ไม่พบผลการค้นหา
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเอกสารกมธ.ติดตามการใช้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ พบว่า การเบิกจ่ายยังต่ำ เงินเหลือเยอะ โดยเฉพาะแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรเร่งระงับโครงการที่ล้มเหลว

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย เสนอแนะรัฐบาลว่าควรจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาโควิด-เศรษฐกิจโดยเร่งด่วน

“ชัดเจนแล้วว่าสถานการณ์โควิดรอบที่ 3 ทำให้สงกรานต์ปีนี้ไม่คึกคัก ประชาชนยกเลิกแผนการเดินทางและท่องเที่ยว เศรษฐกิจที่ซบเซาจะลากยาวต่อไป ซึ่งนั่นหมายถึงเงินในกระเป๋าของประชาชนกำลังหายไป”

“มาตรการของรัฐบาลมีผลโดยตรงต่อความซบเซาของเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับเยียวยาประชาชนเฉพาะหน้าและหาวิธีการให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างปกติที่สุด”

ยังเหลือ 3.4 แสนล้าน งบกลางเหลืออื้อ ใช้เยียวยา-หาวัคซีนเพิ่ม

เมื่อถามว่าเราจะเอางบประมาณมาจากไหนมาเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ศิริกัญญา เสนอว่ารัฐบาลมีหน้าตักอีกกว่า 3.4 แสนล้านบาท โดยมาจากงบกลาง 1.2 แสนล้านบาท และเงินค้างท่อ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านอีก 2.2 แสนล้านบาทที่ยังไม่อนุมัติ

“ถ้ายังจำกันได้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 มีการตั้งงบกลางที่สูงมาก เป็น ‘เช็คเปล่า’ ให้รัฐบาลถึง 1.4 แสนล้าน เป็นรายการสำรองจ่ายสำรองฉุกเฉินประมาณ 1 แสนล้าน และงบกลางที่ตั้งเพื่อแก้ปัญหาโควิดโดยเฉพาะประมาณ 4 หมื่นล้านเศษ”

“จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาแล้วกว่า 7 เดือน โควิดผ่านมาแล้ว 3 ระลอก รัฐบาลอนุมัติงบกลางไปเพียง 20,629 ล้านบาทหรือประมาณ 15% ส่วนใหญ่เพื่อจัดหาวัคซีน 61 ล้านโด๊ส และควบคุมการระบาดเมื่อต้นปี เราจึงยังมีงบกลางเหลืออีก 1.2 แสนล้าน สำหรับเยียวยาประชาชนและการจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่นเพิ่มเติมได้”

พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน เหลือ 2.2 แสนล้าน แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเบิกจ่ายน้อย

ในส่วนงบ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น มีการอนุมัติไปแล้ว 750,000 ล้านบาท ถ้าไม่รวมงบแผนงานสาธารณสุข รัฐบาลยังมีช่องว่างงบประมาณให้โยกได้สำหรับการเยียวยาประชาชนประมาณ 2.2 แสนล้านบาท

“งบประมาณที่อนุมัติไปแล้วอาจดูเหมือนเยอะ แต่ส่วนที่เบิกจ่ายได้ดีจริงๆ มีเพียงแผนงานเยียวยาประชาชนซึ่งเต็มวงเงินแล้ว ที่น่าเป็นห่วงคืออีก 2 แผนงาน นอกจากการอนุมัติน้อยกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว การเบิกจ่ายยังทำได้ไม่ดีนัก”

“นั่นคือ แผนงานสาธารณสุข 45,000 ล้าน อนุมัติไปเพียง 20,497 ล้านบาท และเบิกจ่ายได้เพียง 5,064 ล้าน หรือคิดเป็นประมาณ 10% โครงการใหญ่ๆ ได้แก่ ค่าตอบแทนอสม. 2,500 ล้าน และสมทบค่าใช้จ่ายให้โครงการบัตรทอง 3,000 ล้าน”

“ส่วนแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 355,000 ล้าน มีการอนุมัติเพียง 1.3 แสนล้าน และเบิกจ่ายจริงเพียง 6.3 หมื่นล้าน โครงการที่มีการเบิกจ่ายได้ดีจริงๆ มีเพียงโครงการคนละครึ่ง วงเงิน 2 เฟสรวมกันราว 5 หมื่นล้าน”

“ถ้าเราเจาะลงไปดูรายละเอียด จะเห็นโครงการที่ไม่สมเหตุสมผลจำนวนมากและมีผลการเบิกจ่ายล้มเหลว แผนงานพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น วงเงินรวมกว่า 3 หมื่นล้าน เบิกจ่ายรวมเพียง 2 พันล้าน คิดเป็นไม่ถึง 10%”

 ตัวอย่างบางโครงการ

> โครงการเกษตรแปลงใหญ่ งบประมาณ 13,905 ล้านบาท อนุมัติตั้งแต่ ก.ย. 63 จนถึงปัจจุบัน เบิกจ่ายเพียง 120,000 บาท

> โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย งบประมาณ 10,630 ล้าน เบิกจ่ายเพียง 1,134 ล้านบาท

> โครงการโคก หนอง นา 2 โครงการ 8,439 ล้านบาท เบิกจ่ายเพียง 715 ล้านบาท จำนวนมากเป็นการนำไปทำโครงการศูนย์การเรียนรู้ในค่ายทหาร 157 แห่ง

“การจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลตอนนี้ ควรระงับโครงการที่เห็นแล้วว่าล้มเหลวในการฟื้นฟู/กระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วนำมาเยียวยาประชาชนปากท้องของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากการระบาดระลอก 3 ก่อน”

“สถานการณ์ตอนนี้ว่ามืดมนแล้ว เมื่อดูรายละเอียดการใช้งบประมาณยิ่งหมดหวัง ดิฉันคิดว่าปัญหาจริงๆ ของประเทศในตอนนี้ไม่ใช่เราไม่มีงบประมาณ ปัญหาคือรัฐบาลไม่มีความสามารถในการจัดการงบประมาณเพื่อพาประชาชนผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้” ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้าย