ไม่พบผลการค้นหา
โควิด-แรงงานข้ามชาติ โจทย์หินรัฐบาลท่ามกลางวิกฤต คลัสเตอร์พ่นพิษผู้ไร้หลักประกัน

"เคยได้ยินว่าเขาจะมาฉีดวัคซีนให้ แต่ตอนนี้ก็เงียบไปแล้ว" ซอ มิน แรงงานเมียนมาวัย 32 ปี บอกกับวอยซ์ ถึงมิติความเป็นอยู่ในแคมป์คนงานย่านพระราม 3 ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยหลากหลายสัญชาติ รวมกว่า 400 คน

เขาเล่าต่อว่าตอนนี้ถูกจำกัดพื้นที่มากว่า 20 วัน เนื่องจากเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แคมป์ที่เขาอาศัยอยู่มีผู้ติดเชื้อกว่า 100 ราย ซึ่งเขาคือหนึ่งในนั้น

หลังจากรักษาตัวจนพ้นภาวะติดเชื้อ เขายังใช้ชีวิตต่อไปภายในแคมป์คนงาน เนื่องจากภาครัฐได้ปูพรมเฝ้าระวังความเสี่ยง โดยการ 'ล็อกดาวน์แคมป์คนงาน' ไม่ให้เข้า-ออก หลายแห่ง

เป็นหนึ่งคำถามที่พุ่งไปยังรัฐบาล ว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไร เมื่อการนำเข้าวัคซีนเริ่มเดินหน้า แต่ความชัดเจนของนโยบายแรงงานข้ามชาติยังเลือนลางอยู่

"ถ้ารัฐบาลฉีดผมก็อยากให้ฉีดทั้งหมดไม่อยากให้แบ่งแยกว่า คนนี้ไทย คนนี้พม่า คนนี้ลาว" แรงงานผู้พลัดถิ่นบอกสิ่งที่เขาต้องการ

แม้ต่างล้วนมีความเป็น 'คน' แต่ความหวาดกลัวของ 'คนเมือง' กำลังวาดภาพกลุ่ม 'แรงงานข้ามชาติ' ผู้อาศัยใต้ชายคาหนาทึบของสังกะสี เป็น 'ผู้ร้าย' แพร่โควิด-19 ผ่านจินตนาการของชาติและชนชั้น

หากถอดสลักของปัญหาที่เคลือบไว้ด้วยมายาคติทางเชื้อชาติ คำถามคือหากไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพา 'แรงงานข้ามชาติ' สิทธิด้านสุขภาพจะแพร่ระบาด เหมือนไวรัสได้อย่างไร


อัตราขยายตัว-เข้าไม่ถึงสิทธิ

สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 ในประเทศไทย ระลอกเดือน เม.ย. 2564 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติยังรุนแรง เมื่อตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 28 พ.ค.

จากข้อมูลกรมควบคุมโรคพบผู้ป่วยจาก 3 สัญชาติ กัมพูชา, ลาว และเมียนมา ทะลุสูงถึง 12,049 ราย โดยแบ่งเป็น

  • เมียนมา 9,050 ราย
  • กัมพูชา 1,810 ราย
  • ลาว 1,189 ราย 

ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา แม้ภาครัฐพยายามออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทว่ายอดผู้ป่วยยังเป็นอีกโจทย์หินสำหรับทางการไทย เนื่องด้วยการลุกลามของคลัสเตอร์ตามจุดต่างๆ ยังคงกระจายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 

อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าสนใจคือแรงงานข้ามชาติถูกเลิกจ้างล็อตใหญ่ โดยบางส่วนไม่ได้รับค่าชดเชยและการเยียวยาจากภาครัฐ ตกอยู่ในสภาพถูกทิ้งจากระบบ นำไปสู่การตกหล่นทางด้านสุขภาพ ไม่มีสิทธิเข้าถึงการรักษา จึงง่ายต่อการเข้าสู่วงจรเสี่ยงโรคระบาด

193732282_1126554217756286_3794819888755239602_n.jpg
  • ยอดสะสมแรงงานข้ามชาติติดเชื้อ

ประกอบกับยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศ (ระลอกเดือนเมษายน) ยังพุ่งสูงทะลุกว่า 2,000 รายต่อวัน และสังเวยชีวิตไม่ต่ำกว่า 20-30 รายมาหลายสัปดาห์ โดยในระยะหลังแคมป์คนงานก่อสร้าง เป็นจุดโฟกัสใหญ่ที่ถูกมองว่ากำเนิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ เนื่องจากอยู่ในสถานที่แออัด และวิถีชีวิตยากต่อการปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุข 

จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน แคมป์คนงานเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวน 129,542 คน จากแคมป์จำนวน 841 แห่ง เป็นแรงงานไทย 53,550 คน แรงงานข้ามชาติ 75,992 คน โดยมีคลัสเตอร์ใหญ่ระบาด อาทิ แคมป์คนงานหลักสี่ , แคมป์ก่อสร้างย่านห้วยขวาง 

สอดรับกับพื้นที่คลัสเตอร์ตลาดสด โดยในเขต กทม.ได้ประกาศปิดตลาดอย่างน้อย 15 แห่ง อาทิ ตลาดคลองเตย, ตลาดสดหนองจอก, ตลาดบางกะปิ, ตลาดยิ่งเจริญ, ตลาดปากคลองตลาด พร้อมระดมตรวจคัดกรองเชิงรุก โดยตลาดที่มีการขึ้นทะเบียนกับกทม.มีจำนวน 486 ตลาด

เช่นเดียวกับพื้นที่ปริมณทลและต่างจังหวัด สถานการณ์ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคลัสเตอร์ จ.สมุทรปราการ ในพื้นที่ตลาดสำโรง ซึ่งมีพบผู้ติดเชื้อ ทั้งชาวไทย เมียนมา กัมพูชา และ ลาว

ฟาก จ.ปทุมธานี มีคำสั่งปิดสถานที่ อาทิ ตลาดสี่มุมเมือง, ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดปทุมธานี, แคมป์คนงานก่อสร้าง หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่อง 

ด้าน จ.เพชรบุรี คลัสเตอร์โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยังพบผู้ป่วยสูงโดยมีชาวไทย เมียนมา กัมพูชา อินเดีย และจีน กระจายในอีก 11 จังหวัด 


ชำแหละนโยบายแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด

ภาคประชาสังคมส่งเสียงสะท้อน ต่อทิศทางการหาทางออกฝ่าวิกฤตจากโรคระบาด ผ่านมุมมองด้านสิทธิมุษยชน และข้อมูลที่ไม่ใช่กระบอกเสียงของภาครัฐ

โดยเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) เปิดเวทีพูดคุยคลับเฮ้าส์ในหัวข้อ "ทำไมแรงงานข้ามชาติติดโควิดเยอะ" ปัญหาและทางออกที่รัฐไทยควรเร่งดำเนินการ 

มีตัวแทนนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานข้ามชาติ ประกอบไปด้วย อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ, โรยทราย วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ, คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 


จินตนาการของคนใน 'เครื่องแบบ'

โรยทราย วงศ์สุบรรณ เล่าย้อนไปถึงกรณีคลัสเตอร์ตลาดอาหารทะเลที่ จ.สมุทรสาคร ว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่พักอาศัยร่วมกัน ในลักษณะผลัดกันนอน ทำงานกะเช้า กะกลางคืน ทำให้ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ ขณะเดียวกันหากเกิดอาการเจ็บป่วย กลุ่มแรงงานบางคนก็ไม่กล้าที่จะไปบอกหัวหน้างาน ทำให้บางกรณีล่าช้ากลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ในที่สุด

แรงงานข้ามชาติ ต่างด้าว 259E6484-BB8D-43F7-B810-D5EA52EDCCEE.jpeg
  • ฝ่ายความมั่นคงจับกุมแรงงานลักลอบเข้าเมือง

อีกสาเหตุคือเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีการเลิกจ้างรอบใหญ่ แรงงานต่างชาติจำนวนหนึ่งได้กลับสู่ภมูิลำเนาขณะที่บางส่วนยังอยู่ในไทย ซึ่งลูกจ้างหลายรายไม่ทราบว่าถูกนายจ้างนำรายชื่อออกจากระบบ ทำให้ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ และโรยทรายชี้ว่าท่าทีของรัฐบาลชุดนี้มีลักษณะแนวคิดของคนในเครื่องแบบ จึงทำให้หมกหมุ่นกับคำว่าผิดกฎหมายต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น 


