ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน นปช. แนะรัฐบาลรับฟังประชาชน-ผู้ประกอบการ ทบทวนการเยียวยาใหม่ ฟื้น ศก. - เสนอฝ่ายค้านซักฟอก "อย่ามวยล้มต้มคนดู" เน้นสร้างแรงกระเพื่อมปลุกประชาชนไล่รัฐบาล

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. กล่าวในรายการพีซทอล์ค หัวข้อ เมืองท่องเที่ยวร้าง เยียวยาเหลว อยู่ไปทำไม ? โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด 19 ในรอบที่ 2 นั้นกระทบมากกว่ารอบแรกทวีคูณ ในรอบแรกพอจะมีเงินติดตัวกันอยู่บ้าง แต่ในรอบที่ 2 นั้นแทบไม่ทันตั้งหลัก 

ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งที่ จ.ภูเก็ต และเกาะสมุย จ.เชียงใหม่ และอีกหลายๆ แห่ง มีการอธิบายชัดเจนว่า คนไทยทยอยมาใช้บริการ กำลังที่จะลุกขึ้นยืนได้แม้จะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม แต่ทันทีที่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด 19 รอบที่ 2 นั้นพังพินาศย่อยยับ หลายโรงเเรมขึ้นป้ายปิดกิจการ บางแห่งขายกิจการ ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ท้ายที่สุดก็อยู่ในมือของนายทุนต่างชาติ  

ยกตัวอย่างถนนข้าวสาร สภาพปัจจุบันเหมือนกับป่าช้า เงียบสงัด เหมือนถนนร้าง ไร้คนเดิน ดังนั้นควรจะปรับให้เป็นถนนท่องเที่ยวของคนไทย โดย กทม. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรวมถึงส่วนงานต่างๆ และผู้ประกอบการจะต้องร่วมกันออกแบบใหม่

อย่างน้อยที่สุดคนจะได้ช่วยคนไทยในยามที่สถานการณ์ของประเทศเป็นเช่นนี้ กฎกติกาบางอย่างที่ผู้ประกอบการไปร้องกับนายกรัฐมนตรีให้ขยายเวลานั่งกินได้ จากเดิมกำหนดไว้ 3 ทุ่ม และขอขยายเพิ่มอีก 2 ชม. เหล่านี้มองว่า เรามาสร้างบรรยากาศร่วมกันใหม่จะดีกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุดรักษาชีวิตประชาชนกันไว้ก่อน 

ดังนั้นมาตรการถัดจากนี้ไป เมื่อรัฐบาลผ่อนปรนให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นของเทศบาลทั้งประเทศ ในวันที่ 28 มี.ค. ก็แปลความกันว่า บ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติแล้ว และเชื่อว่าทุกคนต่างก็มีความระมัดระวังกันอยู่แล้ว แต่ความบกพร่องหลักจะมาลงกับคนสุจริตถึงขั้นทำมาหากินไม่ได้ เพราะที่มาของการเเพร่ระบาดโควิด 19 ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามาจากบ่อนการพนัน มาจากลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้ามา เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับการดูแลของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นหากไม่สามารถฟื้นเมืองท่องเที่ยวที่ร้างอยู่ในขณะนี้ให้กลับมาสู่สถานการณ์ครึ่งหนึ่งของปกติ หรือ 30% ก็จะเกิดปัญหาใหญ่  

ขณะเดียวกันเรื่องการเยียวยาที่ล่าสุด จะต้องทบทวน จ่ายเยียวยาเป็นเงินสดให้ประชาชน เพื่อสร้างความสะดวกเกี่ยวกับการยังชีพ ขอเตือนไปยังรัฐบาลว่า ความหายนะของแต่ละรัฐบาลไม่เคยพังด้วยเรื่องใหญ่ๆ และหากยังดึงดันก็เสมือนหาเรื่องฆ่าตัวตายเสียเอง  


แนะลาออก

จตุพรกล่าวด้วยว่า เมื่อทุกอย่างล้มเหลวตามลำดับ คำถามคือจะอยู่ต่อไปทำอะไร ความเป็นรัฐบาลหากแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนไม่ได้ ก็สิ้นสภาพความเป็นรัฐบาล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครตำแหน่งอะไร แต่ ขึ้นอยู่กับว่าใครทำอะไร บางคนทำหน้าที่ได้เล็กกว่าตำแหน่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด หากมาเป็นผู้ปกครองประเทศนี้แล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ “คุณควรออกไปเสีย” ถ้าไม่ออก ประชาชนก็จะต้องลุกขึ้นมาขับไล่ และเชื่อว่าอีกไม่นาน  


ใช้เวทีอภิปรายปลุกประชาชน

ส่วนเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านที่จะมีการยื่นอภิปราย 11 รัฐมนตรี จะเกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่นั้น มองว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นการพูดความจริงกับประชาชน ทั้งฝ่ายค้านที่มีหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหา และฝ่ายรัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจง หากพูดถึงเสียงในสภาอย่างไรก็แพ้วันยังค่ำ 

ดังนั้นการอภิปรายขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระ แต่ที่ผ่านมานั้นต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ไม่สามารถล้มรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญนี้ได้ ในสภาคำว่าล้มมวยนั้น คนที่อยู่ในแวดวงนักการเมืองย่อมรู้บางกรณีอธิบายแบบ ค.คนขึงขัง แต่ฝ่ายรัฐบาลเตรียมทุกอย่างมาตอบได้ทุกข้อนั้น ในทางการเมืองคือ ข้อสอบรั่วเล่นละครกัน  

ดังนั้นการอภิปรายคราวนี้ ไม่ควรมีลักษณะเหมือนครั้งที่ผ่านมา เมื่อได้ข้อมูลมาต้องซื่อสัตย์กับข้อมูลนั้นๆ โดยไม่มีลักษณะการล้มมวย โดยมองว่า การอภิปรายครั้งนี้เท่ากับ เป็นการปลุกประชาชนที่อยู่ท่ามกลางความยากลำบาก หากสามารถอภิปรายชี้ให้เห็นว่าในขณะที่ประชาชนคนไทยมีความยากลำบาก รัฐบาลยังทุจริตคอร์รัปชัน ยังลุแก่อำนาจ ก็ทำให้เกิดเเรงกระเพื่อมในหมู่ประชาชน 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจคือการปลุกประชาชนให้ลุกขึ้นมาจัดการรัฐบาล เพราะเสียงของฝ่ายค้านในสภาอย่างไรก็ไม่พอ แต่ต้องอภิปรายจนกระทั่งประชาชนไม่สามารถรับรัฐบาลได้ แต่หากล้มมวยกันอีกรอบเชื่อว่าจะถูกไล่ลงจากเวทีทั้งคู่ 

จตุพร กล่าวทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลยังอยู่แบบนี้ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้าประชาชนทุกฝ่ายจะออกมาเปลี่ยนแปลง หากฝากความหวังไว้กับระบบรัฐสภาไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องถึงมือประชาชนอีกครั้ง และเชื่อว่าประชาชนจะเต็มถนนกันอีกครั้งเพื่อส่งเสียงขับไล่รัฐบาล