ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอนามัยโลกกำลังเจรจาซื้อยารักษาโควิด-19 เพื่อผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ในราคาคอร์สละ 10 ดอลลาร์ หรือประมาณ 330 บาท โดยระดมเงินทุนเพิ่มจากประเทศร่ำรวยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโควิด-19 ทั่วโลก

โครงการ Access to COVID-19 Tools Accelerator (ACT-A) เป็นความร่วมมือระดับโลก นำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเร่งการพัฒนา การผลิต และการเข้าถึงการทดลอง การรักษา และวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมของประเทศทั่วโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า จากเอกสารฉบับหนึ่งที่แสดงรายละเอียดเป้าหมายของโครงการ ACT-A ไปจนถึงเดือนกันยายนปีหน้า ระบุว่า โครงการต้องการส่งชุดตรวจโควิด-19 ประมาณ 1 พันล้านชุดให้กับประเทศที่ยากจนกว่า และจัดหายาเพื่อรักษาสู่ผู้ป่วยจำนวน 120 ล้านคน โดยโครงการคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 200 ล้านรายทั่วโลก ในอีก 12 เดือนข้างหน้า

แม้ในเอกสารจะไม่ได้ระบุว่ายารักษาโควิด-19 ดังกล่าว คือ โมลนูพิราเวียร์ ที่ทดลองและผลิตโดยบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค (Merck & Co) แต่สำนักข่าวรอยเตอร์สคาดว่า โมลนูพิราเวียร์เป็นหนึ่งในยาที่โครงการ ACT-A เตรียมวางแผนซื้อ เนื่องจากโครงการกำลังเจรจาซื้อขายกับบริษัทเมอร์คอยู่ในขณะนี้

ในเอกสารระบุว่า โครงการ ACT-A คาดหวังที่จะซื้อยารักษาโควิด-19 ในราคา 10 ดอลลาร์ หรือประมาณ 330 บาทต่อหนึ่งคอร์ส ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับราคาที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตกลงซื้อโมลนูพิราเวียร์จากบริษัทเมอร์ค ล็อตแรกจำนวน 1.7 ล้านคอร์ส ในราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือประมาณ 23,000 บาท โดยยาโมลนูพิราเวียร์ 1 คอร์ส สำหรับผู้ป่วย 1 คน ประกอบด้วยยาขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ด ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4 เม็ด ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน

บริษัทเมอร์คเคยกล่าวว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะให้การเข้าถึงยาได้ทันท่วงทีทั่วโลก โดยมีแผนการกำหนดราคายาตามระดับความสามารถในการจ่ายของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประเมินว่า ต้นทุนการผลิตโมลนูพิราเวียร์ หากผลิตโดยผู้ผลิตยาทั่วไป อาจมีราคาอยู่ที่ประมาณ 20 ดอลลาร์  หรือประมาณ 670 บาท และราคาอาจจะลดลงได้มากที่สุดอยู่ที่ 260 บาท ภายใต้การผลิตที่มีประสิทธิภาพที่สุด

แผนการในเอกสารดังกล่าวยังเน้นว่า องค์การอนามัยโลกต้องการอุดหนุนยาและชุดตรวจในราคาที่ค่อนข้างต่ำ หลังจากพ่ายแพ้การแข่งขันจัดหาวัคซีนให้กับประเทศร่ำรวยที่รวบเสบียงวัคซีนในโลกไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศยากจนอื่นๆ แทบเข้าไม่ถึงวัคซีนโควิด-19

โฆษกของโครงการ ACT-A กล่าวว่า เอกสารฉบับดังกล่าวซึ่งลงวันที่ 13 ต.ค.64 ยังคงเป็นเพียงฉบับร่างภายใต้การปรึกษาหารือ และปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาก่อนที่รายละเอียดต่างๆ จะออกมาอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม เอกสารฉบับนี้จะถูกส่งไปให้ผู้นำระดับโลกก่อนการประชุมสุดยอด G20 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในปลายเดือนนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการ ACT-A ขอเงินทุนเพิ่มเติมจากประเทศ G20 และผู้บริจาครายอื่นๆ จำนวน 22.8 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.6 ล้านล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการไปจนถึงเดือนกันยายน ปีพ.ศ.2565 สำหรับการซื้อและแจกจ่ายวัคซีน ยา และชุดตรวจโควิดไปยังประเทศที่ยากจนกว่า เพื่อลดช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน ขณะนี้ผู้บริจาคได้ให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงิน 18.5 พันล้านดอลลาร์ให้กับโครงการแล้ว


ที่มา:

https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/exclusive-who-led-programme-aims-buy-antiviral-covid-19-pills-10-document-2021-10-19/

https://www.who.int/initiatives/act-accelerator/about

https://www.nytimes.com/2021/10/01/business/merck-covid-pill-molnupiravir.html