ไม่พบผลการค้นหา
กินแรด-กินกวาง-กินเสือ เมื่อก่อนคนไทย 'ล่า' และกินสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อย่างไร

แค่เรื่องพลาสติกอุดลำไส้ 'มาเรียม' จนตายตัวอย่างเดียว ก็เห็นได้แล้วว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุ 100 เปอร์เซ็นต์ ในสาเหตุการตายของสัตว์ป่า ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว กิจกรรมแทบทุกอย่างของเรายังเป็นตัวการสำคัญในการลดจำนวนของสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง แม้แต่เรื่อง 'รสนิยมการกิน'

คอลัมน์ประวัติศาสตร์ปากว่างวันนี้ จึงขอเล่าเรื่องรสนิยมการกินที่มีแต่โบร่ำโบราณ ว่าเบียดเบียนสัตว์ป่าขนาดไหน ซึ่งรสนิยมเหล่านี้อาจไม่ซีเรียสมากในยุคสมัยหนึ่ง ด้วยทรัพยากรที่ยังไม่โดนมนุษย์ผลาญเท่าไหร่ แต่บางอย่างกลับยังเป็นค่านิยมที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน อันนี้สิน่ากลัว....


อาหารจานที่ 1 : แรด

ใช่! คุณอ่านไม่ผิดหรอก ในอดีตเรากินแรดกันจริงๆ เพราะแม้แรดเป็นสัตว์ดุร้ายและอันตรายมาก ขนาดในวรรณคดีต่างๆ เวลากล่าวถึงแรดก็มักจะมีคำว่า 'ร้าย' เป็นคำสร้อยต่อท้ายเสมอ แต่ถึงจะน่ากลัว ก็ห้ามปากห้ามท้องมนุษย์ผู้หิวโหยไม่ได้ ในตำรากับข้าวของหม่อมส้มจีน ภรรยาของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) บอกว่าในเมนูแกงคั่วส้มเนื้อหมูกับปลิงทะเล สามารถใส่ 'หนังแรด' เคี่ยวให้เปื่อยแทนปลิง "มีรสแปลกไปได้อีกรสหนึ่ง"

รสแปลกที่ว่าคืออย่างไรไม่ทราบแน่ แต่ 'ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์' (Jean-Baptiste Pallegoix) สังฆนายกคณะมิซซังโรมันคาทอลิกประจำประเทศสยาม สมัย ร.4 เป็นคนหนึ่งที่เคยได้ลิ้มรสแรดหลายครั้งหลายหน เขาบันทึกถึงความเชื่อในบ้านเราว่า นอและหนังแรดเป็นอาหารอย่างวิเศษและเป็นยาบำรุงสำหรับคนไม่ค่อยแข็งแรง วิธีปรุงแรดก็คือ


"ปิ้งหนังนั้นเสียก่อน ครั้นขูดรอยไหม้เกรียมออก แล้วก็หั่นเป็นชิ้นๆ และต้มเข้ากับเครื่องเทศให้นานหน่อย จนกระทั่งเปื่อยเป็นยางเหนียวและใส"


อารมณ์ประมาณซุปแรด หรือกินกาวหนังสัตว์ ซึ่งไม่น่าให้คุณค่าอะไรไปมากกว่าคอลลาเจนแบบเดียวกับที่มีในต้มซุปเปอร์ตีนไก่

แต่ความเชื่อว่าแรดเป็นของดีที่แพร่หลายในเอเชีย ก็ทำให้ "นอ-หนังแรด" กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสยามในยุคนั้น เทียบชั้นได้กับหนังช้าง หนังควาย หรือขี้ผึ้ง ด้วยเหตุนี้จึงมีอาชีพนักล่าสัตว์ร้ายในสยาม รวมถึงการ "ล่าแรด" ที่ต้องอาศัยความบ้าบิ่นและความชำนาญเป็นพิเศษ

ปาลเลกัวซ์ บันทึกว่าชาวเมืองจันทบุรีมีวิธีการล่าแรดที่น่าดูมาก (ทำไมชอบดูการฆ่าสัตว์ล่ะพ่อคุณ) โดยจะออกล่าด้วยลำไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมลนไฟจนแข็ง เมื่อแกะรอยแรดจนเจอตัว ก็จะโห่ร้องปรบมือยั่วให้แรดโกรธวิ่งสวนออกมา จังหวะนี้นักล่าแรดจะแทงไม้ไผ่เข้าไปในปากแรดแล้วแยกย้ายกันหลบหนี ทิ้งให้แรดเลือดออกจนหมดแรงแล้วค่อยออกมาสำเร็จโทษ โหดสัสรัสเซียมากๆ 

การกินแรดหรือการล่าแรดในสยาม เป็นเรื่องผิดเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 คุ้มครองสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน 9 ชนิด รวมถึง 'แรด' ด้วย แต่ในเชิงข้อเท็จจริง ไทยเรามีแรดอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ แรดชวา และแรดสุมาตรา หรือกระซู่ ปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่าสูญพันธุ์ พบไม่ได้ในป่าธรรมชาติ และไทยยังเป็นศูนย์กลางค้านอแรดแอฟริกาพอๆ กับการค้างาช้าง 

โดยทุกวันนี้นอแรดเป็นที่เสาะหาสะสมกันในแง่เครื่องรางราคาแพงร้องจ๊าก แต่ความเชื่อในสรรพคุณทางยาก็ยังมีอยู่ เมื่อหลายปีก่อนนักอนุรักษ์ในแอฟริกาเลยปิ๊งไอเดียฉีดสารที่ไม่อันตรายต่อแรด แต่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ลงไปในนอแรดแบบตัวเป็นๆ

สารที่ฉีดเข้าไปจะย้อมนอเป็นสีแดงให้รู้กันในวงการพรานว่า 'นอนี้มีสารพิษเจือปน' จะได้หมดแรงจูงใจฆ่าแรดเพื่อเอานอ เพราะเอาไปก็กินไม่ได้อยู่ดี เป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ไม่รู้แรดบ้านเราเหลือพอให้ทดลองฉีดดูรึเปล่า


อาหารจานที่ 2 : กวาง

ปาลเลกัวซ์ เจ้าเดิมบอกว่าสยามยุค ร.4 "มีกวางมากเป็นฝูงๆ" เมื่อน้ำท่วมป่ามันก็อพยพขึ้นเนินและหน้าน้ำนี่เองที่เป็นฤดูกาลล่ากวางอย่างเมามันส์

"พวกมันถูกล่าอย่างไม่ปราณี ผู้ชายแข็งแรงหลายคนลงเรือพายเข้าไปในท้องทุ่งที่น้ำท่วม พวกกวางเมื่ออยู่ในน้ำก็วิ่งไม่ได้เร็วขลุกขลักอยู่ในพงหญ้า จึงเข้าถึงตัวได้ง่ายและลงมือบ้อม (บ้อม แปลว่า ทำร้ายด้วยการทุบตี) เสียด้วยตะบองใหญ่ๆ หรือไม่ก็ยิงในระยะเผาขน ...พวกพรานจะแล่เนื้อกวางขนาดงามๆ มาขายให้แก่ท่านเพียงชิ้นละ 4 ฟรังก์เท่านั้น"

กวางมักถูกปรุงอย่างง่ายๆ ด้วยวิธี 'ย่าง' เช่น ในขุนช้างขุนแผนบอกว่า "พริกกะเกลือเนื้อกวางเอาย่างไว้" ขณะที่สุนทรภู่ เขียนไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า "ได้กะต่ายตะกวดกวางมาย่างแกง" แต่การล่าเพื่อกินอาจไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ตระกูลกวางในบ้านเราลดลงอย่างฮวบฮาบ จนบางชนิด เช่น สมัน ติดบัญชีสัตว์สูญพันธุ์

'จอห์น ครอว์เฟิร์ด' (John Crawfurd) ทูตอังกฤษที่เข้ามาในสยามสมัย ร.2 รายงานว่าสินค้าหนังสัตว์ที่สำคัญของสยาม คือ 'หนังกวาง' พวกฮอลันดาเคยขนจากสยามไปขายญี่ปุ่นถึงปีละ 150,000 แผ่น

ในสมัยอยุธยา ญี่ปุ่นรับซื้อหนังกวางจำนวนมหาศาลเพื่อทำชุดซามูไร โดยการส่งออกหนังกวางของสยามยังฟู่ฟ่าแม้จนถึงสมัย ร.4 โดย "พระสยามธุรานุรักษ์" (แอ็ม อา เดอ เกรอัง - M.A. de Gre'han) ราชทูตฝรั่งเศสที่ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลสยามประจำกรุงปารีส บันทึกว่าหนังกวางบ้านเราหาง่ายมาก ราคาแค่ 3-5 บาทต่อหาบ ส่วนเขากวางก็เยอะไม่ยิ่งหย่อนกัน หาซื้อได้ในราคา 3-7 บาทต่อหาบ


อาหารจานที่ 3 : เสือ

ในวิชานาฏศิลป์ตอนเด็กๆ ตอนฝึกร้องฝึกรำเพลงเต้นกำรำเคียว มันจะมีท่อนนึงที่ร้องว่า "ไม่ว่าเนื้อเสือ เนื้อช้าง ย่างไปฝากเมียเอย" ฟังแล้วงงนิดๆ ว่าเสือมันน่ากินตรงไหน 

ปรากฏว่าเมื่อลองไปค้นๆ หนังสือดู ปาลเลกัวซ์ก็เล่าไว้เหมือนกันนั่นแหละว่าบ้านเรากินเสือจริงๆ โดยในหนังสือ "เล่าเรื่องกรุงสยาม" บอกว่าพรานไทยบางคนยิงเสือได้ปีละ 20 ตัว โดยใช้วิธีไปดักซุ่มบนต้นไม้ใกล้หนองน้ำที่เสือและกวางซึ่งเป็นอาหารของเสือลงไปดื่ม โดยหนังสัตว์นั้นขายให้คนจีน เนื้อเอาไปตากแห้ง ที่สำคัญคือ ปาลเลกัวซ์บอกว่าในระยะเวลาปีหนึ่งที่อยู่ในบ้านเรา เขาเห็นการส่งออก 'กระดูกเสือ' ไปต่างประเทศถึง 70 หาบ คิดเล่นๆ ตามมาตราวัดไทย 1 หาบเท่ากับ 60 กิโลกรัม เท่ากับว่าส่งออกกระดูกเสือ ถึง 4.2 ตัน

การตายของเสือแต่ละครั้งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นสินค้าขายดีที่ต้องแย่งกันซื้อ ขนาดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเล่าไว้ใน 'นิทานโบราณคดี' ว่าอยากจะได้หนังและกระโหลกของเสือใหญ่กินคนเมืองชุมพรที่ถูกล้อมปราบจนสิ้นชื่อ ก็ยังซื้อไม่ทันคนจีนที่เอาไปทำยา ขณะที่คนไทยก็ไม่น้อยหน้า ใช้เขี้ยวเสือ กระดูกเสือ น้ำมันเสือ เป็นส่วนประกอบสูตรยาต่างๆ มากมาย ทั้งแก้รากสาด แก้ปวดข้อ บำรุงกระดูก แก้ผมหงอกก่อนวัย ฯลฯ

เอาเข้าจริงแล้วชิ้นส่วนเสือก็คงไม่ต่างจากสัตว์อื่นๆ หรอก ที่ประกอบไปด้วยโปรตีน เผลอๆ กินไก่ยังจะได้รับโปรตีนมากกว่า แต่สมัยนี้ก็ยังมีคนเชื่อเรื่อง 'ตัวเดียวอันเดียวเสือ' 'ยาดองกระดูกเสือ' ฯลฯ ว่าป็นยาโด๊ปชั้นดี ทำให้การลักลอบค้าเสือเพื่อรสนิยมการกินแปลกๆ ยังมีอยู่

และถ้าความเชื่อไม่เปลี่ยนสักที อีกหน่อยคงเหลือแต่มนุษย์กับแมลงสาบที่จะมีชีวิตอยู่บนโลก

unnamed.jpg



วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog