ไม่พบผลการค้นหา
ทีมวิจัยเผยแพร่รายงานต่อต้านการทำฟาร์ม 'หมึกยักษ์' เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ชี้หมึกยักษ์มีสมองใหญ่ รู้สึกเจ็บปวดเป็น มนุษย์ไม่ควรกินถ้าไม่ขาดแคลนอาหารจริงๆ และการทำฟาร์มจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศด้วย

คณะนักวิจัยจาก 3 มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย เผยแพร่รายงานชื่อว่า The Case Against Octopus Farming ลงในวารสารด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาในรายงานได้แจกแจงเหตุผลที่มนุษย์ไม่ควรทำฟาร์ม 'หมึกยักษ์' (octopus) หรือ 'หมึกสาย' แม้ว่าปัจจุบันจะมีความต้องการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกก็ตาม 

เหตุผลที่สำคัญสุด คือ หมึกยักษ์เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังที่มีสมองขนาดใหญ่ที่สุด และผลการทดลองศึกษาวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าหมึกยักษ์มีระบบคิดที่ซับซ้อนเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งยังสามารถจดจำแนวทางแก้ปัญหาที่เคยผ่านมาก่อนได้ด้วย โดยมีการอ้างอิงการทดลองที่พบว่าหมึกยักษ์สามารถใช้เปลือกมะพร้าวเป็นเครื่องมือในการหาอาหาร รวมถึงสามารถหาทางออกจากอุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำของชาวประมงได้อย่างปลอดภัย ทั้งยังรู้สึก 'เจ็บปวด' เป็น การกักบริเวณหมึกยักษ์ในฟาร์มเลี้ยงตามแหล่งน้ำธรรมชาติก็ยังเข้าข่าย 'ทรมานสัตว์' และอาจทำให้หมึกยักษ์ตายเป็นจำนวนมาก 

AFP-ตลาดอาหารทะเลเกาหลีใต้-หมึกยักษ์-หมึกดอง.jpg

เนื้อหาในงานวิจัยระบุว่า มนุษย์พยายามพัฒนาระบบปศุสัตว์เพื่อความมั่นคงทางอาหารของตัวเองมาอย่างยาวนาน โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างแกะ แพะ วัว หมู รวมไปถึงสัตว์ปีกอย่างไก่หรือเป็ด ถูกนำมาเลี้ยงในฟาร์มเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของมนุษย์ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นระบบอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม การทำฟาร์มปศุสัตว์ที่ว่ามานั้น ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางทรัพยากร และการทำฟาร์มสัตว์น้ำของธุรกิจประมงหลายแห่ง เช่น ทูน่า แซลมอน หอยนางรม หอยเชลล์ หรืออื่นๆ ก็กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง 

  • เดอะการ์เดียนเผยแพร่คลิปหมึกยักษ์กระโจนขึ้นจากน้ำเพื่อจับปูบนโขดหินเป็นอาหาร

ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยจึงย้ำว่า ประเทศต่างๆ ไม่ควรส่งเสริมการทำฟาร์มหมึกยักษ์อีกประเภทหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการทรมานสัตว์แล้ว ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างใหญ่หลวง แม้ว่าหลักการทำฟาร์มหมึกยักษ์จะมีเป้าหมายเพื่อลดการล่าหมึกยักษ์ตามธรรมชาติ โดยตั้งเป้าว่าจะจับคู่หมึกยักษ์มาผสมพันธุ์ ก่อนปล่อยให้ไข่หมึกถูกฟักและเติบโตในฟาร์มเลี้ยงตามธรรมชาติแทน แต่ลูกหมึกยักษ์ในฟาร์มต้องการอาหารจำนวนมหาศาล การจับสัตว์น้ำมาเลี้ยงลูกหมึกเหล่านี้ย่อมจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างไม่มีทางเลี่ยง 

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์เดอะการ์เดียน ซึ่งรายงานผลวิจัยดังกล่าว ระบุเพิ่มเติมว่า ในแต่ละปีมีหมึกยักษ์ถูกจับเป็นอาหารกว่า 350,000 ตันทั่วโลก และตลาดใหญ่ของการบริโภคหมึกยักษ์อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือไม่ก็ประเทศที่ไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนอาหาร เช่น สเปน เม็กซิโก ชิลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน อีกทั้งอาหารจากหมึกยักษ์ก็ถือว่ามีราคาแพง การบริโภคหมึกยักษ์จึงไม่ใช่ 'ความจำเป็น' 

AFP-หมึกยักษ์ต้มแบบสเปน.jpg
  • หมึกต้มซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นในย่านหนึ่งของสเปน

ที่ผ่านมา หลายประเทศพยายามทำฟาร์มหมึกยักษ์ในทะเลหรือมหาสมุทร แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะหมึกยักษ์จำนวนมากต้องเลี้ยงด้วยกุ้งหอยปูปลาที่ยังมีชีวิตอยู่ การควบคุมสภาพแวดล้อมในฟาร์มให้เหมาะสมกับทั้งเหยื่อและหมึกยักษ์จึงเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการสังเกตการณ์จนพบหมึกยักษ์สายพันธุ์ที่ไม่เลือกกินมากนัก จึงมีผู้ประกอบการบางแห่ง เช่น บริษัทนิสซุย (Nissui) ของญี่ปุ่น ที่ออกมาประกาศว่าทำฟาร์มหมึกได้สำเร็จ และคาดว่าลูกหมึกที่เพาะเลี้ยงในฟาร์มล็อตแรกจะโตพอที่จะ 'บริโภค' ได้ภายในปีหน้า

ท่าทีดังกล่าวทำให้คณะนักวิจัยในหลายประเทศออกมารวมตัวคัดค้าน รวมถึงเผยแพร่ผลวิจัยเรื่องผลกระทบจากการทำฟาร์มหมึกยักษ์ออกสู่สาธารณะ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: