ไม่พบผลการค้นหา
จ่ายขั้นต่ำทำให้ผู้บริโภคต้องแบกดอกเบี้ยถึงร้อยละ 18 ต่อปี หนี้เสียกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนทำงาน 25 – 45 ปี ผู้เชี่ยวชาญแนะแก้ปัญหาด้วยการคุยกับธนาคารหรือเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ และกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการไม่สร้างหนี้แต่แรก

ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ 'นวอร เดชสุวรรณ์' ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ชี้ว่า เมื่อประเมินพฤติกรรมการใช้จ่ายบัตรเครดิต จากจำนวนทั้งหมด 24 ล้านใบในท้องตลาด พบว่าประชากรไทยเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่จ่ายเงินตามการเรียกเก็บตรงเวลา ขณะที่อีก 2 ใน 3 มักนิยมจ่ายแต่ขั้นต่ำร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของดอกเบี้ยและหนี้ที่ตามมา

สารพัดค่าใช้จ่าย ภายใต้ 'ขั้นต่ำร้อยละ 10'

ตามปกติของการเปิดใช้งานบัตรเครดิตจะมีดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยอื่นๆ อาทิ สินเชื่อกู้ซื้อบ้าน หรือรถยนต์ อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคสามารถจ่ายเงินได้ตามกำหนดชำระเงิน ก็จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยดังกล่าว อีกทั้ง โดยมากแล้ว หากมีการใช้งานถึงยอดที่ธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรกำหนดไว้ ก็จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ที่นิยมชำระเงินแค่ขั้นต่ำ หรือร้อยละ 10 หรือแม้แต่การจ่ายเงินล่าช้า ก็จะต้องแบกภาระดอกเบี้ยในอัตราที่สูง โดย 'นวอร' อธิบายว่า ธนาคารจะเริ่มคิดดอกเบี้ยกับผู้บริโภคตั้งแต่วันที่ทำการรูดซื้อสินค้าไปจนถึงวันที่จ่ายเงินจริง ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี แล้วก็จะคิดดอกเบี้ยเช่นนี้ "วนไปเรื่อยๆ จนกว่ายอดหนี้จะหมด" จึงอยากแนะนำว่า "ถ้าไม่จำเป็นอย่าจ่ายขั้นต่ำ จ่ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้" เพื่อจะได้ประหยัดดอกเบี้ยตรงนี้ลง

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการติดตามทวงถามหนี้ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้ออกบัตรเครดิตสามารถเรียกเก็บจากผู้ถือบัตรได้เช่นเดียวกัน

อีกกรณีที่ 'นวอร' แสดงความกังวลคือ การนำบัตรเครดิตไปกดเงินสด ซึ่งจะทำให้ผู้ถือบัตรต้องแบกค่าใช้จ่ายหลายประการ ได้แก่ 1. ค่าถอนเงินร้อยละ 3 ของยอดที่ถอนออกมา 2. ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ร้อยละ 7 ของค่าธรรมเนียมการถอนเงินยอดนั้น และ 3. ดอกเบี้ยที่ร้อยละ 18 ต่อปีของยอดที่เบิกเงินออกมา

คำเตือนของ 'นวอร' จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในการใช้บัตรเครดิต คือการกดเงินสดจากบัตรเครดิตใบนึงแล้วเอาไปโปะหนี้จ่ายชำระให้บัตรเครดิตอีกใบนึง ซึ่งบางครั้งประชาชนมองว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ความจริงแล้วการกระทำเช่นนี้กลับเป็นการทำให้หนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแทน

'หนี้เสีย' ไม่ได้อยู่ที่บัตรหลายใบแต่อยู่ที่การใช้เงิน

ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ของประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งระบบ โดยข้อมูลวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ สะท้อนว่า กลุ่มที่มีแนวโน้มจะเป็นหนี้เสียไม่ใช่ผู้ที่ถือบัตรเครดิตหลายใบ แต่เป็นผู้ที่ถือบัตรเครดิตไม่กี่ใบแต่ใช้เงินเต็มวงเงิน

'นวอร' อธิบายว่า ในกลุ่มที่ถือบัตรเครดิตหลายใบ มีความเป็นไปได้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีรายได้ค่อนข้างสูงและมักไม่ใช้จ่ายจนเต็มวงเงิน ขณะที่ถ้าเทียบกับกลุ่มผู้มีบัตรเครดิตแค่ 1 - 2 ใบ แต่ใช้เงินเกือบเต็มยอดที่ธนาคารให้มา จะมีพฤติกรรมเสี่ยงนำไปสู่การเป็นหนี้เสียได้มากกว่า

ขณะที่เมื่อมาพิจารณาด้านมิติของอายุ จะพบว่า กลุ่มประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน ระหว่างอายุ 25 - 45 ปี จะมีสัดส่วนการเป็นหนี้เสียมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ 'นวอร' ชี้คือ ปัจจุบันกลุ่มคนที่ธนาคารและบริษัทบัตรเครดิตกำลังพุ่งเป้าไปให้ความสำคัญในการอนุมัติบัตรในช่วงนี้เป็นกลุ่มคนเจนวาย เพราะจากข้อมูลการอนุมัติบัตรที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 60 จะเป็นเจนวาย และกลุ่มคนที่เริ่มเข้าสู่การทำงานใหม่ๆ ที่เรียกว่า 'First Jobber'

โดย 'นวอร' ออกมาเตือนคนรุ่นใหม่ที่อาจจะยังรู้ไม่เท่าทันการตลาดโดยเฉพาะรูปแบบการโฆษณาการผ่อนสินค้า 0 เปอร์เซ็นต์ 10 เดือนว่า ต้องมองระยะยาว ไม่ใช่แค่มองว่าธนาคารตัดยอดเงินเราไม่มากนัก แปลว่าเรายังมีเงินเหลือในกระเป๋าอีกเยอะ แต่ต้องมองว่านี่เป็นภาระระยะยาวและหากเราสะดุดหรือจ่ายล่าช้าก็จะต้องมาแบกภาระดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน

ไม่ไหวอย่าหนี ไปคลินิกแก้หนี้

สำหรับประเด็นผู้ที่ประสบปัญหาการผ่อนชำระหนี้สินจนกลายเป็นปัญหาที่แก้ด้วยตัวเองหรือตกลงกับธนาคารไม่ได้แล้ว 'นวอร' แนะนำให้ไปติดต่อโครงการคลินิกแก้หนี้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือ SAM ซึ่งจะช่วยเป็นคนกลางเจรจาระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ทุกราย

โดยหากเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่หลายแห่งก็จะช่วยรวมหนี้ทั้งก้อนเลยให้มาอยู่ที่เดียวแล้วก็แก้ไขทีเดียว อีกทั้งข้อเสนอในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของ SAM ก็จะมีลักษณะที่ผ่อนปรนเป็นพิเศษให้ดูแลลูกหนี้ โดยจะผ่อนเฉพาะเงินต้นเป็นเวลา 10 ปี จึงช่วยให้ภาระการผ่อนต่อเดือนไม่มากนัก แล้วสุดท้ายถ้าสามารถผ่อนชำระเสร็จสิ้นตามสัญญาก็จะยกดอกเบี้ยค้างชำระให้ทั้งหมดด้วย

สิ่งสุดท้ายที่ 'นวอร' ในฐานะผู้ที่ดูแลนโยบายเกี่ยวกับสถาบันการเงินโดยตรงแนะนำ คือให้กลับไปที่จุดเริ่มต้นของการไม่สร้างหนี้ตั้งแต่ต้น และย้ำว่า 'บัตรเครดิต' เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่การใช้ 'บัตรเครดิตไม่เป็น' จะกลายเป็นโทษแทน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :