ไม่พบผลการค้นหา
ทางการไทยประสานเสียง 'ไม่อนุญาต' ให้จอดเรือสำราญเวสเตอร์ดัม-หวั่นเชื้อไวรัสโคโรนา โดยเป็นการชี้แจงหลังสื่อนอก-สื่อไทยรายงานอ้างอิงคำแถลงของบริษัทเรือว่าจะได้เทียบท่า 'แหลมฉบัง' จนเกิดปฏิกิริยาโต้กลับจากผู้ใช้เน็ตไทย และสื่อถูกกล่าวหาว่ารายงานข่าวปลอม

เรือสำราญ 'เอ็มเอส เวสเตอร์ดัม' ความยาว 285 เมตร ซึ่งสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 1,964 คน เป็นของบริษัท 'ฮอลแลนด์-อเมริกา ไลน์' กิจการของเครือธุรกิจคาร์นิวัลคอร์ปในสหรัฐอเมริกา แต่ติดธงชาติเนเธอร์แลนด์ ถูกปฏิเสธเทียบท่าจากปลายทางหลายแห่ง เพราะเกรงว่าเรือสำราญดังกล่าวอาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV เพราะเรือเพิ่งเทียบท่าที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2020 ที่ผ่านมา และยังไม่พ้นระยะฟักตัว 14 วัน 

ล่าสุด ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศ นอกเหนือจากฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และดินแดนกวม ซึ่งปฏิเสธไม่ให้เรือเวสเตอร์ดัมเทียบท่า แม้ว่าเมื่อวานนี้ (10 ก.พ.) บัญชีทวิตเตอร์ของบริษัทฮอลแลนด์-อเมริกา ไลน์ จะเพิ่งประกาศว่า เรือได้รับอนุญาตเข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบัง โดยผู้อยู่บนเรือจะได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง และจะถูกนำส่งไปยังกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางกลับบ้าน 

Twitter เรือเวสเตอร์ดัม.jpg
  • นอกเหนือจากประกาศจากเจ้าของเรือเวสเตอร์ดัม ยังมีสื่อไทยรายงานข่าวการเทียบท่าที่แหลมฉบังนอกเหนือจาก Voice Online เช่นกัน
20200211_134301.jpg

ทว่า หลังจากมีประกาศจากเรือและสื่อสำนักต่างๆ ออกมา หน่วยงานรัฐบาลไทย รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาแถลงยืนยันในเช้าวันนี้ (11 ก.พ.) ว่า ไม่อนุญาตให้เรือเวสเตอร์ดัมเทียบท่า และยืนยันว่า "ได้แจ้งไปยังผู้ประสานงานของเรือดังกล่าวว่าประเทศไทยไม่อนุญาตให้เรือดังกล่าวเข้ามาเทียบท่าแน่นอน" ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่หลากหลายจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นท้ายข่าวเกี่ยวกับการปฏิเสธเรือ 

ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางส่วนเห็นด้วยกับการปฏิเสธเรือของทางการไทย โดยระบุว่า ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของคนในประเทศ แต่บางส่วนมองว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็จำเป็น เพราะผู้อยู่บนเรือถูกปฏิเสธ ทั้งที่ยังไม่มีรายงานตรวจพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนาแต่อย่างใด

ส่วนครอบครัวของผู้ที่ติดอยู่บนเรือสะท้อนความเห็นต่อการบริหารจัดการของเรือสำราญลำนี้ว่าไม่มีความชัดเจน และตัดสินใจผิดที่จอดรับคนจากฮ่องกงเมื่อต้นเดือน ก.พ.


ลำดับเหตุการณ์ เส้นทางเดินเรือสำราญเอ็มเอส เวสเตอร์ดัม

16 ม.ค.2020 - เรือออกจากท่าที่สิงคโปร์

18 ม.ค. - เรือเทียบท่าที่เกาะสมุย ประเทศไทย

19 - 20 ม.ค. - เรือเทียบท่าที่แหลมฉบัง และออกจากประเทศไทย เพื่อไปยังปลายทางประเทศอื่นๆ ต่อ

21 -31 ม.ค. - เรือเดินทางไปยังจุดหมายต่างๆ ในกัมพูชาและเวียดนาม ก่อนจะเทียบท่าที่ฮ่องกง

1 ก.พ. - เรือออกจากฮ่องกง มุ่งหน้าไปยังปลายทางที่ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และดินแดนกวม แต่ถูกปฏิเสธเทียบท่าเพราะข้อกังวลเรื่องไวรัสโคโรนา ซึ่งทางเรือสำราญระบุว่ามีความพยายามที่จะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ปลายทางเพื่อขอเทียบท่า

10 ก.พ. - เว็บไซต์บริษัทฮอลแลนด์-อเมริกา ไลน์ ออกแถลงการณ์ว่าเรือเวสเตอร์ดัมจะเข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบังในวันที่ 13 ก.พ. เพราะได้รับการตอบรับจากทางการไทยแล้ว สื่อต่างประเทศและสื่อไทยจึงรายงานข่าวว่าเรือเวสเตอร์ดัมจะได้จอดที่ไทย หลังจากถูกปฏิเสธจากหลายประเทศ เพราะเกรงว่าจะพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

11 ก.พ. - นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กว่า ไทยไม่อนุญาตให้เรือเวสเตอร์ดัมเทียบท่า ขณะที่กระทรวงคมนาคมแถลงว่า เรือเวสเตอร์ดัมพยายามติดต่อขอเทียบท่าจริง แต่ทางการไม่อนุญาต

เรือสำราญเวสเตอร์ดัม.jpg
  • เฟซบุ๊กของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการ ชี้แจงข้อมูลที่สื่อรายงานเรื่องเรือเวสเตอร์ดัม แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเฟกนิวส์

ทั้งนี้ กำหนดการเดิมของเรือเวสเตอร์ดัมระบุว่า วันที่ 11 ก.พ. เรือจะต้องเทียบท่าที่นางาซะกิ ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะเดินทางไปยังปูซาน, เกาหลีใต้ ในวันที่ 12 ก.พ. และแวะอีกครั้งที่ซะเซโบะ, ญี่ปุ่น ในวันที่ 13 ก.พ.

ส่วนจุดหมายปลายทางที่จะสิ้นสุดการเดินเรือเดิมระบุว่าต้องเทียบท่าที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในวันที่ 15 ก.พ. แต่กำหนดการทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และยังไม่มีข้อยุติ


ปฏิกิริยาของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยและผู้ที่ได้รับผลกระทบ

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานเมื่อ 11 ก.พ.ว่า หลังจากเรือเวสเตอร์ดัมถูกปฏิเสธเทียบท่าในประเทศไทย เรือต้องลอยกลางทะเลโดยไร้จุดหมายปลายทางอีกครั้ง แต่เมื่อตรวจสอบพิกัดการเดินเรือผ่านเว็บไซต์ พบว่า เรือลำนี้อยู่ห่างจากชายฝั่งทางใต้ของประเทศเวียดนามประมาณ 96 กิโลเมตร แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้รับอนุญาตให้เทียบท่าหรือไม่

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยบางส่วนที่ทราบข่าวในตอนแรกว่าเรือจะเทียบท่าที่แหลมฉบัง แสดงความเห็นว่า "จะฆ่าคนไทยรึ" และบางรายระบุว่า "ถ้ายอมจะให้ไปรับลูกเรือด้วยตัวเอง" และบางรายตั้งคำถามว่า "เอาเข้าจริง...ทำไมหรือใครอนุมัติก่อน?"

TwitterComments-เรือสำราญไวรัสโคโรนา-2.jpg

เมื่อนายอนุทินระบุว่าจะไม่ให้เรือเทียบท่า จึงมีผู้ใช้ทวิตเตอร์บางรายระบุว่า "ขอบคุณท่าน รมต.ที่เห็นแก่คนในประเทศบ้าง"

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการใช้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์บางรายระบุว่า ถ้าหากค้านไม่ได้ ก็ให้คิดว่าทำเพื่อมนุษยธรรม เนื่องจากผู้อยู่บนเรือต้องการเทียบท่าเพื่อต่อเครื่องบินกลับบ้านเท่านั้น

ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางรายระบุด้วยว่า "ไม่ให้เข้าแต่ช่วยอะไรได้บ้างไหม? สงสัยจริงๆ เหมือนปล่อยให้คนป่วยกับไม่ป่วยอยู่ด้วยกันแล้วป่วยตายในที่สุด" ขณะที่บางรายตำหนิผู้แสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ @VoiceTVOfficial ว่า "ในนี้มีแต่พวกบ้าสิทธิมนุษยชน แต่ขาดมนุษยธรรม สงสารคนบนเรือ"

TwitterComments-เรือสำราญไวรัสโคโรนา-1.jpg

ส่วนทวิตเตอร์ @HALCruise ซึ่งเป็นบัญชีทางการของบริษัทเจ้าของเรือเวสเตอร์ดัม ยังไม่ได้โพสต์ข้อมูลเพิ่มเติมในช่วง 21 ชั่วโมงที่ผ่านมา (เทียบกับเวลา 13.00 น.วันที่ 11 ก.พ.ตามเวลาไทย) โดยข้อความในทวิตเตอร์ล่าสุดคือคำประกาศว่าเรือจะเทียบท่าที่แหลมฉบัง

ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวต่างชาติซึ่งระบุว่าตนเองเป็นหนึ่งในผู้โดยสารบนเรือเวสเตอร์ดัม ได้รับแจ้งจากคนในครอบครัวว่าเรือถูกไทยปฏิเสธเทียบท่า แต่เขายังต้องรอคำแถลงอย่างเป็นทางการจากผู้รับผิดชอบเรืออีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง เพราะเขาต้องติดอยู่ในเรือนานหลายวันแล้ว ทั้งที่มีกำหนดจะต้องลงเรือเพื่อเดินทางกลับบ้านตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ก่อน 

ส่วนผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกรายหนึ่งที่ระบุว่าเป็นลูกสาวของผู้อยู่บนเรือ เรียกร้องให้บริษัทเจ้าของเรือเวสเตอร์ดัมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยระบุว่า พ่อแม่ของเธอติดอยู่ในเรือกลางทะเลเพราะเรือตัดสินใจรับผู้โดยสาร 800 คนจากฮ่องกง

TwitterComments-เรือสำราญไวรัสโคโรนา-3.jpg

ทั้งนี้ เรือเวสเตอร์ดัมไม่ใช่เรือสำราญลำแรกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพราะเรือสำราญไดมอนด์พรินเซส ถูกกักอยู่ที่ท่าเรือประเทศญี่ปุ่น หลังตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสราวร้อยคนบนเรือดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสหวั่นกลัวว่าเรือสำราญที่รับผู้โดยสารหรือแวะเทียบท่าที่จีน ฮ่องกง และมาเก๊า ซึ่งเป็นพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาด อาจเป็นพาหะนำโรคเข้าสู่ประเทศปลายทางได้ แต่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO คัดค้านมาตรการนี้มาตลอด โดยระบุว่าเป็นการกีดกันที่ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

ล่าสุด ช่วงค่ำวันที่ 12 ก.พ. บัญชีทวิตเตอร์ของฮอลแลนด์ อเมริกา ไลน์ ยืนยันว่า เรือเวสเตอร์ดัมจะมุ่งหน้าไปยังจังหวัดพระสีหนุ หรือ 'สีหนุวิลล์' ประเทศกัมพูชา เพื่อเทียบเท่าให้ผู้โดยสารลงจากเรือ จากนั้นบริษัทเรือจะจัดหาเครื่องบินเช่าเหมาลำไปส่งผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานกรุงพนมเปญ เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: