ยังพักอาศัยอยู่หรือไม่ โดยให้ทำหนังสือถึงผู้ที่เกษียณฯ แล้วยังอาศัยอยู่ที่บ้านสวัสดิการและไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศ โดยแจ้งให้ออกจากบ้านพักภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2563 ทว่ากลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังเป็นระเบียบที่ออกมา กลับมี ‘ข้อยกเว้น’ ตามมา คือ ผู้เกษียณฯแล้ว แต่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี , ส.ว. และองคมนตรี ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ตามปกติ เพราะทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ

พร้อมกันนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ได้เปิดสายตรง ผบ.ทบ. ขึ้นมาด้วย เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากกำลังพล โดยให้เอกชนเข้ามาทำการรวบรวมข้อมูลและย้ำว่าเป็นความลับ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา ทำให้กองทัพเสียศรัทธาจากสังคมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นปัญหาใต้พรมที่ซ่อนอยู่ แต่บานปลายจนเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นมา ซึ่งปัญหาเก่าที่ยังเคลียร์ไม่จบ แต่กลับเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา

อภิรัชต์

ล่าสุดที่ สนามมวยลุมพินี ในการดูแลของ ทบ. ตกเป็นเป้าใหญ่ ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จุดปะทุเกิดจากการจัดแข่งขันมวย เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่า คณะกรรมการกีฬามวย กกท.จะออกหนังสือขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดแขงขัน ที่ออกเมื่อ 4 มี.ค. ตามมาตรการของ ครม. ที่ออกมาเมื่อวันที่ 3 มี.ค.

แต่สุดท้าย สนามมวยลุมพินี ไม่เลื่อนไม่เลิกจัดการแข่งขัน 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผ่านมาไม่นาน มีผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสนามมวยออกมาเปิดเผยว่าติดเชื้อโควิด-19 หลายรายและติดไปยังบุคคลใกล้ชิดอีกทอด จึงทำให้สถิติของผู้ไปสนามมวยติดเชื้อขึ้นมาในลำดับต้นๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแถลง

ราชิต อรุณรังษี โควิด สนามมวย ลุมพินี -6.jpg
  • พล.ต.ราชิต อรุณรังษี จก.สก.ทบ. นายสนามมวยเวทีลุมพินี และกรรมการบริหาร,โปรโมเตอร์ ตรวจความพร้อมดูการชั่งน้ำหนักและตรวจร่างกายของนักมวยที่จะทำการชกใน"ศึกลุมพินีแชมเปี้ยนเกริกไกร" เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 63

หนึ่งในผู้ติดเชื้อคือ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. ในฐานะนายสนามมวยเวทีลุมพินี ที่ไปชมการแข่งขันที่สนามมวยลุมพินีด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพักรักษาตัว ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ประธานอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินี จึงทำให้ ทบ. ยิ่งเป็นจำเลยสังคมมากกว่าเดิม

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ สั่งการให้ พล.ท.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวน’ ขึ้นมาสอบสวน กรณีที่มีการจัดการแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ ‘ลุมพินีแชมเปี้ยนเกริกไกร’ เมื่อ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาความผิดในการลงโทษ เนื่องจากถูกร้องเรียน และมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด- 19 จนกลายเป็น Super Spreader แต่จนถึงวันนี้ พล.อ.อภิรัชต์ รวมทั้ง ทีมโฆษก ทบ. ก็ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงแต่อย่างใด

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้กองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น หนึ่งในผู้นำกองทัพอย่าง ‘บิ๊กกบ’ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ตอบคำถามสื่อกรณีดังกล่าว ว่า “เป็นเรื่องของอดีต แต่สิ่งที่ผมมาแถลงข่าว ศบม.โควิด -19 ในวันนี้(26มี.ค.) เป็นเรื่องของอนาคต เพื่อให้เรามาร่วมกันตกลง และร่วมมือแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการ ที่ตามกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

เรื่องในอดีตอาจไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียวที่ยกขึ้นมา แน่นอนว่าเกิดขึ้นมาจากความบกพร่อง เกิดขึ้นจากความไม่รัดกุม ซึ่งอาจจะมีอีกหลายหลายเรื่องด้วยซ้ำไป โดยผู้เกี่ยวข้องก็ได้มีการตรวจสอบและตรวจทาน และต้องมีมาตรการในการดำเนินการโดยผมไม่ขอลงไปในเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ที่จะพูดก็คือแนวทางการปฏิบัติ หลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ได้เชิญชวนให้ทุกคนกระทำด้วยความสมัครใจ”

ทั้งนี้สื่อได้ถามย้ำว่า มีการมองว่าสาเหตุเกิดขึ้นจากทหาร และจากสถิติลำดับต้นๆของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีความเกี่ยวข้องกับสนามมวยนั้น พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าวว่า “สาเหตุที่นำมาสู่การแพร่ระบาด มันก็อาจมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากส่วนหนึ่ง แต่สาเหตุที่ทำให้เชื้อกระจายออกไป ก็เป็นไปได้ อาจไม่ใช่ทหารอย่างเดียว อาจจะมีหลายกิจกรรม ซึ่งเราก็ตระหนัก และเราก็ได้ข้อมูลเดียวกัน”

ในสถานการณ์เช่นนี้ ทบ. ถือเป็นเหล่าทัพแรกที่ออกมาปฏิบัติการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ยามค่ำคืน ในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล โดย พล.อ.อภิรัชต์ ได้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง กลางดึก 23มี.ค.ที่ผ่านมา ในวันเกิดของตัวเองที่อายุครบ 60 ปี ในการฉีดฆ่าเชื้อไวรัสย่านสะพานควายกับกำลังพล จากนั้น ทบ. ได้มีการเผยแพร่คลิป ‘ความจริงที่ทหารไม่พูด’ ออกมา จนเกิดการแชร์ในโลกโซเชียลฯ แลถูกวิจารณ์อย่างหนัก

สนามมวย ลุมพินี โควิด โคโรนา -2.jpg
  • เจ้าหน้าที่ทีมรักษาความสะอาดเขตป้อมปราบศูตรพ่าย กทม. พ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อพื้นที่ภายในและภายนอกสนามมวยเวทีลุมพินี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด -19 ที่สนามมวยเวทีลุมพินี เมื่อ 5 มี.ค.63
อภิรัชต์ โควิด โคโรนา กองทัพ _7168196.jpg
  • พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. นำกำลังพลฉีดสารฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 63

โดยเป็นภาพ พล.อ.อภิรัชต์ กับกำลังพลกำลังฉีดสารฆ่าเชื้อไวรัส พร้อมกับข้อความว่า  “ผู้บังคับบัญชา มักถามทหารลูกน้องทหาร ว่า เหนื่อยไหม  ร้อนไหม หนักไหม

ซึ่ง ‘ทหาร’ มักตอบว่า ไม่เหนื่อย ไม่ร้อน ไม่หนัก

แต่ความเป็นจริง ‘ลูกน้อง’ ทั้งเหนื่อย ทั้งร้อน ทั้งหนัก นี่คือความจริงที่ทหารไม่พูด”

ในช่วงท้ายคลิป ขึ้นโค้ดคำว่า “งานฉลองวันคล้ายวันเกิดที่อิ่มใจที่สุด เพราะได้เป็นจิตอาสา ทำหน้าที่ช่วยชาติกับลูกน้อง”

พร้อมกันนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ได้ออกกฎเหล็ก 7 ข้อ เปรียบเป็นการ ‘เคอร์ฟิว ทบ.’ นำร่องก่อนออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 วัน เช่น กำลังพลที่พักอาศัยในบ้านพักของทางราชการ ให้หลีกเลี่ยงการออกนอกบริเวณโดยไม่จำเป็น

ห้ามนำบุคคลภายนอกเข้ามาพักอาศัยโดยเด็ดขาด ยกเว้นได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษร จากผู้บังคับบัญชาระดับผู้บังคับกองพันขึ้นไป

ห้ามกลับเข้าบนพักของทางราชการเกินเวลา 21.00น. หากมีความจำเป็นให้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาเป็นรายบุคคล

ส่วนกำลังพลที่มีบ้านพักอาศัยส่วนตัวอยู่นอกหน่วย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการติดตาม และเฝ้าระวังให้แจ้งที่อยู่บ้านพัก และช่องทางการติดต่อสื่อสาร ที่สามารถติดตามตัวได้ ตลอดเวลา

สำหรับการเดินทางออกนอกพื้นที่ กทม. หรือ จังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่ง ให้กระทำได้ในเฉพาะกรณีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง เช่น การเดินทางไปราชการ การสับเปลี่ยนกำลังของหน่วย หากไม่มีคำสั่งให้กำลังพลทุกระดับปฏิบัติหน้าที่ในที่ตั้งปกติ ตั้งแต่ 25 มี.ค.- 22เม.ย. 2563 ยกเว้นการลากิจที่จำเป็น เร่งด่วน ฉุกเฉิน ให้รายงานโดยตรงต่อผู้บังคับบัญชาของตนเองและผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน และอนุมัติโดยรวดเร็ว

ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการของ ทบ. ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเหล่าทัพที่มีกำลังพลรวมนับแสนนาย

และล่าสุด ทบ. มีทหารติดเชื้อโควิด 5 นาย กลุ่มเสี่ยงกักตัว 238 นาย (25มี.ค.) ดังนั้นมาตรการที่เข้มงวดเช่นนี้ เพื่อดูแลสุขภาพของกำลังพลและไม่ให้ ทบ. ต้องตกเป็นจำเลยของสังคมอีก

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ทบ.!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog