ไม่พบผลการค้นหา
สัญญาณดีของซิโนแวค ? หลังผลการศึกฉีดวัคซีนในกลุ่มชุมชนชาวบราซิล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอินโดนีเซีย พบว่ามีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรค

บลูมเบิร์กรายงานว่า อินโดนีเซียประเทศซึ่งใช้วัคซีนซิโนแวคของจีน ฉีดแจกจ่ายแก่เจ้าหน้าแนวหน้าด้านสาธารณสุขในจำนวนมาก กำลังพบสัญญาณที่ดีซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพของวัคซีน หลังจากที่วัคซีนชนิดดังกล่าวจากจีนกลายเป็นที่ถกเถียงเชิงวิชาการในวงกว้างในแง่ประสิทธิภาพเชิงเทคนิก เนื่องจากหลายผลการทดลองจากตะวันตกที่ชี้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำ ทว่าจากการเปิดเผยของ บูดี กูนาดี ซาคิดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ที่ระบุว่า จากการติดตามผลการรับวัคซีนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งเข้ารับวัคซีนของซิโนแวคครบทั้งสองโดส จำนวน 25,374 คนในกรุงจาการ์ตาเป็นเวลา 28 วัน พบว่า สามารถป้องกันการติดเชื้ออาการหนักได้ราว 96% อินโดฯ ยังอ้างว่าวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากโควิดได้ถึง 100% โดยรายงานผลนี้มีขึ้นหลังประเทศเริ่มแจกจ่ายวัคซีนชนิดดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา

ซาคิดินเผยอีกว่า 94% ของบรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีผลลัพธ์ของวัคซีน ที่ดีกว่าผลลัพธ์จากการทดลองทางคลินิกในก่อนหน้านี้ โดยมีอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิดที่ลดลงอย่างมากในหมู่บุคลากรการแพทย์ แต่อย่างไรก็ดี รายงานข่าวไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า วัคซีนซิโนแวคที่ได้ผลตามการเปิดเผยของรมว.สาธารณสุขอินโดนีเซียนั้นเป็นชนิดสายพันธุ์ใด โดยปัจจุบันอินโดนีเซียยังไม่ได้พบการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิดชนิดกลายพันธุ์

วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค.jpg

ด้านของโฆษกของบริษัทยาผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวค ในปักกิ่ง ยังไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับผลการศึกษาตามที่รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซียกล่าวอ้าง จนกว่าบริษัทจะได้รับข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม

สำหรับซิโนแวค องค์การอนามัยโลกคาดว่าเตรียมพิจารณาว่าจะอนุมัติใช้หรือไม่เร็วๆนี้ โดยอนามัยโลกเพิ่งอนุมัติซิโนฟาร์ม วันซีนของจีนอีกราย เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ หยิน เว่ยตง (Yin Weidong) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซิโนแวค เผยในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า กรณีประสิทธิภาพจากการทดลองทางคลินิกในแต่ละแห่งที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นมาจากปัจจัยอื่นหลายประเทศ ทั้งยังกล่าวว่าขณะนีมีหลักฐานชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าซิโนแวคทำงานได้ดีเมื่อถูกนำไปใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง

ที่ผ่านมาวัคซีนซิโนแวค ประสบข้อถกเถียงเรื่องความคลุมเครือและประสิทธิภาพที่แท้จริงจากการทดสอบทางคลินิกในระยะที่สาม โดยการทดสอบในบราซิลนั้นพบว่าประสิทธิภาพคาบเส้นเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่ 50.7% แตกต่างกับตุรกีที่ระบุว่า ประสิทธิภาพสูงสุด 84% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 100% ส่วนชิลีมีประสิทธิภาพ 67% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 85% 


ผลศึกษาบราซิล เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 

นอกจากอินโดนีเซียแล้ว มีผลการศึกษาที่บราซิลที่เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ Science News และ The Wall Street Journal ซึ่งระบุถึงความสำเร็จของการใช้วัคซีนซิโนแวคในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของบราซิลโดย ซึ่งมีประชากรราว 45,000 ราย โดยพบว่า เกือบ 100% ของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคจนครบสองโดส มีอาการป่วยหนักและยอดการเสียชีวิตที่ลดลง 

รายงานระบุว่า เมืองแซร์รานา (Serrana) ในรัฐเซาเปาโล เข้าร่วมโครงการทดลองฉีดวัคซีนจำนวนมากในหมู่ประชากรที่เรียกว่า โครงการ Projeto S ซึ่งวัดประสิทธิภาพการใช้งานจริงของวัคซีนซิโนแวค รวมถึงเพื่อตรวจสอบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ ได้ดีเพียงใด

เมืองแห่งมีองค์ประกอบอันสมบูรณ์สำหรับการทดลองวัคซีน เนื่องด้วยจำนวนประชากรที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป โดยจาก ประชากรราว 45,000 คน จำนวนนี้ มีวัยผู้ใหญ่ถึง 30,000 คน อีกทั้งตัวเมืองยังอยู่ไม่ไกลกับศูนย์วิจัยด้านสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยเซาเปาโล วิทยาเขตริเบเราเปรโต เมืองแห่งนี้พบการแพร่กระจายของไวรัสในระดับชุมชนอย่างรุนแรงช่วงต้นปี 2020 โดยจากการศึกษาช่วงกรกฎาคมปีที่ผ่านมา พบว่าประชากรราว 5% ของเมืองติดเชื้อไวรัส หรือคิดเป็นอัตราผู้ติดเชื้อ 1 ต่อ 20 คนซึ่งเป็นอัตราติดเชื้อสูงมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมของสถาบันวิจัยบูตันตัน (Instituto Butantan) ซึ่งทำหน้าทดลองทางคลินิกต่อวัคซีนซิโนแวค ได้เปิดตัวโครงการนี้เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวเมือง โดยทีมวิจัยตั้งเป้าให้ชาวเมืองที่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป เข้ารับวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 80% 

"บราซิลมีธรรมเนียมการเกี่ยวกับวัคซีนมายาวนาน ดังนั้นเรารู้ว่าเป้าหมาย 80% อยู่ใกล้แค่เอื้อม" ทีมวิจัยระบุ

11 เมษายน ชาวเมืองแซร์รานาวัยผู้ใหญ่ 27,722 คนได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก กระทั้งปลายเดือนเดียวกันชาวเมือง 27,160 จากกว่า 45,000 รับครบทั้งสองโดส ซึ่งหมายความว่า 95.7% ของผู้ใหญ่ในเมืองได้รับวัคซีนครบถ้วน

วอลสตรีทเจอนัลตั้งข้อสังเกตว่า ชาวเมืองแห่งนี้เกือบทุกคนเห็นด้วยกับการฉีดวัคซีน ตรงข้ามกับผลสำรวจทั่วประเทศของบราซิลที่ชี้ว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกว่าครึ่งหนึ่งกังขาและปฏิเสธการรับวัคซีนใดๆ จากจีน

แม้ก่อนหน้านี้ รายงานผลการทดลองวัคซีนซิโนแวคในบราซิลซึ่งเป็นการทดลองทางคลินิกระยะสาม กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 12,600 คนในเซาเปาโลนั้นจะมีประสิทธิภาพคาบเส้นราว 50.7% เท่านั้น แต่บราซิลระบุว่า วัคซีนให้ผลป้องกันที่ดีเยี่ยมจากความเสี่ยงการเสียชีวิตด้วยอาการป่วยรุนแรง โดยจากการทดลองทางคลินกในนครเซาเปาโลพบว่า มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 9 คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวนนี้ 6 รายไม่ได้รับการฉีดวัคซีน มี 1 รายได้รับ CoronaVac เพียงครั้งเดียวและ 2 รายได้รับครบสองเข็ม และมี 1 รายที่เสียชีวิตโดยไม่ได้วัคซีนเลย

เว็บไซต์ Science News ชี้ว่า การทดลองทางคลินิกก็เรื่องนึง แต่ประสิทธิภาพในโลกแห่งความเป็นจริงก็อีกเรื่องนึง ตัวอย่างเช่น การมีเพื่อนบ้านหลายๆ คนในชุมชนเดียวกัน ที่ได้รับวัคซีนแบบรวมหมู่อาจสร้างความแตกต่างที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนให้ทวีคูณขึ้น ดังเช่นผลการทดสอบในเมืองแซร์รานา

อย่างไรก็ตาม เออร์เนสโต มาร์เกส (Ernesto Marques) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ของสหรัฐฯ อธิบายกับ Science News ว่า สิ่งที่แตกต่างระหว่างวัคซีนที่ประสิทธิภาพ 90% อย่างของไฟเซอร์และโมเดอร์นา กับวัคซีนที่ประสิทธิภาพราว 50% ของซิโนแวค คือ กรณีที่วัคซีนมีประสิทธิภาพ 90% นั้น ต้องมีประชากรเข้าถึงวัคซีนอย่างน้อย 80 - 85% ของประชากรทั้งหมด จึงเพียงพอสำหรับภูมิคุ้มกันหมู่ ส่วนวัคซีนประสิทธิภาพ 50% จะต้องฉีดกลุ่มประชากรทุกคน จึงจะเพียงพอสำหรับการควบคุมโรค

มาร์เกสเชื่อว่า กรณีของเมืองแซร์รานานั้น เนื่องจากชาวเมืองวัยผู้ใหญ่ล้วนได้รับวัคซีน ผลลัพธ์โดยรวมของซิโนแวค ซึ่งแม้ว่าประสิทธิภาพจะต่ำกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ แต่กลับให้ประสิทธิภาพสูงเมื่อประชากรทุกคนเข้าถึงวัคซีน กรณีการศึกของแซร์รานาจึงมีนำหนักอย่างมากต่อชาติอื่นๆ ที่กำลังใช้วัคซีนชนิดเดียวกันนี้อย่างตุรกี และอินโดนีเซีย

สื่อท้องถิ่นรายงานว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงจาก 28 คน ในวันที่ 20 มีนาคมเป็น 7 คน ในเดือนต่อมาที่เริ่มฉีดวัคซีน ลดลงถึง 75% เมื่อเริ่มฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม ผลการทดลองของเมืองยังชี้ว่าซิโนแวค ยังให้ประสิทธิภาพที่ดีต่อไวรัสสายพันธุ์ P.1 ที่กำลังระบาดหนักในภูมิภาคละตินอเมริกา

รายงานของหน่วยงานด้านสาธารณสุขรัฐเซาเปาโลชี้ว่า ระหว่างการทดลองโครงการตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายนผู้ที่ได้รับวัคซีน 6 ราย เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด จำนวนนี้ 5 คนเพิ่งรับเพียงเข็มแรก และอีกรายป่วยติดเชื้อเพียงไม่กี่วันหลังรับครบสองเข็ม 

ทั้งนี้ โครงการ Projeto S จะยังคงติดตามชาวเมืองแซร์รานาต่อไปอีกเป็นเวลาหนึ่งปี เพื่อหาคำตอบว่าวัคซีนจะยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อได้นานเพียงใด ซึ่งจะถือเป็นข้อมูลสำคัญของชาวบราซิลเอง และพลเมืองชาติอื่นๆ ทั่วโลก