ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนดูความหมายที่เลื่อนไหลไปตามยุคสมัย คนแบบไหนที่ถูกด่าว่า "เสี้ยนหนามแผ่นดิน" จนถึง "ขายชาติ" และ "ชังชาติ"

เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เริ่มมีการสาดโคลนทางการเมือง เห็นต่าง เห็นไม่ตรงตามอัชฌาศัย วลีที่เกี่ยวกับ "ชาติ" มักจะถูกนำมาเป็นคำประกอบ "วาทกรรม" ดิสเครดิตคนอีกฟากฝั่งความคิด โดยในช่วงปีหลังมานี้ คำว่า "ชังชาติ" ดูจะมาเป็นอันดับ 1 แต่ก่อนจะชังชาตินั้น เรามีอะไรชาติๆ อีกหลายคำ ซึ่งหากอยากรู้ประวัติศาสตร์บ้านเรา บางทีการเรียนรู้จาก "คำด่า" นี่แหละ ที่ดูจะชัดและน่าสนุกที่สุด คิดเสียว่าอ่านอะไรเบาๆ แล้วเอาไปขบคิดต่อละกัน


ตอนยังไม่มีแนวคิดเรื่องชาติด่ากันยังไง?

คำว่า "ชาติ" (Nation) และ "รัฐชาติ" (Nation state) เป็นอุดมคติแบบใหม่ ที่ในสมัยก่อนโน้นอย่างน้อยก็ในยุครัฐจารีต (ตั้งแต่โบร่ำโบราณจนถึงสมัย ร.3) บ้านเราไม่ได้มีแนวคิดแบบนี้ ดังนั้น "การทรยศต่อบ้านเมือง" นัยที่แท้จริงจึงหมายถึงการทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดิน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในลิลิตโองการแช่งน้ำ ที่บอกว่า

"...ผู้บดีบซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถแก่เจ้า ผู้ผ่านเกล้าอยุธยา ...ตนทั้งหลายมาเพื่อจำทำขบถ ทดโทรห แก่เจ้าตนไสร้ จงเทพยุดา ฝูงนี้ให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันในสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี..."

แปลง่ายๆ ก็คือ ใครคิดขบถต่อพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา จะขอแช่งชักให้พวกเธอต้องตายในสามวันเลยนะเออ

คำด่าพวกใจไม่ซื่อต่อบ้านเมืองในยุคนี้ จึงไม่ค่อยเห็นคำว่า "ชาติ" แต่จะเห็นเป็นวลีต่างๆ เช่น ทรยศ คิดคด อกตัญญูแผ่นดิน / บ้านเมือง และหนึ่งในนั้นคือ "เสี้ยนหนามแผ่นดิน" ด้วยนัยหนึ่งแผ่นดินเป็นของพระเจ้าแผ่นดินนั่นเอง เช่น ในเอกสารเรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) มีการพูดถึงคำนี้อยู่

เอกสารชิ้นนี้เล่าเรื่องรัชกาลที่ 1 ทรงตั้งเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) แทนพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงแต่งตั้งไว้เดิม เพราะพระเจ้านครศรีธรรมราชฯ (หนู) สักเลขเกณฑ์คนไม่ค่อยครบ มีตรารับสั่งให้เข้าเฝ้าถึงสองครั้งก็ไม่มา และเอาเข้าจริงก็เป็นคนสนิทชิดเชื้อของพระเจ้าตากสินเสียด้วย ดังนั้น ในเอกสารจึงว่า

"...จะให้เจ้านครคงว่าราชการเมืองนครสืบไปมิได้ ละไว้จะเปนเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน..."


ขายอะไรก็ขายไป อย่าขายชาติ

ในยุครัฐจารีต ไม่ว่าจะเป็นคำว่า ทรยศ คิดคด อกตัญญู หรือเสี้ยนหนามแผ่นดิน คู่กรณีมักเป็นเรื่องระหว่างพระเจ้าแผ่นดิน และฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อถึงยุคใหม่ที่ "ประชาชน" ถูกปลูกฝังความรู้สึกแน่นแฟ้นว่าทุกคนในรัฐเป็นพวกเดียวกัน คำว่า "ชาติ" และ "รัฐชาติ" จึงบังเกิดขึ้น ดังนั้น การถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า "ทำอะไรไม่ดีสักอย่างกับชาติ" จึงเท่ากับการมีเรื่องกับ "ประชาชน" ไปด้วย จุดอ่อนไหวนี้เองจึงเป็นโอกาสให้เกิดวลีเด็ดวลีเชือดเฉือน เพื่ออาศัยความขุ่นเคืองของมวลชนมาเป็นแนวร่วมด้วย โดยคำที่ถูกหยิบมาใช้บ่อยๆ ก็คือ "ขายชาติ"

ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า "ขายชาติ" ไว้ว่า

"ขยายความลับประเทศชาติของตนแก่ศัตรูหรือเอาใจออกหากไปเข้ากับศัตรู เพราะเห็นแก่สินจ้างหรือสิ่งตอบแทนเพื่อทำลายล้างประเทศชาติของตน"

จริงๆ คำว่าทรยศในพงศาวดาร หรือคิดคดในคำให้การต่างๆ ตั้งแต่อดีต ผู้โดนกล่าวหาก็อาจมีพฤติการณ์แบบนี้แหละ แต่ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ที่เฉพาะเจาะจงแบบนี้ โดยคำว่า "ขายชาติ" นี่ชัดเจนมากว่าผู้โดนกล่าวหาหรือสถานการณ์ที่นำไปสู่การใช้คำนี้ มักมีกิจการ "ระหว่างประเทศ" เข้ามาเกี่ยวข้อง ตามหลักการที่ว่ามี "คนขาย" ก็ต้องมี "คนซื้อ" และคนซื้อจึงต้องเป็น "คนนอกประเทศ" ไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม คำว่า "ขายชาติ" อาจไม่ใช่คำเก่าเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่คำใหม่มาก มีอยู่ในละครพูด "หัวใจนักรบ" พระราชนิพนธ์ ร.6 ตอนตัวละคร "พระภิรมย์วรากร" ถูกผู้บังคับการฝ่ายข้าศึกบังคับถามข้อมูลทหารและเสือป่า พร้อมเอาลูกเอาเมียคุณพระฯ มาในเชิงข่มขู่ด้วย จนลูกสาวคุณพระฯ ถามว่า "คุณพ่อคะ เขาจะทำอะไร" และคุณพระฯ ได้ตอบไปว่า "เขาจะให้พ่อขายชาติ"

จะเห็นได้ว่ายุค ร.6 "ขายชาติ" ยังมีนัยของการ "ขยายความลับของประเทศ" จนในปี 2535 วันที่ 22 มีนาคมมีการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ 18 ตอนนั้นมีเพลงรณรงค์ให้ไปเลือกตั้งและไม่ขายเสียง เปิดทางทีวี วิทยุ รัวๆ มาก (ถ้าใครจำเนื้อเพลงได้นี่อายุไม่เบาแล้วนะเรา) เพลงนั้นมีท่อนนึงที่ร้องว่า

"อย่าส่งเสริมคนโกง อย่าเลือกคนผิด ขายเสียงขายสิทธิ์ เหมือนขายชีวิตขายชาติ"

อันนี้เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะทำนองเพลงมันพาไป แต่อีกส่วนหนึ่ง นี่เป็นการ "ยกระดับ" ความหมายของคำว่าขายชาติ ไม่ใช่แค่ขายความลับ เอาใจออกหากไปอยู่กับศัตรู แต่ยังหมายถึงการอนุญาตให้คนไม่ดีเอาเสียงเอาสิทธิ์ของตัวเองไปทำอะไรระยำตำบอนในสภาด้วย

ปรากฏว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เขียนไว้ในบทความของสถาบันพระปกเกล้าว่า เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคใช้เงินซื้อเสียงอย่างเปิดเผยและเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ดูเหมือนคำว่า "ขายชาติ" ไม่ได้กระตุ้นต่อมอะไรในยุคนี้เท่าไหร่


ความหมายที่เลื่อนไหลของการ "ขายชาติ" และยุค "จุดติด" 

แต่เมื่อถึงยุคปี 2549 นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นชินคอร์ป 73,000 ล้าน ให้กับเทมาเส็กจากสิงคโปร์ คำว่า "ขายชาติ" ก็ถูกนำมาจุดกระแสอีกครั้ง มีคำเท่ๆ รักชาติๆ เช่น "ขายชินขายชาติ" เนื่องจากขายหุ้นไม่เสียภาษี (ก็ขายในตลาดหุ้น) และกิจการนี้มาจากสัมปทานของรัฐ การขายหุ้นจึงเท่ากับขายทรัพยากรและกิจการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ นี่ดูเหมือนเป็นครั้งแรกที่คำว่า "ขายชาติ" ถูกจุดติด ทำให้เกิดม็อบขับไล่ขยายตัวออกไปในวงกว้าง ซึ่งนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนฯ และทักษิณกลายเป็น "คนแดนไกล" มาจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่นายกฯ ผู้น้อง คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดนข้อหา "ขายชาติ" ไม่แพ้พี่ชาย ทั้งกรณีมีการเจรจาตกลงกับสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เรื่องเขาพระวิหาร และเรื่องการออกไปมีสปีชที่มองโกเลียเดือนเมษายน ปี 2556 ตอนนั้นคุณยิ่งลักษณ์พูดถึงปัญหาของประเทศไทย ที่มีจุดเริ่มจากการรัฐประหาร 2549

เท่านั้นเอง ก็มีนักเขียนการ์ตูนออกมาฉะด้วยวลีอื้อฉาว ต่ำตม ปนหมกมุ่นว่า "กระหรี่แค่ขายตัว แต่หญิงชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ" ซึ่งนี่เป็นอีกครั้งที่ความหมายของคำว่าขายชาติมีการเลื่อนไหล เพราะคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ไปขยายความลับอะไร ใครๆ เขาก็รู้กันทั่วโลกเรื่องทหารไทยก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชน บริบทของคำว่า "เร่ขายชาติ" ที่นักเขียนเฒ่าพูดถึงจึงเป็นทำนอง "การนำความในไปเล่าข้างนอก" ยิ่งลักษณ์เธอทำให้ชั้นดูแย่!! อะไรประมาณนี้

เห็นไหม แค่คำว่า "ขายชาติ" คำเดียว ปรับเปลี่ยนใช้งานได้มากขนาดไหน


เข้าสู่ยุค “ชังชาติ”

จากเสี้ยนหนามแผ่นดิน ขายชาติในหลายเวอร์ชั่น ตอนนี้บ้านเมืองเราเข้าสู่ยุคของคำว่า “ชังชาติ” ไม่แน่ใจว่าเริ่มแรกจริงๆ มีเมื่อไหร่ แต่ดูเหมือนใช้กันหนักมากในช่วง 1-2 ปีมานี้ และดูเหมือนสอดคล้องกับกระแสของโลกเรื่องการขับเคลื่อนอะไรใหม่ๆ โดยคนรุ่นใหม่ จะพูดเก๋ๆ หน่อยก็ New Gen is Now ประมาณนั้น แน่นอนว่าการขับเคลื่อนมาพร้อมการแสดงความเห็น ซึ่ง Free Speech นี่ก็เป็นกระแสอยู่แล้ว ไม่แปลกเลยที่คนรุ่นใหม่จะ “ฉะ” กับเรื่องอะไรที่มันไม่ถูกไม่ควรที่เกิดขึ้นในประเทศ

รถติดเพราะระบบขนส่งมวลชนล้มเหลวราคาแพง, นิสัยใจคอคนไทยที่ยังไม่ค่อยใส่ใจเรื่องสำนึกสาธารณะ ดูจากขยะเละเทะหลังจบงานต่างๆ สิ, กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าสองมาตรฐาน, ทหารเกณฑ์มีไว้ทำไม, ประเพณีบางอย่างต้องมีอยู่ไหม หรือแม้แต่การวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่อะไรแตะไม่ได้สักอย่าง ฯลฯ

การวิพากษ์วิจารณ์แม้เป็นแง่ลบ แต่หากเป็นเรื่องจริงก็ต้องรับฟัง แต่สำหรับคนบางกลุ่มกลับมองว่านี่เป็นการ “ชังชาติ” ไปเฉย มองผ่านๆ คำว่าชังชาติอาจเหมือนวาทกรรมทั่วไป เอาไว้ติด # สวยๆ เดี๋ยวก็มีคำใหม่มา แต่เอาเข้าจริงแล้ว นี่สะท้อนอะไรบางอย่างของสังคม นั่นคือ “การไม่เปิดกว้างทางความคิด” และ “การพยายามปิดกั้นการแสดงความเห็น” ด้วยการเอาคำว่า “ชังชาติ” ไปยัดเยียดคนอื่น

ซึ่งหลายๆ คนคงมีคำโต้ในใจอยู่แล้วแหละว่า ไม่ได้ชังชาติ “กูชังมึงนั่นแหละ!” 


วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog