ไม่พบผลการค้นหา
จากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยประมวลอาญา มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ได้ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติว่า

“...บุคคลย่อมมีเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน..” หรือ มาตรา 28 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “...บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย..” 

เหตุการณ์ดังกล่าวได้เป็นหมุดหมายสำคัญต่อระบบกฎหมายและระบบสุขภาพไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำแท้งโดยสมัครใจของมารดา 

แนวทางการวินิจฉัยดังกล่าวถ้ามองในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว มีผลดีหลายประการทั้งต่อตัวมารดา บุตรที่จะเกิด ตลอดจนสังคมโดยรวม เพราะความพร้อมสุขภาพ ร่างกาย และเศรษฐานะ ของมารดาย่อมส่งผลดีต่อบุตรที่จะเกิดในการเติบโตสร้างโอกาสและเศรษฐานะของตนตามมา นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดปัญหาการลักลอบทำแท้งและผลเสียของสุขภาพมารดาอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวในครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรตามมาต่อระบบกฎหมายและระบบสุขภาพในอนาคต และจะเตรียมรับมือแก้ไขอย่างไร

สภาพการปัญหาปัจจุบันในการทำแท้ง

ปัญหาหลักในเรื่องทำแท้งปัจจุบันมี 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมหรือไม่พึงประสงค์ การลักลอบทำแท้งโดยไม่ได้มาตรฐานการแพทย์ และการเข้าไม่ถึงการทำแท้งที่ได้มาตรฐานการแพทย์ ซึ่งมีแนวทางในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน

ในกรณีการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและไม่พึงประสงค์ การแก้ปัญหานี้ต้องอาศัยการให้ความรู้ด้านเพศศึกษา ความรู้ด้านสุขภาพเจริญพันธุ์ การป้องกันโรคติดต่อเพศสัมพันธ์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆในการป้องกันการตั้งครรภ์ เช่น ถุงยางอนามัย เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามการป้องกันไม่สามารถวางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้วย่อมมีความผิดพลาดถึงแม้จะมีการป้องกันอย่างดี การทำแท้งจึงเป็นสิ่งจำเป็นเสมือนตาข่ายกรองอีกขั้นหนึ่งในกรณีที่มีการตั้งครรภ์โดยไม่สมัครใจ และมารดาต้องการยุติการตั้งครรภ์ของตน แต่ทว่ากฎหมายอาญาปัจจุบันมาตรา 301 กำหนดให้มารดาที่จงใจยุติการตั้งครรภ์หรือยอมให้บุคคลอื่นยุติการตั้งครรภ์เป็นความผิดอาญา ซึ่งมีบทยกเว้นในมาตรา 305 ที่อนุญาตให้แพทย์เท่านั้นยุติการตั้งครรภ์ได้ในกรณีเฉพาะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมารดา หรือ เป็นการตั้งครรภ์จากความผิดอาญาตามมาตรา 276 หรือ 277 หรือ 282 หรือ 284 

ผลที่ตามมาจึงเกิดการทำแท้งโดยไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ ทั้งอยู่ในรูปทำด้วยตนเอง เช่น การซื้อยามายุติการตั้งครรภ์เอง หรือ การรับบริการทำแท้งที่ผิดกฎหมายและผู้ปฏิบัติไม่มีมาตรฐานการแพทย์เพียงพอ ซึ่งข้อมูลจากมูลนิธิสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรีพบว่า อัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี สูงถึง 50.5 ต่อ 1000 และมีจำนวนการทำแท้งประมาณ 3แสนครั้งต่อปี และอันตรายจากการทำแท้งสูงถึง 300 ต่อ 1แสนการทำแท้ง และมีค่าใช้จ่ายภาครัฐจากกรณีมีภาวะแทรกซ้อนถึง 123.3 ล้านบาท  

ปัญหาสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้การทำแท้งโดยไม่ได้มาตรฐานการแพทย์ลดลง?

อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าจะลดการทำแท้งไม่ได้มาตรฐานได้หรือไม่ เพราะการวินิจฉัยดังกล่าวอาจจะมีผลตามมาที่ มาตรา 301 ถูกลบออกจากประมวลกฎหมายอาญาในอนาคต ซึ่งมาตรานี้เป็นบททั่วไป การลบมาตรานี้ย่อมหมายถึง ถ้ามารดาตัดสินใจทำแท้งด้วยการไปซื้อยากินเองโดยไม่ผ่านแพทย์ก็ย่อมไม่มีความผิด และไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทำแท้งไม่ได้มาตรฐานและผลแทรกซ้อนที่ตามมา

เนื่องจากการแก้กฎหมายเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน การเขียนกฎหมายนั้นต้องเขียนเพื่อนำไปใช้ในปัจจุบันและอนาคต การวางบททั่วไปจึงเป็นการเขียนเผื่อไว้ในสถานการณ์อนาคตที่ไม่รู้ว่าการทำแท้งจะมีรูปแบบอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งการลบเฉพาะมาตรา 301 โดยไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนบทยกเว้นในมาตรา 305 ก็อาจจะไม่ช่วยลดการทำแท้งไม่ได้มาตรฐาน และยังไม่มีการเสริมเกราะป้องกันให้ผู้ทำเวชปฏิบัติใดๆ

นอกจากนี้ถึงแม้มารดามีสิทธิในร่างกายและสุขภาพของตนเองก็ตาม แต่รัฐเองก็ต้องมีหน้าที่ในการคุ้มครองชีวิตของทารกที่จะเกิดมาเช่นกัน การวินิจฉัยว่ามาตรา 301 ประมวลอาญา ขัดกับมาตรา 27 หรือ 28 แห่งรัฐธรรมนูญ จึงเกิดปัญหาทางกฎหมายตลอดจนสังคมโดยรวมที่ต้องกลับมานั่งถกคิดกันอย่างใหญ่หลวงว่า “ตัวอ่อนในครรภ์ถือว่าเป็นมนุษย์มีชีวิตหรือไม่ และมีสิทธิในชิวิตและร่างกายตามกฎหมายที่รัฐต้องคุ้มครองหรือไม่?” “สิทธิของเด็กในครรภ์เริ่มขึ้นตั้งแต่อายุเท่าใด” “ตัวอ่อนในครรภ์เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมารดา อวัยวะมารดา หรือ เป็นมนุษย์?” 

อุปสรรคของการเข้าถึงการทำแท้งมาตรฐานการแพทย์ 

สาเหตุของการเข้าไม่ถึงการทำแท้งมาตรฐานการแพทย์ได้แก่ ปัญหาการยินยอมจากผู้ปกครอง โดยปกติแล้วการรับบริการทางการแพทย์ต้องของผู้เยาว์ต้องมีการเซ็นยินยอมจากผู้ปกครองทุกครั้ง ซึ่งมักเป็นอุปสรรคในกรณีที่มารดายังเป็นผู้เยาว์และไม่ต้องการให้ผู้ปกครองรับทราบปัญหา และอาจนำไปสู่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยวิธีอื่น ดังนั้นถ้าประเทศไทยมีการพัฒนาสิทธิการทำแท้งแล้วก็ต้องมีการพิจารณาในด้านนี้ด้วย

นอกจากนี้สิ่งที่เป็นอุปสรรคอีกประการคือ ราคาของการทำแท้ง และทำให้มารดาวัยรุ่นที่ต้องอาศัยเงินจากผู้ปกครอง หรือมารดาที่มีฐานะยากจนไม่สามารถรับการทำแท้งมาตรฐานการแพทย์ได้ คำถามที่ตามมาคือ ในอนาคตการทำแท้งควรจะถูกบรรจุในสิทธิบริการรักษาพยาบาลของประชาชนหรือไม่  

และถ้าบรรจุในสิทธิรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานแล้ว คำถามที่ตามมาคือ ระบบสุขภาพไทยมีกำลังบุคลากรการแพทย์เพียงพอให้บริการหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาครัฐ ซึ่งถ้าไม่เพียงพอแล้วก็ต้องอาศัยภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน และอาจเกิดเป็นช่องทางในการหากำไรของภาคเอกชนตามมา เพราะการทำแท้งเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นก็จะเกิดความเสี่ยงที่ตามมาสูง และถ้าการรอคิวของภาครัฐยาวนานแล้วผู้หญิงก็เหมือนถูกบีบบังคับให้ต้องใช้บริการภาคเอกชน หรือสุดท้ายก็นำไปสู่การทำแท้งที่ไม่ได้มาตรฐานการแพทย์ตามมาเช่นเดิม

สิทธิการทำแท้งเป็นสิทธิที่สำคัญของสตรีที่สังคมควรสนับสนุน อย่างไรก็ตามการเกิดสิทธิใหม่ๆ ขึ้นมาอันเป็นข้อผูกมัดทุกๆคนในปัจจุบันและรุ่นต่อๆไปก็ต้องอาศัยความรอบคอบ การสนทนาถกปัญหาอย่างรอบด้านจากทุกๆฝ่ายภายใต้ระบอบที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงความพร้อมของระบบสุขภาพที่รองรับความต้องการของประชาชน

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog