ไม่พบผลการค้นหา
กพอ. อนุมัติแผนส่งมอบพื้นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมตั้งคณะทำงานเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ ยันสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เร่งรัดได้ใน 1 ปี 3 เดือน ส่วนดอนเมือง-พญาไท อาจช้าสุดแต่ไม่เกิน 4 ปี ด้านเลขาฯ EEC ป้อง “อนุทิน-ศักดิ์สยาม” ไม่ได้อยากล้มโครงการฯ ยันลงนามซีพีได้ตามกำหนด 25 ต.ค.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 10/2562 วันนี้(16ต.ค.62) ว่าที่ประชุมได้อนุมัติแผนส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ตามที่คณะอนุกรรมการบริหารฯ เป็นผู้เสนอ โดยได้มีการกำหนดแผนการส่งมอบพื้นที่ ออกเป็น 3 ช่วง สถานีพญาไท-สุวรรภูมิ ระยะทาง 28 กม. ซึ่งเป็นช่องที่ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พร้อมส่งมอบพื้นที่ ส่วนช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. จะเร่งส่งมอบพื้นที่ 1 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 2 ปี หลังลงนาม ส่วนช่วงดอนเมือง-พญาไท 22 กม. จะเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังลงนาม 

ส่วนในเรื่องของงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการคาดว่าจะชัดเจนภายในเดือนพ.ย.นี้ โดยหากเป็นไปตามแผนจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินช่วงแรกสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ไม่เกินปี 2567 และช่วงสถานีดอนเมือง-พญาไท ไม่เกินปี 2568 นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดส่งมอบที่ดินและสาธารณูปโภค โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน 

“นี่ถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีแผนส่งมอบที่ดิน ระยะเวลา และงบประมาณที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาให้เอกชนไปเจรจากับหน่วยงานโดยตรงได้บ้างไม่ได้บ้าง ยืนยันส่องมอบพื้นที่ได้แน่ แต่ถ้าไม่ได้ก็จะไม่เป็นปัญหา หรือเป็นเหตุให้เอกชนบอกเลิกสัญญา เพราะสามารถขยายเวลาได้ และไม่จำเป็นต้องให้เงินชดเชยเ เพราะตาม RFP เงื่อนไขชัดเจนว่ามีความเสี่ยง ” นายคณิศ กล่าว

ทั้งนี้เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยังได้กล่าวยืนยันว่า ในส่วนของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้ง 2 คนเป็นผู้ที่ทำงานและอยากให้เกิดการลงนามโครงการระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ไม่ได้อยากให้มีการล้มเลิกโครงการอย่างที่ปรากฎเป็นข่าว

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า จากนี้จะต้องนำรายละเอียดแผนการส่งมอบพื้นที่ไปแนบท้ายในเอกสารสัญญา ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตาม Request for Proposal (RFP) ซึ่งเป็นสัญญาผู้จ้างกับผู้รับจ้าง ซึ่งยังมั่นใจว่าในวันที่ 25 ต.ค. 2562 จะมาสามารถลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ได้แน่นอน