"เวลาเราใช้ภาษาไทยคำว่า เข้าเมืองผิดกฎหมาย เรามักจะจินตนาการว่าหมายถึงคนที่ลักลอบข้ามชายแดนเข้ามา แต่ในความเป็นจริง คนที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่คือคนที่อยู่ในเมือง แต่เป็นเพราะใบอนุญาตทำงานหมดอายุตามกฎหมาย"


แม้ว่ารัฐบาลจะเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็สื่อสารออกมาว่าจะปราบปรามกลุ่มแรงงานที่ลักลอบเข้ามา เพราะเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยส่งหน่วยงานเข้าไปจับกุมและตรวจสอบ ทำให้แรงงานหลายคนแม้จะเข้าเมืองถูกกฎหมาย แต่เมื่อเห็นคนใส่เครื่องแบบเจ้าหน้าที่รัฐก็เกิดความหวาดกลัว 

ด้วยเหตุผลที่ว่า "ประเทศไทยมีปัญหาคอร์รัปชัน เรื่องแรงงานข้ามชาติมาโดยตลอด" และมันเคยเกิดเหตุการณ์ประท้วงโดยผู้ใช้แรงงานเขียนเป็นป้ายข้อความว่า "แรงงานพม่าไม่ใช่ตู้เอทีเอ็ม"

นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานที่ติดเชื้อถูกทอดทิ้ง ทำให้แรงงานรู้สึกว่าถ้าตรวจแล้วติด เขาก็ไม่มีที่รักษา ซึ่งประเด็นนี้อยากให้เทียบกับคนต่างชาติ ชาติอื่นที่รัฐรักษาฟรี แต่ในขณะที่แรงงานข้ามชาติยังถูกโรงพยาบาลมาเรียกเก็บเงินค่ารักษาอีก แม้รัฐบาลจะให้การรักษาฟรี

โรยทราย ยังมีข้อเสนอต่อนายจ้างให้ยกระดับความปลอดภัยด้านสาธารณสุข โดยผู้ประกอบการไม่ควรคำนึงเฉพาะผลกำไร ต้องคำนึงความเป็นอยุ่อาศัยของลูกจ้าง เพื่อป้องกันเหตุการณ์แพร่เชื้อระลอกใหม่ หากไม่แก้ไขสุดท้ายก็จะวนลูปอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีก


ท่าทีไร้ทิศทาง-โจทย์ไม่มีคำตอบ

อดิศร เกิดมงคล กล่าวถึงนโยบายการดำเนินการของรัฐไทยต่อแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นในวิกฤตโควิด ว่า ปัจจุบันเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีจำนวนแรงงานข้ามชาติอยู่ราว 1.1 ล้านคน

ขณะเดียวกันตัวเลขที่น่าสนใจคือ เดือน ส.ค. 2563 การเข้าถึงประกันสุขภาพของแรงงานเหล่านี้ทั่วประเทศ ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม 1.7 ล้านคน แต่พบว่ามีเพียง 1.05 ล้านคน หายไปจากระบบเกือบ 700,000 คน และอาจมีแรงงานที่ไม่มีหลักประกันประมาณ 34 % ของแรงงานที่มีอยู่

ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร โควิด -D861-49BF-913C-08C7615E2C07.jpeg
  • แรงงานข้ามชาติตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร

"เพราะฉะนั้นโจทย์หนึ่งของการจัดการของรัฐ แทนที่จะเข้าไปจัดการให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม เท่ากับว่าปัจจุบันเราอาจจะมีแรงงานข้ามชาติที่อยู่นอกระบบ จากการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐ เกือบ 1 ล้านคน"

อดิสรเชื่อว่าหากรัฐยังดำเนินการเช่นนี้ การแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานอาจรุนแรงกว่ากรณีที่ผ่านมา โดยรัฐไทยก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะหาทางออกจากสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร   


ปัญหาหลักพื้นฐาน 4 อ.

ทั้งนี้ อดิสรยังพบว่าแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ป่วย และอาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด ประสบปัญหาหลักพื้นฐานที่เรียกว่า 4 อ. นั่นคือ

1.ไม่มีอาหารเพียงพอในช่วงกักตัว

2.ไม่มีที่พักอาศัยเนื่องจากขาดรายได้

3.ไม่มีอาชีพหรืองานที่จะพอทำให้เกิดรายได้ช่วงกักตัวหรือรักษาตัว

4.ไม่ได้รับการรักษา เมื่อมีอาการป่วย อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลการสื่อสาร และปัญหาเรื่องการถูกตีตราว่าเป็นสาเหตุของการระบาดที่พบมากขึ้นในช่วงหลัง


เยียวยาเสมอหน้า-หยุดขบวนการลักลอบ

คอรีเยาะ มานุแช บอกเล่าถึงปัจจัยด้านกฎหมายต่อการแพร่ระบาดโควิดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ว่า รัฐไทยมักจะใช้นโยบายที่เคร่งครัดกลายเป็นบ่อเกิดแห่งความหวาดกลัว ทำให้แรงงานเหล่านี้ปกปิดซ่อนเร้นข้อมูล รวมถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนและรัฐบาล ที่ประโคมข่าวราวกับว่าแรงงานข้ามชาติเป็นจุดกำเนิดและแพร่เชื้อ

อีกประเด็นคือปัญหาการเข้าถึงระบบลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติควรทำให้ง่ายขึ้น เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการและแรงงาน เพราะค่าใช้จ่ายที่สูง อาจเป็นสาเหตุในการผลักแรงงานออกจากระบบ


"นโยบายของรัฐที่ไม่เอื้อให้คนถูกกฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ขบวนการลักลอบแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศ"


ในส่วนการเยียวยากลุ่มแรงงาน นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่ายังเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจนว่ากลุ่มที่ติดโควิดหน่วยงานใดจะช่วยเหลือเยียวยา แม้ว่ารัฐบาลมีการออกมาตรการ อาทิ ม.33 'เรารักกัน' กลับพบว่า "มันไม่ได้รักทุกคน รักแต่คนที่เป็นสัญชาติไทยเท่านั้น" 

แรงงานข้ามชาติ สมุทรสาคร โควิด
  • เจ้าหน้าที่ลงพิื้นที่ตรวจโควิดแรงงานข้ามชาติ

"การเยียวยาแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะยิ่งถูกยืดเวลาออกไปเท่าไหร่ นั่นแปลว่าคุณกำลังโยนภาระให้กับแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นทั้งผู้ประกอบการและรัฐ ต้องเร่งเยียวยาให้เร็วที่สุด เพื่อให้แรงงานเข้าถึงกลไกการเยียวยาอย่าง เสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ หรือสถานะบุคคล" 


สิทธิมาช้า-หรือเราคือหนูทดลอง

ทั้งนี้ในช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 'แจ็ค' ล่ามชาวเมียนมา ผู้ทำงานด้านภาษามูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้ตั้งคำถามถึงการช่วยเหลือและความเชื่อมั่นต่อการฉีดวัคซีน

โดย 'แจ็ค' เล่าอุปสรรคของการทำงานประสานหน่วยงานรัฐ ว่า ในฐานะเป็นล่ามที่ประสานกับหน่วยงานต่างๆ พบว่าแม้กระทั่งติดต่อสายด่วน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ให้เดินทางมารับแรงงานก็ยังไม่มีใครมารับผู้ป่วย ตามคำร้องขอของเขา

"สิทธิมาช้าเหลือเกิน ผมได้ยินเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบอกว่า ถ้าจะเข้าไป รพ.สนาม ต้องมีการรักษาเบื้องต้นก่อน แล้วจะรักษาอย่างไร เพราะไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ออกมาบอกอย่างจริงจังเลย"

อย่างไรก็ดีหลังจากเกิดการแพร่ระบาดระลอกสาม กลุ่มแรงงานตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายของรัฐไทย กรณีฉีดวัคซีนให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มแรงงานรวมตัวกันออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ก็ไม่เคยได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายดังกล่าว

"ทำไมทุกครั้งไม่มีหน่วยงานราชการมาสนใจเลย พี่น้องแรงงานคุยกันว่าเอาวัคซีนมาให้เป็นหนูทดลองหรือเปล่า ซึ่งเป็นอีกมุมมองของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ผมสอบถามมา เพราะขนาดช่วงไม่มีโควิด ยังเข้าไม่ถึงการรักษาเลย ได้แต่ยาพารากลับมา แล้วอยู่ดีๆ มีโควิด รัฐบาลบอกว่าจะฉีดให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศ หลายคนจึงมีความกังวลเนื่องจากมีข่าวเรื่องคนฉีดแล้วมีอาการปากเบี้ยวหรือมีอาการแทรกซ้อนต่างๆ" แจ็ค ทิ้งท้าย

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog