ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศรับรองการขายยุทโธปกรณ์มูลค่า 2.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ไต้หวัน โดยรวมถึงรถถังและขีปนาวุธ ส่งผลให้รัฐบาลจีนไม่พอใจอย่างมากและเรียกร้องให้ยกเลิกการซื้อขายดังกล่าว ทว่าสหรัฐฯ ชี้ว่าการขายครั้งนี้เป็นการส่งเสริมสันติภาพและทำตามข้อตกลงกับที่ให้ไว้กับไต้หวันในอดีตเท่านั้น

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้ประกาศรับรองการขายยุทโธปกรณ์มูลค่า 2.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.84 หมื่นล้านบาท) ให้ไต้หวัน ส่งผลให้ในวันที่ 9 กรกฎาคม เกิ๋งฉ่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ออกมาแถลงการณ์คัดค้าน โดยเรียกร้องให้เพิกถอนการรับรองการซื้อขายครั้งนี้ พร้อมตัดความสัมพันธ์ทางทหารกับไต้หวันโดยทันที เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความสงบเรียบร้อยของ 'ช่องแคบไต้หวัน' เสียหายไปมากกว่านี้

ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนหรือจีนแผ่นดินใหญ่นับว่า สาธารณรัฐจีน หรือ ‘ไต้หวัน’ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจีนภายใต้แนวคิดหนึ่งประเทศ สองระบบ ซึ่งทำให้ไต้หวันในสายตาจีนนั้นไม่ต่างกับฮ่องกง คือจีนอนุญาตให้มีระบบกฎหมายและเศรษฐกิจทุนนิยมของตัวเองได้ แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจีน ขณะที่ทางไต้หวันนั้นนับตัวเองเป็นประเทศ แม้นานาประเทศไม่ให้การรับรอง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังไช่อิงเหวินจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน ไต้หวันก็มีท่าทีแข็งข้อต่อจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ยังกล่าวอีกว่าสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐทำในครั้งนี้ เป็นการแทรกแทรงกิจการภายในประเทศของจีนและบ่อนทำลายอธิปไตยของจีนอย่างยิ่ง พร้อมกันนั้นได้อ้างถึงแถลงการณ์ร่วมเรื่องการจัดตั้งความสัมพันธ์ทางการทูต ปี 1979 ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งมีเนื้อความว่าสหรัฐฯ จะรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรัฐบาลอย่างเป็นทางการรัฐบาลเดียวของจีน พร้อมยุติความสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แม้จะยังรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไว้ก็ตาม เป็นการเคารพหลักการ ‘จีนเดียว’ ที่ยอมรับว่าไต้หวัน ฮ่องกง หรือมาเก๊า เป็นเพียงเขตปกครองพิเศษของจีนเท่านั้น

ทางด้านไต้หวันนั้น เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ขายยุทโธปกรณ์ให้กับไต้หวันโดยเคารพต่อพระราชบัญญัติความสัมพันธ์ไต้หวัน ปี 1979 ซึ่งครบรอบ 40 ปีในปีนี้ โดยอาวุธที่ได้รับมาจะเพิ่มศักยภาพในการป้องกันภัยคุกคามจากต่างชาติ และเป็นหลักประกันต่อเสถียรภาพของไต้หวัน

"กองทัพไต้หวันได้รับเครื่องมือชั้นดีที่สุดสำหรับป้องกันประเทศแล้ว" ไช่อิงเหวินระบุในเฟซบุ๊ก

สำหรับ พ.ร.บ. ความสัมพันธ์ไต้หวันที่ถูกอ้างถึงนั้น มีใจความสำคัญคือการยังคงดำเนินความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน หลังยุติความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการตามข้อตกลงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงรับประกันว่าไต้หวันจะยังมียุทโธปกรณ์สำหรับการปกป้องตัวเอง

ไช่อิงเหวิน - tsai
  • ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน

ในวันเดียวกันนั้น มอร์แกน ออร์เทกัส โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ชี้แจงว่าการขายรถถังและขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานให้ไต้หวันไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนของสหรัฐฯ ที่มีต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐบาลจีน

"สิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจในไต้หวัน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธทางการทหารนั้น คือการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันและพื้นที่ใกล้เคียง ... ดังนั้นทางเราจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจีนเดียวซึ่งเรายึดถือมาอย่างยาวนานแน่นอน" ออร์เทกัส กล่าวพร้อมชี้ว่าสิ่งที่สหรัฐฯ ทำ เป็นเพียงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความสัมพันธ์ไต้หวันเท่านั้น

หากการส่งมอบยุทโธปกรณ์ครั้งนี้ลุล่วง จะเป็นการค้ายุทโธปกรณ์สหรัฐฯ ให้ไต้หวันครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่มีการค้ายุทโธปกรณ์มูลค่า 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สมัยรัฐบาลบารัก โอบามา เมื่อปี 2011 โดยในรายการยุทโธกรณ์มูลค่า 2.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มีการซื้อขายกันในครั้งนี้ รวมถึงรถถังเอ็ม1 เอบรามส์ และขีปนาวุธนำวิถีสติงเจอร์ด้วย ทว่าไม่มีเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16วี 66 ลำที่กระทรวงกลาโหมไต้หวันสั่งซื้อไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

ที่มา: NYTimes / TaipeiTimes / Nikkei Asian Review / ANN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: