ไม่พบผลการค้นหา
'จุรินทร์' ประชุมร่วมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เผยผู้ประกอบการแบกต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 30-40 สั่งเจ้าหน้าที่เฝ้าหน้าโรงงานรายงานยอดผลิต-เช็คสต็อกป้องกันการกักตุน ดึงกระทรวงดีอีเอสตรวจจับผู้กระทำผิดในสื่อออนไลน์ หวังลดปัญหาหน้ากากอนามัยแพง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมหลังมีหนังสือเรียกร้องจากฝั่งสมาคมโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงเสียงสะท้อนจากประชาชนที่ต้องซื้อหน้ากากอนามัยที่มีราคาแพง ว่าเน้น 5 มาตรการดูแลบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ดังนี้


เพิ่มกำลังการผลิตอีก 2 ล้านชิ้น/เดือน + อุ้มโรงงาน

เรื่องกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยภายในประเทศ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตจากทั้งหมด 11 โรงงาน อยู่ที่ 36 ล้านชิ้น/เดือน และอาจเพิ่มกำลังสูงสุดได้เป็น 38 ล้านชิ้น/เดือน ในกรณีที่โรงงานทั้ง 11 ราย ร่วมกันเพิ่มอัตราการผลิตเป็นตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด

โดยผู้แทนจากทั้ง 11 โรงงาน ชี้ว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30 – 40 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ต้นทุนแพงขึ้น มาจากราคาตัวกรองที่แพงขึ้นจากประเทศต้นทาง

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบหลักในการผลิตหน้ากากอนามัยจากจีนในสัดส่วนที่มาก แต่เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถสั่งของจากจีนได้แล้ว จึงต้องหันไปพึ่งไต้หวันและอินโดนีเซียแทน โดยปัจจุบันไต้หวันมีการกำหนดอัตราการส่งออก ขณะที่อินโดนีเซียก็ปรับราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ทั้งยังเลื่อนเวลาการจัดส่งสินค้า

นายจุรินทร์ ชี้ว่าเพื่อแก้ปัญหากำลังการผลิตไม่คงที่ กระทรวงพาณิชย์จะสั่งคนเข้าไปประจำการในทั้ง 11 โรงงาน เพื่อรับแจ้งปริมาณการผลิตและการดูแลสินค้าในคลังสินค้าทั้งหมดทุกวัน เพื่อให้ได้ยอดหน้ากากอนามัยตามที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ ตัวเลขการผลิตทั้งหมดของทั้ง 11 โรงงานจะถูกส่งมาที่ศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเอื้อให้เกิดความสะดวกในการบริหารจัดการยอดหน้ากากอนามัย

อีกทั้ง นายจุรินทร์ ยังชี้ว่า จะมีการดำเนินการยื่นเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตทั้ง 11 ราย ที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิต ภายใต้ราคาที่กำหนดคือ 2.50 บาท/แผ่น

อย่างไรก็ตาม ณ การพูดคุยกันในปัจจุบัน ยังไม่ได้มีแผนการยื่นเรื่องเข้าสู่ ครม.ในวันอังคาร (3 มี.ค.) ที่จะถึงนี้ แต่จะให้กรมการค้าภายในร่วมศึกษากับเอกชนว่าจะต้องการความช่วยเหลือเพิ่มอย่างไรบ้าง รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในกรณีต้องการนำเข้าเครื่องจักรต่างๆ


เพิ่มการกระจาย แต่ยังไม่รู้ความต้องการทั้งหมดของ รพ.

สำหรับประเด็นการกระจายหน้ากากอนามัยไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นประเด็นนำมาสู่การออกหนังสือร้องเรียน นายจุรินทร์ อธิบายว่า ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขไปแล้วตั้งแต่การตกลงปรับให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม พร้อมตอบว่าประเด็นที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากความผิดพลาดในการบริการจัดการหน้ากากอนามัยของฝั่งกระทรวงสาธารณสุข

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้า ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ยอดกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1.35-1.55 ล้านชิ้น/วัน โดยจะแบ่งไปให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรประมาณ 600,000-700,000 ชิ้น จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ 350,000 ชิ้น ให้โรงพยาบาลโดยตรง 150,000 ชิ้น และให้องค์การเภสัชกรรมอีก 200,000 ชิ้น

ขณะที่อีก 250,000 ชิ้น โรงงานจะส่งตรงไปที่กรมการค้าภายใน เพื่อกระจายไปยังสมาคมร้านขายยา การบินไทย ห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่ง ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านธงฟ้า ขณะส่วนที่เหลืออีก 750,000 ชิ้น ก็จะให้โรงงานกระจายไปยังผู้สั่งซื้อสินค้าตามปกติ

อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมยังไม่สามารถตอบได้ว่า จากเหตุการณ์ที่มีจดหมายออกมาจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชนว่าขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างหนัก แท้จริงแล้วบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนมีความต้องการจำนวนหน้ากากอนามัยต่อวันในปริมาณเท่าใด และชี้ว่ายังต้องรอการพูดคุยกันอีกครั้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสมาคมโรงพยาบาลเอกชน


ส่งออกต้องขอ แต่ไม่มีนโยบายอนุญาต

สำหรับประเด็นเรื่องการส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศ นายจุรินทร์ย้ำว่า ตั้งแต่นี้การนำหน้ากากอนามัยออกนอกประเทศแม้จะเพียง 1 ชิ้น ก็จำเป็นต้องขออนุญาตก่อน ยกเว้นในกรณีที่เป็นผู้ป่วยมีใบรับรองแพทย์ว่าต้องมีหน้ากากอนามัยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้เป็นที่ต้องการหรือสำหรับใช้งานของคนในประเทศยังสามารถส่งออกสินค้าได้ปกติ


ดึงกระทรวงดีอีเอสจัดการผู้ค้าออนไลน์ที่โก่งราคา

นายจุรินทร์ ชี้ว่า กรณีประชาชนต้องซื้อสินค้าในราคาแพง ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการกำหนดให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ได้มีการจับกุมและดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนขายสินค้าในราคาแพงเกินสมควรและร้านค้าที่ไม่ติดป้ายแสดงราคาไปแล้วทั้งสิ้น 51 คดี แบ่งเป็นการขายสินค้าเกินราคา 31 คดี และการไม่ติดป้ายราคาสินค้า 20 คดี อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกตามแพลตฟอร์มการค้าขายจะแบ่งได้เป็นการจับกุมแบบออฟไลน์ 46 คดี และแบบออนไลน์ 5 คดี

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในการตรวจจับผู้กระทำความผิดบนโลกออนไลน์ โดยนายวิชัยชี้ว่า ปัจจุบันราคาสูงสุดของหน้ากากอนามัยตามที่รัฐกำหนดอยู่ที่ 2.50 บาท/ชิ้น

ทั้งนี้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบายเพิ่มเติมว่าผู้ที่กระทำความผิดบนโลกออนไลน์ไม่ได้รวมแค่ผู้ขายสินค้าเท่านั้น หากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอนุญาตให้มีการขายสินค้าที่แพงเกินสมควรก็จะถูกดำเนินคดีด้วยเช่นเดียวกัน พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมา โรงงานทั้ง 11 แห่ง ไม่ได้เป็นผู้ปล่อยสินค้าในจำนวนที่เหลือ 750,000 ชิ้น/วัน ไปให้ยังร้านค้ารายย่อยที่อาจไปปรับขึ้นราคาเกินสมควร และชี้ว่าอาจเป็นสินค้านำเข้ามาจากต่างประเทศ

สุดท้าย กระทรวงพาณิชย์ขอให้ประชาชนทุกคนไม่ตื่นตระหนกและกักตุนสินค้า พร้อมออกมาเตือนประชาชนให้ระวังมิจฉาชีพที่มาหลอกขายสินค้าในปริมาณมากและให้โอนเงินมัดจำก่อน เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยไม่ได้มีสินค้าเพียงพอให้ออกมาจำหน่ายในปริมาณมากขนาดนั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: